วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

เทฺววาจิกอุบาสก

                     ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

         
    ท้าวสหัมบดีพรหมเข้าเฝ้าอาราธนาพระผู้มีพระภาคให้แสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์

ในกาลนั้น  มีพาณิชสองพี่น้อง    ชื่อ ตปุสสะ๑  ภัลลิกะ๑ เป็นนายกองเกวียน นำกองเกวียนบรรทุกสินค้า โดยมรรคาอันไกลปรารถนาจะไปค้าขายยังอุกกลชนบท ในมัชฌิมประเทส  เดินทางมาใกล้พนาสณฑ์นั้น  เทพยดาได้แนะนำให้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  สองพาณิชก็ดีใจพักกองเกวียนไว้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใสได้น้อมข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง เข้าทูลถวายด้วย

ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า  บาตรของตถาคตได้หายไปแต่เช้าแห่งวันตรัสรู้  ต้องทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาด้วยพระหัตถ์  และครั้นเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว  ก็มิได้เสวยพระกระยาหารเลย ตลอดเวลา ๔๙ วัน  บัดนี้ควรจะรับอาหารของสองพาณิช  ที่น้อมเข้ามาถวายด้วยบาตร  บัดนั้น ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔  พระองค์ ได้นำบาตรเสลมัย เป็นศิลาล้วน มีสีเขียวดังเมล็ดถั่วเขียวทั้ง ๔ ลูก มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า

ครั้นพระองค์ทรงรับบาตรทั้ง ๔ ลูก และในทันใดนั้น ก็ทรงอธิษฐานประสานบาตรทั้ง ๔ ลูกนั้น เข้าเป็นบาตรลูกเดียว แล้วทรงเอาบาตรนั้นรับข้าวสัตตุก้อน สัตตุผงของพาณิชทั้งสอง ทรงทำภัตตกิจ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสร็จการเสวยแล้ว ตปุสสะ ภัลลิกะพาณิชทั้งสอง ได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสก ด้วยความเลื่อมใสของถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรม ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต  ด้วยครั้งนั่นยังไม่มีพระสงฆ์  ปฐมอุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท "เทฺววาจิก"  คือ คือเปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมทั้งสองเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ครั้นแล้วพาณิชทั้งสองได้กราบทูลขอประทานปูชณียวัตถุ  คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับเป็นที่ระลึก อภิวาทบูชาในกาลต่อไป  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขึ้นปรามาสพระเศียร  ในขณะนั้น  พระเกศธาตุ ๘ เส้น ได้ติดนิ้วพระหัตถ์ลงมา  พระบรมศาสดาจึงทรงประทานพระเกศธาตุทั้ง ๘ เส้นนั้น แก่ตปุสสะ ภัลลิกะ ปฐมอุบาสก เพื่อเป็นที่ระลึกตามประสงค์  พาณิชทั้งสองน้อมรับพระเกศาธาตุด้วยความเบิกบานใจยิ่งนัก  ได้นำบรรจุลงในผอบทองคำ แล้ววางลงบนสุวรรณภาชนะอันวิจิตร  ถวายบังคมอัญเชิญผอบพระเกศาธาตุไปด้วยเศียรเกล้าของตน  นำขึ้นประดิษฐานบนเกวียน แล้วหลีกไปจากที่นั้น

ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จจากร่มไม้ราชายตนะประทับยังต้นไม้อชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง  ทรงพระดำริถึงพระองค์ว่า  การที่พระองค์อยู่โดยความเป็นผู้ไม่มีที่เคารพ กราบไหว้ เป็นความลำบากก็แล พระองค์ควรจะเคารพกราบไหว้ผู้ใดดี  เมื่อได้ทรงพิจารณาเลือกหาผู้ที่ทรงคุณสมบัติยิ่งกว่า  ควรที่พระองค์จะทรงเคารพ ก็มิได้ทรงมองเห็นผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม ควรแก่การคารวะ

