พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น
เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรพระราหุลโอรสเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสด็จออกบรรพชา
หลังจากที่พระสิทธัตถะหรือพระโพธิสัตว์ได้เสด็จประพาสพระราชอุทยานแล้ว ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตายและสมณะ ซึ่งเทพยดาได้เนรมิตเพื่อให้ทอดพระเนตร ทรงเกิดความเบื่อหน่ายในกามสุขมาก ทรงพิจารณาเห็นความแก่ ความเจ็บและความตายเหล่านี้ครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ให้ล่วงพ้นไปได้ เพราะโทษจากการที่ไม่ได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของสัตบุรุษ หรือคำสอนของผู้รู้
เมื่อเห็นบุคคลอื่นแก่ เจ็บแล้วก็ตายไป ย่อมมีความเบื่อหน่ายและเกลียดชัง ไม่คิดว่าตนเองก็จะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ยังมัวเมาอยู่ในวัย เมาในความไม่มีโรคภัยเบียดเบียนและเมาในชีวิต จนลืมนึกถึงความแก่ ความเจ็บและความตาย มีแต่จะแสวงหาสิ่งอันมีสภาวะไม่เที่ยงเช่นนั้นมากขึ้น ไม่คิดหาอุบายที่จะเป็นเครื่องนำออกจากการเวียนเกิดเวียนตายไม่มีที่สิ้นสุด แม้พระองค์เองก็จะต้องประสบกับสภาวะแห่งความไม่เที่ยงเช่นนั้นเหมือนกัน
เมื่อได้ทรงดำริเช่นนั้นแล้ว พระองค์ได้ทรงบรรเทาความเมา ๓ ประการ คือ ความเมาในวัย ความในความไม่มีโรค ความเมาในชีวิตกับความติดข้องยินดีพอใจในกามวัตถุทั้งหลาย จึงดำรัสต่อไปว่า "ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกต่อกัน เช่น มีร้อนก็มีเย็น, มีมืดก็มีสว่าง บางที่อาจจะมีอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนี้ได้บ้าง" แต่ว่าการที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ ๓ ประการนี้ ก็ยังยากมากสำหรับผู้ที่ยังครองตนอยู่ในฆราวาสวิสัย เพราะเหตุว่า ฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบและเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ซึ่งทำใจให้เศร้าหมอง ด้วยแห่งความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางแห่งธุลี การบรรพชาเท่านั้น ที่จะเป็นช่องทางที่แสวงหาอุบายพ้นทุกข์ได้ เมื่อทรงดำริเช่นนั้นแล้ว ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในการบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงแน่พระทัยว่า จะเป็นอุบายให้พระองค์แสวงธรรมเป็นเครื่องพ้นทุกข์ทั้งปวงได้เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส เสด็จกลับพระราชวังในเวลาเย็น เสด็จขึ้นประทับที่มุขปราสาทชั้นบน ขณะนั้น
นางกีสาโคตมีราชกัญญาแห่งศากยราช ได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์ จึงได้ตรัสคาถาสรรเสริญพระคุณสมบัติของพระราชกุมารด้วยเสียงอันไพเราะว่า
นิพฺ พุตา นูน สา มาตา นิพฺ พุโต นูน โส ปิตา
นิพฺ พุตา นูน สา นารี ยสฺ สายํ อี ทิ โส ปติ.
