วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดอกมณฑาตก (๔)


เพราะฉะนั้น  ขอท่านทั้งหลาย  จงสามัคคีปรองดองกันเถิด  ขอทุกท่านจงมีส่วนได้พระบรมสารีริกธาตุ  ที่เคารพบูชาอันสูง  จงแพร่หลายออกไปยังพระนครต่าง ๆ  เพื่อเป็นที่สักการะ  เคารพ  บูชา  ของมหาชนทั้งปวงเถิด"

เมื่อกษัตริย์ทั้งปวง  ได้สดับคำของโทณพราหมณ์อันชอบด้วยธรรม  อันสอดคล้องต้องกันกับรัฐประศาสโนบายเช่นนั้น  ก็ได้สติ  ดำริเห็นสอดคล้องต้องตามคำของโทณพราหมณ์  เลื่อมใสในถ้อยคำนั้นแล้วพร้อมกันตรัสว่า  "ชอบแล้ว  ท่านอาจารย์  ขอท่านอาจารย์จงแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุออกเป็นส่วน ๆ ให้เป็นส่วน ๆ  ให้เป็นของควรแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายจะพึงอัญเชิญไปสักการบูชาตามปรารถนาเถิด"

เมื่อโทณพราหมณ์ได้สดับคำยินยอมพร้อมเพรียง   ของกษัตริย์ทั้งปวงเช่นนั้น  ก็ให้เปิดประตูเมืองกุสินารา  อัญเชิญกษัตริย์ทั้งปวงเข้ามาในภายในแล้ว  ให้อัญเชิญไปประชุมพร้อมกันยังพระโรงราชสัณฐาคารที่ประดิษฐานพระบรมสารีิกธาตุ  แล้วให้เปิดพระหีบทองน้อย  ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุให้กษัตริย์ทั้งปวง  พร้อมกันถวายอภิวาท  สมตามมโนรถ

ขณะนั้น  พระบรมสารีรกธาตุ  อันทรงพรรณพิลาศงามโอภาสด้วยรัศมีซึ่งปรากฏอยู่ในพระหีบทอง เฉพาะพระพักตร์  ได้เตือนพระทัยกษัตริย์ทั้งปวง  ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผูมีพระภาค
กษัตริย์ทั้งปวงจึงได้ทรงกันแสงปริเทวนาการต่าง ๆ   ครั้งนั้นโทณพราหมณ์เห็นกษัตริย์ทั้งหลายมัวแต่โศกศัลย์รันทดอยู่เช่นนั้น  จึงหยิบพระทักษิณทาฐธาตุ  คือพระเขี้ยวแก้วข้างขวา  เบื้องบน  ขึ้นซ่อนไว้ในมวยผม  แล้วจัดการตักตวงพระบรมสารีริกธาตุด้วยทะนานทอง  ถวายกษัตริย์ทั้ง ๘  พระนคร  ซึ่งประทับอยู่  ณ  ที่นั้น  ได้พระนครละ  ๒  ทะนานเท่า ๆ  กันพอดี  รวมพระบรมธาตุเป็น  ๑๖  ทะนานด้วยกัน


............................



วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดอกมณฑาตก (๓)


ครั้งนั้น  พระเจ้าอชาตสัตตุราช  ผู้ครองนครราชคฤห์   พระเจ้าลิจฉวีแห่งพระนครไพศาลี  พระเจ้ามหานามแห่งกบิลพัสดุ์นคร  พระฐลิยราชแห่งเมืองอัลลกัปปนคร  พระเจ้าโกลิยราชแห่งเมืองรามคาม  พระเจ้ามัลลราชแห่งเมืองปาวานคร  และ  มหาพราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกนคร  รวม ๗ นครด้วยกัน  ล้วนมีความเลื่อมใส  และความเคารพนับถือมั่นในพระพุทธศาสนา  ครั้นได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระบรมศาสดา  มีความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก  จึงได้แต่งราชทูตส่งไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ  ณ  เมืองกุสินารา  เพื่อจะได้สร้างพระสถูปบรรจุไว้ที่สักการบูชาเป็นสิริมงคลแก่พระนครของพระองค์สืบไป

ครั้นส่งราชทูตไปแล้ว  ก็ยังเกรงไปว่า  กษัตริย์มัลลราชแห่งกุสินารานั้น  จะขัดขืนไม่ยอมดังปรารถนา จึงให้จัดโยธาแสนยากรเป็นกองทัพ  พร้อมด้วยจาตุรงคโยธาเสนาหาญครบถ้วยนด้วยศัสตราวุธเต็มกระบวนศึก  เดินทัพติดตามราชทูตไป  ด้วยทรงตั้งพระทัยว่า  หากกษัตริย์มัลลราชแห่งนครกุสินาราขัดขืน  ไม่ยอมให้ด้วยไมตรี  ก็จะยกพลเข้าโหมหักบีบบังคับเอาพระบรมธาตุด้วยกำลังทหาร

เมื่อกษัตริย์ทั้งหลาย  มีพระเจ้าอชาตสัตตุราช  เป็นอาทิ  ต่างยกจาตุรงคเสนาโยธาหาญมาถึงชานเมืองกุสินารา  โดยลำดับ  ครั้นทราบข่าวจากราชทูตว่า  มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา  ไม่ยอมให้พระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดาดังประสงค์  ก็ไม่พอพระทัย  ต่างก็ยกทัพเข้าประชิดกำแพงพระนคร  จัดตั้งพลับพลาและตั้งค่ายเรียงรายพระนครกุสินารา  รวม ๗ ทัพด้วยกัน  แล้วให้ทหารร้องประกาศเข้าไปในเมืองว่า  ให้มัลลกษัตริย์เร่งบันส่วนพระบรมสารีรกธาตุให้โดยดี  แม้มิให้  ก็จงออกมาชิงชัยยุทธนาการกัน