ทรงพระดำริว่า พระโลกุตตรธรรม ที่ตถาคตได้ตรัสรู้นี้แล เป็นปูชนยวัตถุอันประเสริฐสุด ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง  แม้พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วทุก ๆ พระองค์  ก็ทรงเคารพพระสัทธรรม  ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเคารพพระธรรม ทรงเทิดทูนพระธรรมขึ้นเป็นที่เคารพบูชา

ต่อนั้นมาก็ทรงพิจารณาถึงพระธรรม  ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ทั้งหมดนั้น เป็นคุณชาติละเอียดสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง ยากที่มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาน้อย มีความเพียรน้อย แม้จะได้สดับแล้ว จะตรัสรู้ตามได้  ทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัยในอันจะแสดงธรรมโปรดประชากร

ขณะนั้น  ท้าวสหัมบดีพรหม  ทราบในพระพุทธปริวิตกเช่นนั้น  จึงชวนเทพยดาเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ  แล้วกราบทูลอาราธนาว่า...
 "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดังทะเลหลวง  ประชากรทั้งปวงที่มีสาวกบารมีได้สั่งสมไว้ มีอยู่  สัตว์ผู้มีธุลีนัยน์ตาน้อย ยังมีอยู่  ถ้าพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดประทานพระธรรมเทศนา  ประชาสัตว์ก็จะได้ดวงปัญญาหยั่งรู้ตาม จะได้ข้ามสังสารวัฏ สมดัง
มโนรถของพระองค์ที่ทรงมุ่งจะรื้อขนสัตว์ให้เข้าสู่พระนิพพาน"

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำอารธนาของท้าวสหัมบดีก็ทรงพระจินตนาการว่า  เป็นธรรมดาของพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่สืบ ๆ กันมา  ในอันที่จะประกาศธรรมโปรดประชากร  แท้จริงในราตรีแห่งวันที่จะได้ตรัสรู้ในมัชฌิมยาม  ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ก็ทรงหยั่งเห็นสันดานของประชาสัตว์สิ้นแล้ว  ว่ามีอุปนิสัยต่าง ๆ  กัน เป็น ๔ จำพวก  คือ

           ๑. อุคฆฏิตัญญู  ผู้สามารถจะตรัสรู้ตามพระธรรมเทศนาได้ฉับพลัน
           ๒. วิปจิตัญญู  ผู้จะตรัสรู้ตามในกาลภาคหลังที่สดับรับพระโอวาทแนะนำในกาลต่อไป
           ๓. เนยยะ  ผู้มีสันดานเพียงเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติตามโอวาท ซึ่งสามารถจะรู้ได้ในกาลภายหลั
           ๔.ปทปรมะผู้ยากที่จะสั่งสสอน แม้จะได้สดับธรรม ก็จะได้ผลเพียงเป็นอุปนิสัยปัจจัยในภพต่อไป  ดังดอกบัว ๔ เหล่านั้น  จึงได้ทรงน้อมพระทัยไปในอันที่จะแสดงธรรมโปรดประชาสัตว์  ทรงรับอารธนาของท้าวสหัมบดีพรหม  ตั้งพระทัยจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วยดี  ให้เกิดแก่พุทธบริษัททั้ง ๔  คือ ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  แผ่ใพศาลก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานสืบไป.

จากหนังสือ...พุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ...พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ ร.บ.)

                                 ..............................................





วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

ทรงเสวยวิมุติสุข



       ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น


       พญามุจจลินทนาคราช มาทำขนดกายรอบพระองค์ กำบังฝนถวาย

ต่อมา มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง มีนิสัยเป็นหุหุกชาติ ชอบตวาดข่มขู่ผู้อื่นด้วยวาจาว่า หึ! หึ! มายังที่นั้น ได้ทูลถามถึงพราหมณ์ และธรรมอันทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ว่า  "บุคคลชื่อว่า เป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่าไร และธรรมอะไร ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ ? "