ความหมายว่า หญิงใดเป็นมารดาของพระกุมารนี้ หญิงนั้นดับทุกข์ได้ ชายใดเป็นบิดาของพระกุมารนี้ ชายนั้นดับทุกข์ได้ พระกุมารนี้เป็นสามีของนางใด นางนั้นดับทุกข์ได้
เมื่อพระราชกุมารได้ทรงสดับคาถานั้นแล้ว ทรงเลื่อมใสพอพระทัยยิ่งในคำว่า "นิพฺพุตา" คือ ความดับทุกข์ ซึ่งมีความหมายถึงพระนิพพาน อันเป็นธรรมเครื่องดับทุกข์ทั้งปวง ทรงดำริว่า "พระน้องนางผู้นี้ให้เราได้สดับคุณบางแห่งพระนิพพานครั้งนี้ ชอบยิ่งนัก" จึงได้ทรงถอดสร้อยมุกซึ่งมีค่ายิ่งจากพระศอ แล้วพระราชทานรางวัลแก่พระนางกีสาโคตมี ด้วยทรงมีปีติยิ่ง ผดุงน้ำพระทัยให้พระองค์น้อมไปในการเสด็จออกบรรพชามากยิ่งขึ้น แต่กลับตรงกันข้ามกับความรู้สึกของพระนางกีสาโคตมี เมื่อได้รับประราชทานสร้อยมุก ก็ยิ่งกลับเป็นการเพิ่มความปฏิพัทธ์ในพระกุมารยิ่งขึ้น คิดว่าพระกุมารคงจักพอพระทัยปฏิพัทธ์ในพระนาง แล้วยังคิดไปไกลตามวิสัยของคนมีความรัก
การที่พระองค์จะเสด็จออกบรรพชาก็มีทางเดียว คือ เสด็จออกจากพระราชวังด้วยการตัดความอาลัย
อาวร ไม่เยื่อใยในพระราชสมบัติ ไม่เยื่อใยในพระชายาและพระโอรส รวมทั้งไม่เยื่อใยในพระประยูรญาติ ข้าราชบริพารทั้งหลาย หากว่าจะทูลพระราชบิดาให้รับทราบ ก็คงจะต้องถูกคัดค้าน การเสด็จออกบรรพชาก็จะไม่สำเร็จดังพระราชประสงค์ จึงเสด็จเข้าบรรทมแต่หัวค่ำ ไม่ทรงยินดีในการขับร้องดนตรีประโคมดุริยางค์ของเหล่าราชกัญญาทั้งหลาย ที่พระราชบิดาได้จัดมาบำรุงบำเรอให้ทุกอย่าง
เจ้าชายสิทธัตถะประทับม้ากัณฑกะเสด็จออกบรรชา
เวลาดึกสงัดพระองค์ตื่นจากบรรทม ได้ทอดพระเนตร เห็นนางบำเรอร้องรำขับร้องประโคมดนตรีเหล่านั้น นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท บางนางผ้าห่มหลุด บางนางนอนกอดกัน บางนางนอนอ้าปาก บางนางนอนกัดฟัน บางนางน้ำลายไหล บางนางผ้าห่มหลุด บางนางบ่นละเมอนอนกลิ้งไปมา ปรากฏแก่เจ้าชายสิทธัตถะ ดุจดังซากศพอันทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบ ปราสาทที่สวยงามก็กลายเป็นเสมือนป่าช้า ยิ่งเป็นการเร่งที่จะดำริในการออกบรรพชาในเวลาย่ำค่ำนั้น ทรงเห็นการบรรพชาเป็นทางที่จะทำให้ห่างจากอารมณ์หลอกล่อให้หลงและมัวเมาในกามคุณทั้งหลาย จึงเป็นช่องทางที่จะบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นด้วย ทำชีวิตให้มีประโยชน์ยิ่ง จึงทรงตกลงพระทัยและจัดเตรียมแต่งองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งนายฉันนะอำมาตย์ ให้เตรียมผูกม้ากันฑกะ เพื่อเสด็จออกจากพระนครในราตรีนั้น
ครั้นตรัสสั่งนายฉันนะแล้ว ได้เสด็จไปยังปราสาทของพระนางพิมพา เพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมาร
โอรสพระองค์เดียว เห็นพระนางพิมพาบรรทมหลับสนิท พระกรกอดโอรสอยู่ ทรงดำริ จะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย แต่เกรงว่าพระนางพิมพาจะทรงตื่นบรรทม ก็จะเป็นอุปสรรคในการเสด็จออกบรรพชาได้ จึงทรงระงับความเสน่หาในพระโอรส แล้วเสด็จลงจากปราสาท พบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้ แล้วเสด็จประทับม้ากันฑกะ มีนายฉันนะตามเสด็จ ได้เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล ซึ่งเทพยดาได้บันดาลปิดทวารพระนคร เพื่อให้พระองค์เสด็จไปโดยสวัสดี.
...........................................
ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น