ฝ่ายมัลลกษัตริย์ในเมืองกุสินารานั้น  เห็นกองทัพยกมาผิดรูปการณ์เป็นไมตรีเช่นนั้น  ก็ตกใจ  สั่งให้ทหารประจำที่  รักษาหน้าที่เชิงเทินปราการรอบพระนครให้มั่นคง  เมื่อได้ยินทหารร้องประกาศเข้ามาดังานั้นก็ให้ทหารบนเชิงเทินร้องตอบไปว่า  "พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาปรินิพพานในพระนครของเรา  ความจริงเราก็มิได้ไปทูอัญเชิญให้เสด็จ  และเราก็มิได้ส่งข่าวสารไปเชิญทูลเสด็จ  พระองค์เสด็มาเอง  แล้วส่งพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก  ให้มาบอกให้เราไปสู่สำนักพระองค์  แม้เพียงดวงแก้วอันมีค่าเกิดในเขตแคว้นแดนเมืองของท่าน  ท่านก็มิได้ให้แก่เรา  ก็แล้วแก้วอันใดเล่าจะประเสริฐเสมอด้วยแก้คือ  พระพุทธรัตนะ  และก็เมื่อเราได้ซึ่งปฐมอุดมรัตนะเช่นนี้แล้ว  ที่จะให้แก่ท่านทั้งปวงอย่าพึงหวังเลย  ใช่ว่าจะดื่มน้ำนมมารดา  เป็นบุรุษเหมือนกัน  จะขยาดเกรงกลัวท่านเมื่อไรมี"  กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายต่างทำอหังการแก่กันและกัน  ด้วยขัตติยมานะคุกคามท้าทายด้วยถ้อยคำมีประการต่าง ๆ  ใกล้จะทำสงครามสัมประหารซึ่งกันและกันอยู่แล้ว

ในกาลนั้น  โทณพราหมณ์  ผู้เป็นบัณฑิต เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์สอนไตรเพทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย  พิจารณาเห็นเหตุอันพึงจะมี  ในสิ่งซึ่งมิใช่เหตุอันควรสัมประหารซึ่งกันและกัน  จึงดำริว่า  เราควรจะระงับเสียซึ่งการวิวาทของกษัตริย์ทั้งปวง  และชี้ให้เห็นประโยชน์แห่งความสามัคคีเถิด  ครั้นโทณพราหมณ์ดำริเช่นนั้นแล้ว  จึงขึ้นยืนอยู่บนที่สูงปรากฏร่างแก่กษัตริย์ทั้งหลาย  พร้อมกับกล่าววาจาห้ามว่า  "ข้าแต่ท่านทั้งหลาย  ขอทุกท่านจงสงบใจฟังคำของข้าพเจ้า  ซึ่งเป็นคำที่ท่านทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามโดยส่วนเดียวเถิด"

ครั้นโทณพราหมณ์  เห็นกษัตริย์ทั้งหลายตั้งใจสดับฟังถ้อยคำของตนเช่นนี้แล้ว  จึงกล่าวต่อไปว่า  "ข้าแต่ท่านผู้จอมแห่งประชาราษฏร์ทั้งหลาย  แท้จริงทุก ๆ  ท่านก็มิใช่สักการะ  เคารพ  บูชา  พระผู้มีพระภาคเจ้า  โดยฐานที่พระองค์เป็นกษัตริย์ที่สูงโดยชาติ  และโคตร หรือสูงโดยเกียรติ  ยศ  ศํกดิ์และทรัพย์สมบัติแต่ประการใดเลย  ปรากฏว่า  เราทั้งหลายสักการะ  เคารพบูชา  พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยธรรม  ด้วยความเชื่อถือในธรรม  ที่พระองค์ทรงประทานไว้ทั่วกัน

ก็ธรรมทั้งหลาย  ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้นั้น  ทรงสรรเสริญขันติ  ความอดทน  อหิงสา  ความไม่เบียดเบียนและสามัคคี  ความพร้อมเพรียงกัน  อันเป็นธรรมทรงคุณค่าอันสูง  ควรที่คนทั้งหลายจะพึงปฏิบัติทั่วกัน  เมื่อเป็นดังนั้นแล้วเหตุอันใดเล่า  เราควรจะพึงวิวาทกัน  ข้อนั้น  ไม่เป็นการสมควรเลย


..............................













วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดอกมณฑาตก (๒)


ครั้นพระมหากัสสปะกับพระสงฆ์บริวาร  ๕๐๐  และมหาชนทั้งหลายกราบนมัสการพระบรมยุคลบาทโดยควรแล้ว  พระบาททั้งสองก็ถอยถดหดหายจากหัตถ์พระมหากัสสปะ  นิวัตนาการคืนเข้าพระหีบดังเก่า  ทุกสิ่งทุกอย่างได้ตั้งอยู่เป็นปกติ  มิได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวจากที่แต่ประการใด  เป็นมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่อีกวาระหนึ่ง  ขณะนั้น  เสียงโศกาปริเทวนาการของมวลเทพยดาและมนุษย์  ซึ่งได้หยุดสร่างสะอื้นแล้วแต่ต้นวัน  ก็ได้พลันดังสนั่นขึ้นอีก  เสมอด้วยวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ขณะนั้น  เตโชธาตุ  ก็บันดาลติดพระจิตกาธานขึ้นเองด้วยอานุภาพเทพยดา  เพลิงได้ลุกพวยพุ่งโชตนาเผาพระพุทธสรีระศพ  พร้อมคู่ผ้า  ๕๐๐  ชั้น  กับหีบทองและจิตกาธานหมดสิ้น  ยังมีสิ่งซึ่งเพลิงมิได้เผาให้ย่อยยับไปด้วยอานุภาพพุทธอธิษฐาน  ดังนี้

๑.  ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระชั้นใน ๑ ผืน
๒.  ผ้าหุ้มภายนอก  ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระ ๑ ผืน  กับทั้ง
๓.  พระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔
๔.  พระรากขวัญทั้ง ๒
๕.  พระอุณหิส ๑  รวมพระบรมธาตุ ๗ องค์นี้  ยังคงปกติอยู่ดี  มิได้แตกกระจัดกระจาย  และพระบรมสรีรธาตุทั้งหลาย  นอกนั้นแตกฉานกระจัดกระจายทั้งสิ้น  มีสัณฐานต่างกันเป็น ๓ ขนาด  คือ
         
๑.  ขนาดโต  มีประมาณเท่าเมล็ดถั่วแตก
๒.  ขนาดกลาง  มีประมาณเท่าเมล็ดข้าวสารหัก
๓.  ขนาดเล็ก  มีประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด

แท้จริง  โดยปกติพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงมีพระชนมายุยืนยาวไม่แตกทำลาย  คงอยู่เป็นแท่ง  แต่พระบรมศาสดาทั้งหลายทรงดำริว่า  "ตถาคตจะมีชนมายุน้อย  ประกาศพระศาสนาอยู่ไม่นาน ก็จะปรินิพพาน  พระศาสนาจะไม่แผ่ไพศาลไปนานาประเทศ  เหตุดังนี้  จึงขออธิษฐานว่า  เมื่อตถาคตปรินิพพานเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว  พระธาตุทั้งหลายจงแตกกระจากออกเป็น ๓ สัณฐาน  มหาชนจะได้เชิญไปนมัสการ  ทำสักการบูชาในนานาประเทศที่อยู่ของตน ๆ  จะเป็นทางให้เข้าถึงกุศล  อันอำนวยผลให้บังเกิดในสุคติภพต่อไป