พระองค์ตรัสตอบว่า  "พรามหณ์ ผู้ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องขู่ผู้อื่นว่า หึ หึ เป็นคำหยาบ และไม่มีกิเลสอันย้อมจิตให้ติดแน่นดูจน้ำฝาด มีตนสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวทแล้ว มีพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว ผู้นั้นไม่มีกิเลสเครื่องฟูในโลกแม้น้อยหนึ่ง ควรกล่าวได้ว่า ตนเป็นพรามหณ์โดยธรรม"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงสมณะว่า เป็นพรามหณ์ และธรรมอันทำบุคคลให้เป็นสมณะว่า  เป็นธรรมอันทำบุคคลให้เป็นพรามหณ์ในพระพุทธศาสนา โดยโวหารพราหมณ์ ด้วยพระวาจานี้

ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว  เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิยังร่มไม้จิก  อันมีนามว่า  "มุจจลินท์"  อันตั้งอยู่ในทิศบูรพาหรือาคเนย์ แห่งไม้มหาโพธิ เสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ที่นั้นอีก ๗ วัน  ในกาลนั้นฝนตกพรำตลอด ๗ วัน  พญานาคมีนามว่า "มุจจลินทนาคราช"  มีอานุภาพมาก อยู่ที่สระโบกขรณีใกล้ต้นมุจจลินท์พฤกษ์นั้น มีความเลื่อมใสในพระสิริวิลาส พร้อมด้วยพระรัศมีโอภาสอันงามล่วงล้ำเทพยดาทั้งหลาย  จึงเข้าไปใกล้แล้วขดเข้าซึ่งขนดกายแวดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๘ รอบ และแผ่พังพานอันใหญ่ป้องปกเบื้องบนพระเศียร มิให้ลมและฝนถูกต้องพระวรกายพระผู้มีพระภาคเจ้า

ครั้นล่วง ๗ วัน ฝนหายขาดแล้ว พญานาคก็คลายขนด จำแลงกายเป็นมาณพเข้าไปถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานวาจาว่า  "ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน คือ ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปรารถนาจากความกำหนัด คือ ความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ คือ ความถือตัวออกให้หมดไป เป็นสุขอย่างยิ่ง"

ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว  เสด็จออกจากร่มไม้มิจจลินท์ไปยังร่มไม้เกตุอันมีนามว่า "ราชายตนะ" อันอยู่ในทิศทักษิณ แห่งต้นไม้มหาโพธิ เสวยวิมุติสุข ณ ที่นั้น สิ้น ๗ วัน เป็นอวสาน ในกาลนั้น  ท้าวสักกะอมรินทราธิราช ทรงดำริว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เสวยพระกระยาหาร นับแต่กาลตรัสรู้มาได้ ๔๙ วันแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผลสมอเสวยแล้ว ทรงทำสรีรกิจลงพระบังคน ทำสำราญพระกายแล้ว เสด็จเข้าประทับยังร่มไม้ราชายตนพฤกษ์นั้น

คัดลอกจาก หนังสือ พุทธประวัติทัศนศึกษา  นิพนธ์ของ พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจาริมหาเถระ ร.บ.)

                                                     ..................................................

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

ทรงขับนางมาร



ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น



ครั้น พญาวัสวดีมารเมื่อพ่ายแพ้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เกิดความอับอายแก่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่ต้องยอมให้พระสิทธัตถะล่วงพ้นจากวิสัยของตนไปได้ จึงเกิดโทมนัสเป็นยิ่ง  ได้หนีออกจากเทวโลก ลงมานั่งในทางใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองมนุษย์

ขณะนั้น นางมารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี  เมื่อมิได้เห็นพญาวัสวดีมารผู้เป็นบิดาอยู่ในเทวโลก เมื่อแลลงมาด้วยทิพยจักษุ ก็เห็นพระบิดานั่งอยู่ที่ทางใหญ่แห่งหนึ่งในโลกมนุษย์ นางทั้ง ๓ จึงพากันมาหาพญาวัสวดีมาร  แล้วทูลถามว่า พระบิดาทรงทุกข์โทมนัสด้วยเหตุประการใด  พญามารก็แจ้งความจริงให้ธิดาทั้ง ๓ ทราบ นางมารธิดาทั้งสามจึงทูลว่า "พระบิดาอย่าทรงทุกข์ร้อนไปเลย ข้าพเจ้าทั้ง ๓ จะรับอาสาไปทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจ  แล้วจะนำมาถวายพระองค์ให้จงได้"

