ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตสัตตุราช ผู้ครองนครราชคฤห์ พระเจ้าลิจฉวีแห่งพระนครไพศาลี พระเจ้ามหานามแห่งกบิลพัสดุ์นคร พระฐลิยราชแห่งเมืองอัลลกัปปนคร พระเจ้าโกลิยราชแห่งเมืองรามคาม พระเจ้ามัลลราชแห่งเมืองปาวานคร และ มหาพราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกนคร รวม ๗ นครด้วยกัน ล้วนมีความเลื่อมใส และความเคารพนับถือมั่นในพระพุทธศาสนา ครั้นได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระบรมศาสดา มีความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก จึงได้แต่งราชทูตส่งไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกุสินารา เพื่อจะได้สร้างพระสถูปบรรจุไว้ที่สักการบูชาเป็นสิริมงคลแก่พระนครของพระองค์สืบไป
ครั้นส่งราชทูตไปแล้ว ก็ยังเกรงไปว่า กษัตริย์มัลลราชแห่งกุสินารานั้น จะขัดขืนไม่ยอมดังปรารถนา จึงให้จัดโยธาแสนยากรเป็นกองทัพ พร้อมด้วยจาตุรงคโยธาเสนาหาญครบถ้วยนด้วยศัสตราวุธเต็มกระบวนศึก เดินทัพติดตามราชทูตไป ด้วยทรงตั้งพระทัยว่า หากกษัตริย์มัลลราชแห่งนครกุสินาราขัดขืน ไม่ยอมให้ด้วยไมตรี ก็จะยกพลเข้าโหมหักบีบบังคับเอาพระบรมธาตุด้วยกำลังทหาร
เมื่อกษัตริย์ทั้งหลาย มีพระเจ้าอชาตสัตตุราช เป็นอาทิ ต่างยกจาตุรงคเสนาโยธาหาญมาถึงชานเมืองกุสินารา โดยลำดับ ครั้นทราบข่าวจากราชทูตว่า มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ไม่ยอมให้พระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดาดังประสงค์ ก็ไม่พอพระทัย ต่างก็ยกทัพเข้าประชิดกำแพงพระนคร จัดตั้งพลับพลาและตั้งค่ายเรียงรายพระนครกุสินารา รวม ๗ ทัพด้วยกัน แล้วให้ทหารร้องประกาศเข้าไปในเมืองว่า ให้มัลลกษัตริย์เร่งบันส่วนพระบรมสารีรกธาตุให้โดยดี แม้มิให้ ก็จงออกมาชิงชัยยุทธนาการกัน
ฝ่ายมัลลกษัตริย์ในเมืองกุสินารานั้น เห็นกองทัพยกมาผิดรูปการณ์เป็นไมตรีเช่นนั้น ก็ตกใจ สั่งให้ทหารประจำที่ รักษาหน้าที่เชิงเทินปราการรอบพระนครให้มั่นคง เมื่อได้ยินทหารร้องประกาศเข้ามาดังานั้นก็ให้ทหารบนเชิงเทินร้องตอบไปว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาปรินิพพานในพระนครของเรา ความจริงเราก็มิได้ไปทูอัญเชิญให้เสด็จ และเราก็มิได้ส่งข่าวสารไปเชิญทูลเสด็จ พระองค์เสด็มาเอง แล้วส่งพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ให้มาบอกให้เราไปสู่สำนักพระองค์ แม้เพียงดวงแก้วอันมีค่าเกิดในเขตแคว้นแดนเมืองของท่าน ท่านก็มิได้ให้แก่เรา ก็แล้วแก้วอันใดเล่าจะประเสริฐเสมอด้วยแก้คือ พระพุทธรัตนะ และก็เมื่อเราได้ซึ่งปฐมอุดมรัตนะเช่นนี้แล้ว ที่จะให้แก่ท่านทั้งปวงอย่าพึงหวังเลย ใช่ว่าจะดื่มน้ำนมมารดา เป็นบุรุษเหมือนกัน จะขยาดเกรงกลัวท่านเมื่อไรมี" กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายต่างทำอหังการแก่กันและกัน ด้วยขัตติยมานะคุกคามท้าทายด้วยถ้อยคำมีประการต่าง ๆ ใกล้จะทำสงครามสัมประหารซึ่งกันและกันอยู่แล้ว
ในกาลนั้น โทณพราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิต เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์สอนไตรเพทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย พิจารณาเห็นเหตุอันพึงจะมี ในสิ่งซึ่งมิใช่เหตุอันควรสัมประหารซึ่งกันและกัน จึงดำริว่า เราควรจะระงับเสียซึ่งการวิวาทของกษัตริย์ทั้งปวง และชี้ให้เห็นประโยชน์แห่งความสามัคคีเถิด ครั้นโทณพราหมณ์ดำริเช่นนั้นแล้ว จึงขึ้นยืนอยู่บนที่สูงปรากฏร่างแก่กษัตริย์ทั้งหลาย พร้อมกับกล่าววาจาห้ามว่า "ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ขอทุกท่านจงสงบใจฟังคำของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคำที่ท่านทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามโดยส่วนเดียวเถิด"
ครั้นโทณพราหมณ์ เห็นกษัตริย์ทั้งหลายตั้งใจสดับฟังถ้อยคำของตนเช่นนี้แล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า "ข้าแต่ท่านผู้จอมแห่งประชาราษฏร์ทั้งหลาย แท้จริงทุก ๆ ท่านก็มิใช่สักการะ เคารพ บูชา พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยฐานที่พระองค์เป็นกษัตริย์ที่สูงโดยชาติ และโคตร หรือสูงโดยเกียรติ ยศ ศํกดิ์และทรัพย์สมบัติแต่ประการใดเลย ปรากฏว่า เราทั้งหลายสักการะ เคารพบูชา พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยธรรม ด้วยความเชื่อถือในธรรม ที่พระองค์ทรงประทานไว้ทั่วกัน
ก็ธรรมทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้นั้น ทรงสรรเสริญขันติ ความอดทน อหิงสา ความไม่เบียดเบียนและสามัคคี ความพร้อมเพรียงกัน อันเป็นธรรมทรงคุณค่าอันสูง ควรที่คนทั้งหลายจะพึงปฏิบัติทั่วกัน เมื่อเป็นดังนั้นแล้วเหตุอันใดเล่า เราควรจะพึงวิวาทกัน ข้อนั้น ไม่เป็นการสมควรเลย
..............................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น