ครั้นเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว  ท่ออุทกธารแห่งน้ำทิพย์ก็ตกลงจากอากาศ  ดับเพลิงให้อันตรธาน  มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย  ก็มีความชื่นบานได้อัญเชิญมาซึ่งถาดทอง  อันเต็มไปด้วยสุคนธวารี  มาโสรจสรงลงที่พระจิตกาธาน  แล้วก็เก็บพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายใส่ในพระหีบทองน้อย  กับให้ตกแต่งซึ่งพระราชสัณฐานในท่ามกลางพระนคร  ให้งามวิจิตรตระการด้วยสรรพาภรณ์  ควรเป็นที่สถิตประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่คารวะอันสูง  แล้วอัญเชิญพระหีบทองพระบรมสารีริกธาตุขึ้นเหนือคชาธารช้างพระที่นั่ง อันตกแต่งด้วยเครื่องอลังการ  อันมีเกียรติสูง  ทำการสักการบูชาด้วยธูปเทียนสุคนธมาลาบุปผชาติ  แล้วแห่เข้าสู่ภายในพระนคร  อันเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ เบื้องบนรัตนบัลลังก์  ภายใต้เศวตฉัตร  ณ  พระโรงราชสัณฐาคารนั้น

มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย  พากันกริ่งเกรงว่า  อรินทรราชทั้งหลายจักยกแสนยากรมาช่วงชิงพระบรมสารีริกธาตุ  จึงให้จัดตั้งจาตุรงคเสนาโยธาหาญพร้อมสรรพด้วยศัสตราวุธ  ป้องกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุ  ทั้งภายในและภายนอกพระนครอย่างมั่นคง  แล้วให้จัดการสมโภชบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยเครื่องดุริยางค์ดนตรี  ฟ้อนรำ  ขับร้อง  ทั้งกีฬานักกษัตรนานาประการ  เป็นมโหฬารยิ่งนัก  ตลอดกาลถึง ๗ วัน


................................

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดอกมณฑาตก (๑)....................


เวลานั้น  พระมหากัสสปะเถระเจ้า  พาพระภิกษุสงฆ์  ๕๐๐  เดินทางจากเมืองปาวา  ไปเมืองกุสินารา  เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  แต่ขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงวัน  แสงแดดกล้า  พระเถระเจ้าจึงพาพระภิกษุสงฆ์เข้าหยุดพักร่มไม้ริมทางด้วยดำริว่า  ต่อเพลาตะวันเย็นจึงจะเดินทางต่อไป

ครั้นพระเถระเจ้าพักพอหายเหนื่อย  ก็เห็นอาชีวกผู้หนึ่ง  เดินถือดอกมณฑากั้นศีรษะมาตามทาง  ก็นึกฉงนใจ  ด้วยดอกมณฑานี้  หามีในมนุษย์โลกไม่  เป็นของทิพย์ในสุราลัยเทวโลก  จะตกลงมาเฉพาะในเวลาอันสำคัญ ๆ  คือ  เวลาพระบรมโพธิสัตว์เสด็ลงสู่พระครรภ์  เวลาประสูติ  เวลาเสด็จออกสู่มหาวิเนษกรมณ์  เวลาพระสัมพุทธเจ้าตรัสรู้  เวลาแสดงธรรมจักร  เวลาทำยมกปาฏิหาริย์  เวลาเสด็จลงจากเทวโลก  เวลาปลงอายุสังขาร  และเวลาพระสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เท่านั้น  ไฉนกาลบัดนี้  จึงเกิดมีดอกมณฑาอีกเล่า  ทำให้ปริวิตกถึงพระบรมศาสดา  หรือพระบรมศาสดาจักเสด็จปรินิพพานแล้ว  นึกสงสัยจึงได้ลุกขึ้นเดินเข้าไปใกล้อาชีวกผู้นั้น  แล้วถามว่า  "ดูกร  อาชีวก  ท่านมาแต่ที่ใด"

"เมืองกุสินารา  พระผู้เป็นเจ้า"

"ท่านยังได้ทราบข่าวคราวพระบรมครูของเราบ้างหรือ  อาชีวก"  พระเถระเจ้าถามสืบไป

"พระสมณโคดม  ครูของท่านนิพพานเสียแล้ว  ได้ ๗ วัน  ถึงวันนี้"  อาชีวกกล่าว  "ดอกมณฑานี้  เราก็ได้มาแต่เมืองกุสินารา  เนื่องในการนิพพานของพระมหาสมณโคดมพระองค์นั้น"

เมื่อภิกษุทั้งหลายที่เป็นปุถุชน  ได้ฟังถ้อยคำของอาชีวกบอกเช่นนั้นก็ตกใจ  มีหฤทัยหวั่นไหวด้วยกำลังแห่งโทมนัส  เศร้าโศก  ปริเทวนาการร่ำให้ถึงพระบรมศาสดา  ฝ่ายพระสงฆ์ที่เป็นพระขีณาสพก็เกิดความสังเวชสลดจิต

เวลานั้น  มีภิกษุรูปหนึ่ง  บวชเมื่อภายแก่ ชื่อ  สุภัททะ  เป็นวุฑฒบรรพชิต  มีจิตดื้อด้าน  ด้วยสันดานพาลชน  เป็นอลัชชีมืดมน  ย่อหย่อนในธรรมวินัย  ลุกขึ้นกล่าวห้ามภิกษุว่า  "ท่านทั้งปวง  อย่าร้องไห้ร่ำไรไปเลย  บัดนี้  เราพ้นอำนาจพระมหาสมณะแล้ว  เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ย่อมจู้จี้ เบียดเบียน บังคับบัญชาห้ามปรามเราต่าง ๆ  นานา  ว่าสิ่งนี้ควร  สิ่งนี้ไม่ควร  บัดนี้  พระองค์ปรินิพพานแล้ว  เราปรารถนาจะทำสิ่งใด  ก็จะทำได้ตามใจชอบ  ไม่มีใครบังคับบัญชาห้ามปรามแล้ว"

พระมหากัสสปะเถระเจ้า  ได้ฟังของพระสุภัททะ  กล่าวคำจ้วงจาบพระบรมศาสดาเช่นนั้น  ก็สลดใจยิ่งขึ้น  ดำริว่า  "ดูเถิด  พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานไปเพียง  ๗  วันเท่านั้น  ก็ยังเกิดมีอลัชชี มิจฉาจิต คิดลามก เป็นได้ถึงเช่นนี้  ต่อไปเบื้องหน้า  จะหาผู้คารวะในพระธรรมวินัยไม่ได้  หากไม่คิดหาอุบายแก้ไข ป้องกัน ให้ทันท่วงทีเสียแต่แรก  เราจะพยายามทำสังคยานา  ยกพระธรรมวินัยขึ้นไว้เป็นที่เคารพ  แทนองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้จงได้"  พระเถระเจ้าทำไว้ในใจเช่นนั้นแล้ว  ก็กล่าวธรรมกถา  เล้าโลมภิกษุทั้งหลายให้ระงับดับความโศกแล้ว  รีบพาพระสงฆ์บริวารเดินทางไปยังนครกุสินารา  ตรงไปยังมกุฏพันธนเจดีย์