พยามารจึงตรัสว่า "ลูกเอ๋ย แต่นี้ไป ไม่มีผู้ใดจะสามารถทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจเสียแล้ว"

นางมารธิดาก็แย้งว่า  "ข้าพเจ้าทั้ง ๓ คงจะพันธนาการพระสิทธัตถะด้วยปวง  อันมีราคะเป็นต้น  ผูกมัดให้อยู่ได้ เพราะข้าพเจ้าเป็นสตรี จะพยายามไปผูกพระสิทธัตถะมาให้จงได้ในกาลบัดนี้  พระองค์อย่าทรงวิตกไปเลย"   แล้วนางมารธิดาทั้ง ๓ ก็ทูลลาพระบิดามาสู่สำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ที่ร่มไม้อชปาลนิโครธ แล้วกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระมหาสมณะ หม่อมฉันจะบำเรอพระยุคลบาทของพระองค์ถวาย"

ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงเอาพระทัยใส่ในถ้อยคำของนางมารธิดาทั้ง ๓ นั้น ทั้งมิได้ทรงลืมพระเนตรขึ้นทัศนาการดูทีท่าของธิดามารทั้ง ๓ ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่เป็นปกติ

นางมารก็ดำริว่า  "ธรรมดาบุรุษย่อมมีอัธยาศัยเสน่หาในสตรีที่มีสรีระรูปผิวพรรณสัณฐานต่าง ๆ กัน"  แล้วต่างก็นิรมิตเป็นนางงามต่าง ๆ แสดงท่าทางโดยมุ่งหมายจะให้เป็นที่ต้องพระทัยปรารถนา  เข้าทูลเล้าโลมดุจกาลก่อน  ครั้นเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงตรัสประการใด  ก็แสดงมายาหญิงโดยอา
การพิลาศ ชำเลืองเนตร ฟ้อนรำ ขับร้อง มีประการต่าง ๆ  ทุกวิธีที่เห็นว่าจะคล้องน้ำพระทัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้  แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้น้ำพระเทัยของพระองค์ผิดปกติ

ลำดับนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงออกพระโอษฐ์ขับนางมารธิดาว่า  "มารธิดาเอย เจ้าจงออกไปเสียให้พ้นจากที่นี่  เจ้าจะได้ประโยชน์อะไรในการที่มาพยายามเล้าโลมตถาคต  ด้วยทุกสิ่งที่เจ้ามุ่งหมายนั้น ตถาคตได้ทำลายเสียแล้ว เจ้าควรจะไปประเล้าประโลมบุรุษผู้มีราคะบริบูรณ์  เมื่อตถาคตไม่มีร่องรอยอะไรเลย  แล้วจะนำตถาคตไปด้วยร่องรอยอะไร  ไม่เป็นผลที่มุ่งหมายอันใดแก่เจ้าดอก จงออกไปเสีย"

ในทันใดนั้นเอง ด้วยอานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บันดาลให้ร่างกายอันงามของนางมารธิดาทั้ง ๓ ซึ่งไม่เชื่อฟังพระโอวาท  พยายามออดอ้อนอิดเอื้อนอยู่อีก ได้กลับกลายร่างเป็นหญิงชรา น่าสังเวช  นางทั้ง ๓  เมื่อได้เห็นร่างกายของตนเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้น  ก็ตกใจมาก พากันหนีออกไปจากที่นั้นโดยเร็ว  แล้วกล่าวกันว่า เป็นความจริงดังที่พระบิดาได้เตือนแล้วแต่แรกว่า ไม่มีผู้ใดที่จะทำให้พระสิทธัตถะอยู่ในอำนาจได้  แล้วก็อันตรธานไปจากที่นั้น

                                   ...........................................................