ครั้นถึงยังพระจิตกาธาน  ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระศพพระบรมศาสดาแล้ว  ก็ทำจีวรเฉวียงบ่า  ประคองอัญชลี  กระทำประทักษิณเวียนพระจิตกาธานสามรอบแล้ว  เข้าสู่ทิศเบื้องพระยุคลบาท  น้อมถวายอภิวาทและตั้งอธิษฐานจิตว่า  "ขอให้พระบรมบาททั้งคู่ของสมเด็จพระบรมครู  ผู้ทรงพระเมตตา  เสด็จไปประทานอุปสมบทแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีนามว่ากัสสปะ  ณ  ร่มไม้พหุปุตตนิโครธ  ทั้งยังทรงพระมหากรุณาโปรดพระประทานมหาบังสุกุลจีวรส่วนพระองค์  ให้ข้าพระองค์ได้ร่วมพระพุทธบริโภคโดยเฉพาะ  จงออกจากหีบทองรับอภิวาทแห่งข้าพระพุทธเจ้ากัสสปะ  ซึ่งตั้งใจมาน้อมถวายคารวะ  ณ  กาลบัดนี้เถิด"

ขณะนั้น  พระบรมบาททั้งคู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ได้แสดงอาการประหนึ่งว่าพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่  ได้ทำลายคู่ผ้าทุกุลพัสตร์ที่ห่อหุ้มอยู่ทั้ง  ๕๐๐  ชั้น  กับทั้งพระหีบทองออกมาปรากฏในภายนอก  ในลำดับแห่งคำอธิษฐานของพระมหากัสสปะเถระเจ้า  ดุจดวงอาทิตย์ที่แลบออกมาจากกลีบเมฆฉะนั้น  พุทธบริษัททั้งปวงเห็นเป็นอัศจรรย์พร้อมกัน

ทันใดนั้น  พระมหากัสสปะเถระ  ก็ยกมือขึ้นประคองรองรับพระยุคบาทของพระบรมศาสดาขึ้นชูเชิดทูนไว้บนศีรษะ  แล้วก็กราบทูลว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ข้าพระองค์มิได้อยู่ปฏิบัติพระองค์  ไปอยู่เสียในเสนาสนะป่าอรัญญิกาวาส  แม้พระองค์จะทรงพระกรุณาประทานโอกาสว่า  "กัสสปะชราแล้ว  ทรงบังุสุกุลจีวรเนื้อหนา  พาลจะหนัก  จะทรงคหบดีจีวรอันทายกถวายบ้าง  ก็ตามอัธยาศัย  จะอยู่ในสำนักตถาคต  แม้จะทรงมหากรุณาถึงเพียงนี้  กัสสปะก็มิได้อนุวัตรตามพระมหากรุณา  ได้ประมาทพลาดพลั้งถึงดังนี้  ขอภควันตมุนีได้ทรงพระกรุณาโปรดอดโทษานุโทษแก่ข้าพระองค์  อันมีนามว่ากัสสปะ  ณ  กาลบัดนี้"



............................

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ถวายพระเพลิงแต่เพลิงไม่ติด


ครั้นเรียบร้อยแล้ว  ก็อัญเชิญหีบทองนั้นขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธาน  ทำการสักการะบูชา  แล้ว
กษัตริย์มัลลราชทั้ง  ๘  องค์  ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวง  ก็นำเอาเพลิงจุดเพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แต่พระเพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์  แม้จะพยายามจุดเท่าใดก็ไม่บรรลุผล มัลลกษัตริย์มีความสงสัย  จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธะเถระเจ้าว่า

"ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ  ด้วยเหตุอันใใด  เพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น"

"เป็นเหตุด้วยเทวดาทั้งหลาย  ยังไม่พอใจให้ถวายพระเพลิงก่อน"

พระอนุรุทธะเถระกล่าว  "เทวดาต้องการให้คอยท่านพระมหากัสสปะเถระ  หากพระมหากัสสปะเถระยังไม่ถึงตราบใด  ไฟจะไม่ติดตราบนั้น"

"ก็พระมหากัสสปะเถระเจ้า  ขณะนี้อยู่ที่ไหนเล่า  ท่านผู้เจริญ"

"ดูก่อนพระมหาบพิตร  ขณะนี้  พระมหากัสสปะเถระ  กำลังเดินทางมาใกล้จะถึงอยู่แล้ว"  พระเถระกล่าว

กษัตริย์มัลลราชทั้งหลาย  ก็อนุวัตรตามความความประสงค์ของเทวดา  พักคอยท่าพระมหากัสสปะเถระเจ้าอยู่



..............................

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นางมัลลิกาถวายเครื่องมหาลดาประสาธน์


ขณะนั้น  นางมัลลิกา ผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดี  ซึ่งมีนิเวศน์อยู่ในนครนั้น  ครั้นได้ทราบว่า ขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพ  จะผ่านมาทางนั้น  นางก็มีความยินดี  ที่จะได้อัญชลีอภิวาทเป็นครั้งสุดท้าย  นางจึงดำริด้วยความเลื่อมใสว่า  "นับตั้งแต่ท่านพันธุละล่วงลับไปแล้ว  เครื่องประดับอันมีชื่อว่า มหาลดาประสาธน์  เราก็มิได้ตกแต่ง  คงเก็บรักษาไว้เป็นอันดี  ควรจะถวายเป็นอาภรณ์ประดับพระพุทธสรีระพระชินศรีในอวสานกาลบัดนี้เถิด"

อันเครื่องอาภรณ์มหาลดาประสาธน์นี้  งามวิจิตร  มีค่ามากถึง  ๙๐  ล้าน  เพราะประกอบด้วยรัตน ๗ ประการ  ในสมัยนั้นมีอยู่เพียง  ๓  เครื่อง  คือ  ของนางวิสาขา ๑   ของนางมัลลิกา ภรรยาของท่านพันธุละ ๑   ของเศรษฐีธิดา  ภรรยาท่านเทวทานิยสาระ ๑   ซึ่งเป็นอาภรณ์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นของสำหรับผู้มีบุญ

ครั้นเมื่อขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพ  ผ่านมาถึงหน้าบ้านนางมัลลิกา  นางจึงได้ขอร้องแสดงความประสงค์บูชาด้วยอาภรณ์มหาลดาประสาธน์  มหาชนผู้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพ  ก็วางเตียงมาลาอาสน์ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระลง  ให้นางมัลลิกาถวายอภิวาท  เชิญเครื่องมหาลดาประสาธน์มาสวมพระพุทธสรีระศพ  เป็นเครื่องบูชา  ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาสเป็นที่เจริญตาเจริญใจ  ปรากฏแก่มหาชนทั้งหลาย  ต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการเป็นอันมาก  แล้วมหาชนก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้น  ออกจากประตูเมืองบูรพาทิศ  ไปสู่มกุฏพันธนเจดีย์

ครั้นถึงยังที่จิตกาธาน  อันสำเร็จด้วยไม้จันทน์หอม  งามวิจิตรซึ่งได้จัดทำไว้  ก็จัดการห่อพระพุทธสรีระศพด้วยทุกุลพัสตร์ภูษา  ๕๐๐  ชั้น   แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานในหีบทองซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมันหอมตามคำพระอานนท์เถระแจ้งสิ้นทุกประการ


...................................

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระสรีระศพไม่เคลื่อนจากที่


ครั้นวันที่ ๗  มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ปรึกษาพร้อมใจกัน  ในการจะอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ไปโดยทิศทักษิณแห่งพระนคร  เพื่อถวายพระเพลิงยังภายนอกพระนคร  เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว  ก็เตรียมอัญเชิญพระสรีระศพ  แต่ก้ไม่สามารถจะอัญเชิญไปได้  แม้แต่จะขยับเขยิ้อนให้เคลื่อนจากสถานที่สักน้อยหนึ่ง  มัลลกษัตริย์พากันตกตะลึงในเหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยประเสบเช่นนั้น  จึงได้พร้อมกันไปเรียนถามท่านพระอนุรุทธะเถระเจ้า  ซึ่งเป็นประธานสงฆ์อยู่  ณ  ที่นั้นว่า  "ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ  ด้วยเหตุไฉนข้าพเจ้าทั้งหลาย  จึงจะสามารถเขยิ้อนเคลื่อนพระสรีระศพพระผู้มีพระภาคเจ้าจากสถานที่ประดิษฐานนั้นได้เล่า  พระคุณเจ้า"

"เพราะพระองค์ทำไม่ต้องประสงค์ของเทวดา"  พระอนุรุทธะเถระกล่าว  "เทวดาจึงไม่ยอมให้พระพุทธสรีระเขยื้อนจากที่"

"เทวดาทั้งหลายมีความประสงค์เป็นฉันใดเล่า  ท่านพระอนุรุทธะผู้เจริญ"

"เทวดาทุกองค์  มีความประสงค์ให้อัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าพระนครก่อน  โดยเข้าทางประตูทิศอุดร  เชิญไปในท่ามกลางพระนคร  แล้วออกจากพระนคร  โดยทางประตูทิศบูรพา  แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานถวายพระเพลิงที่มกุฏพันธนเจดีย์  ด้านทิศตะวันออก  แห่งกุสินารานคร  เทวดามีความประสงค์ดังนี้  เมื่อพระองค์ทำขัดกับความประสงค์ของเทวดา  จึงไม่สำเร็จ"

ครั้นมัลลกษัตริย์ได้ทราบเถราธิบายเช่นนั้น  ก็ทรงผ่อนผันอนุวัตร  ให้เป็นไปตามประสงค์ของเทวดา จัดการอัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาค  เขยื้อนเคลื่อนจากสถานที่นั้นไปอย่างง่ายดาย  แล้วก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพขึ้นประดิษฐานบนเตียงมาลาอาสน์  ซึ่งตกแต่งด้วยอาภรณ์อันวิจิตร  แล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปโดยทางอุดรทิศ  เข้าไปภายในแห่งพระนคร  ประชาชนพากันสโมสรเข้าขบวนแห่ตามพระสรีระศพสุดประมาณ  เสียงดุริยางค์ดนตรีแซ่ประสานกับเสียงมหาชนดังสนั่นลั่นโกลาหลเป็นมหัศจรรย์  ทั้งดอกมณฑาอันเป็นของทิพย์ในสรวงสวรรค์  ก็ร่วงหล่นลงมาสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า  ขบวนมหาชนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพ  ได้ผ่านไปในวิถีทางท่ามกลางพระนครกุสินารา  ประชาชนทุกถ้วนหน้า  พากันสักการบูชาทั่วทุกสถาน  ตลอดทางที่พระพุทธสรีระศพจะแห่ผ่านไปตามลำดับ


.....................................

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิพพาน


เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระโอวาทประทาน  เป็นวาระสุดท้ายเพียงเท่านี้แล้ว  ก็หยุด  มิได้ตรัสอะไรอีกเลย  ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙  โดยอนุโลมเป็นลำดับดังนี้คือ

          ทรงเข้าปฐมฌาาน                                      ออกจากปฐมฌานแล้ว

          ทรงเข้าทุติยฌาน                                        ออกจากทุติยฌานแล้ว

          ทรงเข้าตติยฌาน                                        ออกจากตติยฌานแล้ว

          ทรงเข้าจตุตถฌาน                                      ออกจากจตุตถฌานแล้ว

          ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ                       ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว

          ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ                         ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว

          ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ                          ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว

          ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ               ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว

          ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติที่ ๙

สัญญาเวทยิตนิโรธนี้  มีอาการสงบที่สุด  ถึงดับสัญญาและเวทนา  ไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ  แม้ลมหายใจเข้าออกก็หยุดสงบยิ่งกว่านอนหลับ  ผู้ไม่คุ้นเคยกับสมาบัตินี้  อาจคิดเห็นไปว่าตายแล้ว  ดังนั้น  พระอานนท์เถระเจ้าผู้นั่งเฝ้าดูพระอาการอยู่ตลอดทุกระยะ  ได้เกิดวิตกจิตคิดว่า  พระบรมศาสดาคงจะเสด็จนิพพานแล้ว  จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธะเถระเจ้า  ผู้เชี่ยวชาญในสมาบัตินี้ว่า  "ข้าแต่ท่านอนุรุทธะ  พระบรมศาสดาเสด็จนิพพานแล้วหรือยัง ?"