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556

เสวยวิมุติสุข





              ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว  ก็ทรงประทับเสวยวิมุติสุขบนรัตนบัลลังก์นั้นเป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว จึงเสด็จลงจากรัตนบัลลังก์  ไปประทับอยู่ในทิศอีสานแห่งไม้มหาโพธิ จ้องพระเนตรดูไม้มหาโพธิเป็นเวลา ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า "อนิมิสเจดีย์"  ต่อจากนั้น ทรงนิรมิตรัตนจงกรมเจดีย์  เสด็จจงกรมในทิศอุดรแห่งไม้มหาโพธิ และทรงจงกรมอยู่ที่นี้อีกเป็นเวลา ๗ วัน ต่อนั้นก็เสด็จไปประทับนั่งอยู่รัตนบัลลังก์อยู่รัตนฆรเจดีย์ เรือนแก้วในทิศปัจฉิมหรือพายัพแห่งไม้มหาโพธิ  ซึ่งเทพยดาเนรมิตถวาย  ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฏกตลอด ๗ วัน  จึงเสด็จไปประทับยังร่มไทร  ซึ่งเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะ อันมีนามว่า "อชปาลนิโครธ"

                                               ,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ตรัสรู้



           ขอนอบน้อมแด่พระผูมีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น





ต่อจากนั้น  พระมหาบุรุษได้ทรงเจริญญาณ  อันเป็นองค์ปัญญาชั้นสูงทั้ง ๓ ประการ  ยังองค์พระโพธิญาณให้บังเกิดขึ้นเป็นลำดับ  ตามระยะกาลแห่งยามสาม อันเป็นส่วนราตรีนั้น คือ ในปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกอดีตชาติที่พระองค์ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้นได้  ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ บางแห่งเรียกว่า ทิพยจักษุ สามารถหยั่งรู้การเกิดการตาย ตลอดจนการเวียนว่ายของสรรพสัตว์ทั้งหลายได้หมด  ในปัจฌิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงปรีชาสามารถทำอาสวกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปด้วยพระปัญญา พิจารณาในปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลม  ก็ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลาปัจจุสมัย

รุ่งอรุโณทัยทรงเบิกบานพระหฤทัยอย่างสูงสุดในการตรัสรู้  อย่างที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อนกาล  ถึงกับทรงอุทาน เย้ยตัณหาอันเป็นตัวการก่อให้เกิดสังสารวัฏฏทุกข์แก่พระองค์  แต่อเนกชาติได้ว่า  ""   อเนกชาติสํสารํ  เป็นอาทิ  ความว่า  นับแต่ตถาคตท่องเที่ยวสืบเสาะหาตัวนายช่างผู้กระทำเรือน  คือ ตัวตัณหา ตลอดชาติสงสารจะนับประมาณมิได้  ก็มิได้พานพบ  ดูกร ตัณหา นายช่างเรือน บัดนี้ตถาคตพบท่านแล้ว  แต่นี้สืบไป  ท่านจะทำเรือนให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว  กลอนเรือน เราก็รื้อออกเสียแล้ว ช่อฟ้า เราก็ทำลายเสียแล้ว จิตของเราเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นธรรมที่ปราศจากสังขารเสียแล้ว  ได้ถึงความดับสูญสิ้นไปแห่งตัณหา  อันหาส่วนเหลือมิได้แล้ว"

ในขณะนั้น  ความอัศจรรย์ก็บังเกิดมี  พื้นมหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็หวั่นไหว พฤกษาชาติทั้งหลายก็ผลิดอกออกช่องามตระการ  เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าก็พากันแซ่ซ้องสาธุการ  โปรยปรายบุปผามาลัยทำการสักการะ  เปล่งวาจาว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก !   ด้วยความปีติยินดีเป็นอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีมาในกาลก่อน

                                                       .....................................................