"ยัง  ท่านอานนท์  ขณะนี้พระบรมศาสดา  กำลังเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ"  พระอนุรุทธะบอก

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า  เสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติตามเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดแล้ว  ก็เสด็จออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ  เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ  ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ  ถอยออกจากสมาบัตินั้น  โดยปฏิโลมเป็นลำดับ  จนถึงปฐมฌาน

ต่อจากนั้น  ก็ออกจากปฐมฌาน  แล้วทรงเข้าทุติยฌาน   อีกวาระหนึ่ง  ออกจากทุิตยฌานแล้ว  ทรงเข้าตติยฌาน  ออกจากติตยฌานแล้ว  ทรงเข้าจจุตถฌาน

เมื่อออกจาจตุตถฌานแล้ว  ก็เสด็จปรินิพพาน  ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปุรณมี  เพ็ญเดือน ๖  มหามงคลสมัย  ด้วยประการฉะนี้

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว  ก็บังเกิดมหัสจรรย์แผ่นดินไหว  กลองทิพย์ก็บันลือลั่น  กึกก้องสัททสำเนียงเสียงสนั่นในอากาศเป็นมหาโกลาหล  ในปัจฉิมกาล  พร้อมกับขณะเวลาปรินิพพานของสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้เป็นนาถะของโลก

ขณะนั้น  ท้าวสหัมบดีพรหม  ท้าวโกสีย์สักกเทวราช  พระอนุรุทธะเถระเจ้า  และพระอานนท์เถระเจ้า  ได้กล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณ ของพระสัมพุทธเจ้า  แสดงความไม่เที่ยงถาวรของสัตว์สังขารทั่วไป  ด้วยความเลื่อมใสและความสลดใจ  ในการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้เป็นพระบรมศาสดาของมวลเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ขณะนั้น  บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวง  ที่ประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้น  ต่างก็เศร้าโศก  ร่ำไร  รำพัน  ปริเทวนาการ  คร่ำครวญถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก  พระอนุรุทธะเถระเจ้าและพระอานนท์เถระเจ้าได้แสดงธรรมีกถาปลุกปลอบ  บรรเทาจิตบริษัทให้เสื่อมสร่างจากความเศร้าโศก ตามควรแก่วิสัยและควรแก่เวลา

ครั้นสว่างแล้ว  พระอนุรุทธะเถระเจ้าก็มีเถระบัญชาให้พระอานนท์  รีบเข้าไปในเมืองกุสินารา  แจ้งข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย  เมื่อมัลลกษัตริย์ได้สดับข่าวปรินิพพาน  กำสรดโศก  ด้วยความอาลัยในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกำลัง  จึงดำรัสสั่งให้ประกาศข่าวปรินิพพานแก่ชาวเมืองให้ทั่วนครกุสินารา  แล้วนำเครื่องสักการบูชานานาสุคนธชาติ  พร้อมด้วยผ้าขาว ๕๐๐  พับ  เสด็จไปยังสาลวันที่เสด็จปรินิพพาน  ทำสักการบูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า  ด้วยบุบผามาลัยสุคนธชาติเป็นเอนกประการ

มหาชนเป็นอันมาก  แม้จะอยู่ในที่ไกล  เมื่อได้ทราบข่าวปรินพพานของพระผู้มีพระภาค  ต่างก็ถือนานาสุคนธชาติมาสักการบูชามากมายสุดจะคณนา  เวลาค่ำก็ตามชวาลาสว่างไสวทั่วสาลวัน  ประชาชนต่างพากันมาไม่ขาดสายตลอด ๖  วัน  ไม่มีหยุด  พากันรีบรุดมาทำสักการบูชาด้วยความเลื่อมใส  ถวายความเคารพอันสูงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

......................

  

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โปรดให้ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ


พระอานนท์เถระ  ได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  พระฉันนะ  ถือตัวว่า  เป็นข้าเก่า  ติดตามพระองค์คราวเสด็จสู่มหาภิเนษกรมณ์  เป็นผู้ว่ายาก  ไม่รับโอวาทใคร ๆ  แม้จะกรุณาเตือน เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว  จักเป็นผู้ว่ายากยิ่งขึ้น  ด้วยหาผู้ยำเกรงมิได้  ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติแก่ท่านอย่างไร  ในกาลเมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว"

"อานนท์  เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว  สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะเถิด"

"พรหมทัณฑ์  เป็นไฉนเล่าพระเจ้าข้า"

"อานนท์  การลงพรหมทัณฑ์นั้น  คือ  ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว  ไม่พึงโอวาท  ไม่พึงสั่งสอนเลย  ไม่พึงเจรจาคำใด ๆ ด้วย  ทั้งสิ้น  เว้นแต่คำอันเป็นกิจธุระโดยเฉพาะ  อานนท์  เมื่อฉันนะถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แล้ว  จักสำนึกในความผิด  และสำเหนียกในธรรมวินัยเป็นผู้ว่าง่าย  ยอมรับโอวาท  ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล"



ประทานโอวาท

ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  "อานนท์  เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว  หากจะมีภิกษุบางรูปดำริว่า  พระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว  บัดนี้  ศาสดาของเราไม่มี  
อานนท์ ! ท่านทั้งหลายไม่ควรดำริอย่างนั้น  ไม่ควรเห็นอย่างนั้น  แท้จริง  วินัยที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี  ธรรมที่เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายก็ดี  เมื่อเราล่วงไป  ธรรมและวินัยนั้น ๆ  แล  จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย



ปัจฉิมโอวาท

ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลาย  สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย  จงบำเพ็ญไตรสิกขา  คือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"




วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โปรดสุภัททปริพาชก


สมัยนั้น  ปริพาชกผู้หนึ่ง  ชื่อ  สุภัททะ  ชาวเมืองกุสินารา  สุภัททปริพาชกนั้น  ได้ข่าวว่า  พระสมณโคดมจักปรินิพพานในที่สุดแห่งราตรีนี้แล้ว  จึงคิดว่า  "ความสงสัยของเรามีอยู่  ควรจะรีบออกไปเฝ้าทูลถามให้พระองค์ตรัสบอกบรรเทาความในใจของเรานั้นเสีย"  แล้วสุภัททปริพาชก  ก็ออกจากเมืองกุสินารา  เข้าไปพบพระอานนท์ยังอุทยาสสาลวัน  เพื่อขอโอกาสได้เข้าเฝ้า

พระอานนท์เถระเจ้าได้ทัดทานว่า  "อย่าเลย  สุภัททะ  ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเจ้าเลย"  ขณะนั้นพระตถาคตเจ้าก็ทรงลำบากพระกายหนักอยู่แล้ว  แม้สุภัททปริพาชกจะได้วิงวอนแล้ว ๆ  เล่า ๆ  อยู่ถึง ๒ ครั้ง  ๓  ครั้ง  พระอานนท์เถระเจ้าก็ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า

ขณะนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้สดับเสียงพระอานนท์  และสุภัททปริพาชกเจรจากันอยู่  จึงตรัสเรียกพระอานนท์ว่า  "อานนท์  อย่าห้ามสุภัททะเลย  ให้สุภัททะได้เห็นตถาคตเถิด  แม้สุภัททะจะถามปัญหาอันใดกับตถาคตก็จะไม่เบียดเบียนตถาคตให้ลำบาก  สุภัททะจักตรัสรู้ทั่วถึงธรรมในปัญหาทั้งปวงที่ตถาคตได้พยากรณ์แล้ว"

ลำดับนั้น  พระอานนท์จึงบอกปริพาชกว่า  "สุภัททะ  บัดนี้  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงพระกรุณาประทานโอกาสให้แก่ท่านแล้ว  ท่านจงเข้าไปเฝ้าเถิด"

สุภัททปริพาชก  มีความเบิกบานใจ  เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมแล้ว  ได้ทูลถามถึงครูทั้ง ๖  ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิ  มีปูรณกัสสปเป็นต้น  ปฏิญญาว่าเป็นผู้วิเศษ  ได้ตรัสรู้ยิ่งด้วยปัญญานั้น  สมจริงดังคำปฏิญญาหรือไม่ ? "

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  "อย่าเลย  สุภัททะ  เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน  ท่านจงตั้งใจฟัง  แล้วทำไว้ในใจให้สำเร็จประโยชน์เถิด"  แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอริยมรรค ๘ ประการ  ว่าเป็นมรรคาประเสริฐมีอยู่ในธรรมวินัยใดแล้ว  สมณะคือท่านผู้สงบระงับดับกิเลสได้จริง  ย่อมมีอยู่ในธรรมวินันั้น  อนึ่ง  อริยมรรคทั้ง  ๘  นั้น  ก็มีอยู่เฉพาะในธรรมวินัยนี้เท่านั้น  แม้สมณะดังกล่าวแล้ว  ก็มีอยู่แต่ในธรรมวินัยนี้แห่งเดียว  "สุภัททะ  หากภิกษุทั้งหลายจะพึงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ในธรรมนี้แล้วไซร้  โลกนี้ก็จักไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์"

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมนี้  สุภัททะปริพาชกมีความเชื่อเลื่อมใส  ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา  พร้อมกับขอปริฏิญญาตนเป็นอุบาสกและทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค

ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคตรัสให้พระอานนท์รับธุระจัดให้สุภัททะอุบาสกบรรพชาอุปสมบทตามความปรารถนา  เมื่อพระสุภัททได้อุปสมบทแล้ว  หลีกออกไปบำเพ็ญสมณธรรม  ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในราตรีวันนั้น  ได้เป็นพระอรหันต์ปัจฉิมสาวกของพระผู้มีพระภาคทันพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา


..................................

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตรัสเรื่องเมืองกุสินารา


พระอานนท์เถระเจ้าได้กราบทูลว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  เมืองกุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน ไม่ควรเป็นเมืองที่พระองค์จะเสด็จปรินพพาน  ข้าพระองค์ขออาราธนาให้ไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ ๆ  เช่น พระนครราชคฤห์  พระนครสาวัตถี เป็นต้นนั้นเถิด  กษัตริย์  พรหมณ์  และคหบดี  ผู้มหาศาล  จักได้จัดการสักการบูชาพระสรีระเป็นมโหฬาร  ควรแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอัจฉริยมนุษย์บุรุษรัตนดิลกเลิศในโลก"

"อานนท์  เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น"  ทรงรับสั่ง  "อานนท์  เมืองกุสินารานี้แต่ปางก่อนเคยเป็นมหานครราชธานี  มีนามว่า  "กุสาวดี"  เป็นนครใหญ่ไพศาล  พระเจ้ามหาสุทัศน์จักรพรรดิราช  เป็นพระมหากษัตริย์ครอบครอง  เป็นเมืองที่มีผู้คนมาก  ประชาชนสงบสุข  สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สรรพสิ่ง  ซึ่งเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ชีวิตของมนุษย์ทุกประการ  เสียงร้องเรียกหา ค้าขายสัญจรไปมาหาสู่กันไม่หยุดหย่อน  ทั้งกลางวันกลางคืน


โปรดให้แจ้งข่าวปรินิพพาน
แก่พวกมัลลกษัตริย์

ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องเมืองกุสินารา  บรรเทาความข้องใจ  หายความปริวิตกแก่พระอานนท์เถระเจ้าแล้ว  ทรงรับสั่งว่า  "อานนท์จงเข้าไปบอกพวกมัลลกษัตริย์ให้ทราบว่า  "บัดนี้  พระตถาคตเข้าจักปรินิพพาน  ณ  ยามที่สุดแห่งราตรีในวันนี้  อย่าให้มัลลราชทั้งหลายมีความเดือดร้อนในภายหลังว่า  พระตถาคตเจ้า  มาปรินิพพานในคามเขตของเราทั้งหลาย ๆ  สิกลับไปได้เห็นพระองค์ในกาลสุดท้าย"

พระอานนท์ทรงรับพระบัญชาแล้ว  รีบเข้าไปแจ้งความนั้นแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย  ตามพระประสงค์ของพระตถาคตเจ้าทุกประการ

เมื่อมัลลกษัริย์ทั้งหลายได้ทราบแล้ว  ต่างมีความทุกโทมนัสพร้อมด้วยโอรส สุณิสา และปชาบดี กับทั้งอำมาตย์  พร้อมด้วยบุตรและภริยารีบเสด็จออกไปยังสาลวันอุทยาน  เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระอานนท์เถระเจ้าดำริว่า  "ถ้าจะให้มัลลกษัตริย์ทั้งหลายเรียงองค์กันเข้าเฝ้า  ราตรีก็จะสว่างเปล่าไม่สิ้นเสร็จ  จึงได้จัดให้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสกุล ๆ  เป็นคณะ ๆ  แล้วกราบทูลชื่อและวงศ์ตระกูลถวายโดยลำดับ  ให้มัลลกษัตริย์ได้เข้าถวายอภิวาทเสร็จภายในปฐมยามเบื้องต้นแห่งราตรีนั้น 


......................................

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ถูปารหบุคคล


"อานนท์  บุคคลผู้ควรแก่การประดิษฐานในสถูป  เรียกว่า  ถูปารหบุคคล  มี  ๔  ประเภท  คือ  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑  พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑  พระสาวกอรหันต์ ๑  พระเจ้าจักรพรรดิ ๑  บุคคลพิเศษทั้ง  ๔  นี้  ควรที่บรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูป  เพื่อเป็นที่สักการบูชากราบไหว้  ด้วยความเลื่อมใส  ด้วยสามารถเป็นพวปัจจัย  นำให้ผู้กราบไหว้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ตามกำลังศรัทธาเลื่อมใส



ประทานโอวาทแก่พระอานนท์

ครั้งนั้น  พระอานนท์เถระ  เข้าไปในวิหาร  ยืนหนี่ยวกลอนประตูวิหารร้องไห้  คิดสังเวชตัวว่าอาภัพ อุตส่าห์ติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดุจเงาติดตามพระองค์  โดยมุ่งยึดเอาพระองค์เป็นนาถะ  เพื่อทำความสิ้นทุกข์   พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้นก็จะเสด็จปรินิพพานในราตรีนี้แล้ว  ทั้งที่เราเองก็ยังเป็นเสขบุคคลอยู่

พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทอดพระเนตรเห็นพระอานนท์ในที่นั้น  รับสั่งถามภิกษุทั้งหลาย  ครั้นทรงทราบความแล้ว  ตรัสให้ไปตามพระอานนท์เข้ามายังที่เฝ้า  แล้วตรัสว่า  "อานนท์  อย่าเลย  เธออย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรเลย  เราได้บอกแก่เธอแล้วมิใช่หรือว่า  สังขารทั้งหลาย  ไม่เที่ยงถาวร  จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน  ทุกสิ่งที่มีเกิดในเบื้องต้นแล้ว  จะต้องแปรปรวนในท่ามกลาง  ที่สุดก็ต้องสลายลงเช่นเดียวกันหมด"

"อานนท์  เธอเป็นบุคคลที่มีบุญได้สั่งสมไว้แล้ว  เธอจงอุตส่าห์บำเพ็ญเพียรเถิด  ไม่ช้าเธอก็จักถึงความสิ้นอาสวะ  คือจักได้เป็นพระอรหันต์  ก่อนวันพระสงฆ์ทำปฐมสังคายนานั้นแล



ตรัสสรรเสริฐพระอานนท์

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงอนาคตังสญาณอันวิเศษ  ได้ทรงพยากรณ์พระอานนท์ในที่ประชุมสงฆ์เช่นนั้นแล้ว  ก็ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่า  "ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย  ที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วก็ดี  แม้ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้าอีกก็ดี  บรรดาภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น  ก็เป็นเหมือนเช่นอานนท์อุปัฏฐากของเราในบัดนี้แหละ"

"ภิกษุทั้งหลาย  อานนท์เป็นบัณฑิต  ประกอบธุรกิจด้วยปัญญารอบรู้ว่า  กาลใด  บริษัทใดจะเข้าเฝ้า  อานนท์ก็จัดให้เข้าเฝ้า  ตามสมควรแก่สถานะวิสัยแห่งภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา กษัตริย์  พราหมณ์  คหบดี  และเดียรถียืได้ถี่ถ้วนทุกประการ"

อนึ่ง  เมื่อบริษัทได้เข้าไปใกล้  ได้เห็นอานนท์ ก็มีจิตยินดี   เมื่อฟังอานนท์แสดงธรรมก็  ชื่นชม  ไม่อิ่ม ไม่เบื่อด้วยธรรมกถาของอานนท์เลย  เมื่ออานนท์หยุดพักธรรมกถา  บริษัทก็ยินดีเบิกบานในธรรมกถาที่แสดงแล้ว  ประะหนึ่งพระเจ้าจักรพรรดิ  ประทานความชื่นชม  ไม่เบื่อด้วยภาษิตแก่กษัตริย์  พรหมณ์ เป็นต้นฉะนั้น


.............................

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ


ลำดับนั้น  พระอานนท์เถระเจ้าได้ทูลถามถึงวิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในพระพุทธสรีระเป็นไฉน"

"ดูกรอานนท์  ท่านทั้งหลายอย่าขวนขวายเลย  จงตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรมุ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์เถิด  บรรดากษัตริย์ พราหมณ์  คหบดีทั้งหลายที่เลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า  มีอยู่มาก  จักทำซึ่งการบูชาสรีระแห่งพระตถาคตเจ้า"

"ก็กษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น  จะพึงปฏิบัติในพระสรีระโดยวิธีเช่นใดเล่าพระเจ้าข้า"

"อานนท์  ผู้รู้ทั้งหลายย่อมปฏิบัติในพระสรีระของพระตถาคตเจ้าเป็นแบบเดียวกันกับวิธีปฏิบัติในพระสรีระแห่งเจ้าจักรพรรดิราชนั้นแล"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ก็วิธีปฏิบัติในพระสรีระแห่งจักรพรรดิราชเจ้านั้น  มีแบบอย่างเป็นไฉนเล่า  พระเจ้าข้า"

"ดูกรอานนท์   ชนทั้งหลายย่อมพันพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าขาวซับด้วยสำลี  แล้วห่อด้วยผ้าขาว ๕๐๐  คู่  แล้วเชิญพระสรีระลงในหีบทองอันเต็มไปด้วยน้ำมันหอม  เชิญขึ้นสู่จิตกาธาน  ซึ่งทำด้วยไม้หอม  ถวายพระเพลิงแล้วเชิญพระอัฐิธาตุไปทำพระสถูปบรรจุไว้  ณ  ที่ประชุมแห่งถนนใหญ่ทั้ง ๔ เพื่อเป็นที่ไหว้สักการบูชาแห่งมหาชนผู้สัญจรไปมาแต่ทิศทั้ง ๔  เพื่อประโยชน์แก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน


...................................

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ทรงแสดงสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล


ครั้งนั้น  พระอานนท์เถระเจ้าได้กราบทูลว่า  "ในกาลก่อน  เมื่อออกพรรษาแล้ว  บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในทิศต่าง ๆ  ย่อมเดินทางเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ได้เข้าใกล้สนทนาปราศรัย  ได้ความเจริญใจ  ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว  ข้าพระองค์ทั้งหลายจักไม่ได้โอกาสอันดีเช่นนั้น เหมือนกับเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่อีกต่อไป"

พระผู้มีพระภาคเจ้า  "อานนท์  สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลนี้  คิอ  สถานที่พระตถาคตเจ้าบังเกิดแล้ว  คือ ที่ประสูติจากพระครรภ์ ๑  สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑  สถานที่พระตถาคตแสดงธรรมจักร ๑  สถานที่พระตถาคตเจ้าปรินิพพาน ๑   สถานที่ทั้ง ๔ ตำบลนี้แล  ควรที่พุทธบริษัท  คือ ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ผู้มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า  จะดูจะเห็น และควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน

"อานนท์  ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง  ได้เที่ยวไปยังเจดีย์สังเวชนียสถานเหล่านี้ด้วยความเลื่อมใส  ชนเหล่านั้น  ครั้นทำกาลกิริยาลง  จักเข้าถึงสุคติในโลกสวรรค์"


.......................................