วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

นันทกุมารออกบวช

วันที่ ๔ พระบรมศาสดาเสด็จไปรับบิณฑบาต  ในนิเวศน์ของพระนันทราชกุมาร  ผู้เป็นพระพุทธอนุชา ซึ่งประสูติแต่พระนางมหาปชาบดี  โคตมี  ในงานวิวาหมงคลของนันทกุมาเอง  ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว  ก็ประทานบาตรให้นันทกุมารถือไว้  มีพระดำรัสตรัสมงคลคาถาแก่สมาคม  เสร็จแล้วก็เสด็จลุกจากอาสน์  ลงจากนิเวศน์  แต่มิได้ทรงรับบาตรจากนันทกุมาร  แม้นันทกุมารก็ไม่กล้าทูลเตือน  ให้ทรงรับบาตรคืนไป  คงทรงดำเนินตามเสด็จลงมา  ด้วยดำริอยู่ว่า  เมื่อเสด็จถึงพื้นล่างแล้ว  คงจะทรงรับไป  ครั้นพระศาสดาไม่ทรงรับคืน  ก็ดำริอีกว่า  ถึงหน้าพระลาน  คงจะทรงรับหรือไม่ก็ถึงพระทวารวัง  ก็คงจะทรงรับไป  ครั้นถึงทั้งสองแห่งไม่ทรงรับ  นันทกุมารก็ต้องจำใจถือตามเสด็จต่อไป  ไม่อาจทูลเตือนได้  ด้วยความเคารพยิ่งในพระบรมศาสดา  แล้วก็ดำริต่อไปใหม่ตามทางเสด็จว่า  เมื่อถึงตรงนั้น ๆ แล้ว  คงตะทรงรับบาตรคืนไป

ฝ่ายนางชนปทกัลยาณี  ผู้เป็นเทวีคู่อภิเษก  ได้ทราบจากนางสนมว่า  พระชินศรีพานันทกุมาไปเสียแล้ว ก็ตกพระทัย  ทรงกันแสง  รีบแล่นตามมาโดยเร็ว  แล้วร้องทูลว่า  "ข้าแต่นันทะพระลูกเจ้า  ขอให้พระองค์รีบเสด็จกลับมา
โดยด่วน"  นันทกุมารได้สดับเสียง  ก็สะดุ้งด้วยความอาลัยใคร่จะกลับ  แต่ก็กลับไม่ได้  ด้วยเกรงพระทัยพระบรมศาสดา  ต้องฝืนใจอุ้มบาตรตามพระบรมศาสดา  ไปจนถึงนิโครธามหาวิหาร

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงพระคันธกุฎี  แล้วก็ทรงรับสั่งว่า  "นันทกุมาร  จงบรรพชาเสียเถิด"  นันทกุมารไม่อาจทูลขัดพระพุทธบัญชาได้  ด้วยความเคารพยิ่ง  ก็จำใจทูลว่า  "จะบวช"  แล้วก็ทรงโปรดประทานอุปสมบทให้นันทกุมารในวันนั้น


                                       ...............................................

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โปรดพระนางพิมพา (ตอนที่ ๒)



"ประการหนึ่ง  ข้าพระบาทของพระองค์นี้  โหราจารย์ญาณเมธีได้ทำนายไว้แต่ยังเยาวัยว่า  ยโสธราพิมพาราชกุมารี  มีบุญญาธิการใหญ่ยิ่ง ควรเป็นมิ่งมเหสีอดุลกษัตริย์จักรพรรดิราช  คำทำนายนั้นก็เคลื่อนคลาดเพี้ยนผิด  พิมพากลัววิปริตเป็นหญิงหม้ายชายร้างสิ้นราคา"  เมื่อพระนางพิมพาเทวีปริเทวนามาฉะนี้  แล้วก็กลิ้งเกลือกพระอุตมางคโมลีเหนือหลังพระบาทพระศาสดาดูเป็นที่เวทนา

ส่วนสมเด็จพระพุทธบิดา ก็ได้กราบทูลพรรณนาถึงความดีของพระนางพิมพาเทวีศรีสะใภ้ว่า  "จะหาสตรีใดเสมอได้ยากยิ่ง มีความจงรักภักดีต่อพระองค์จริงประจักษ์ตา  ทราบว่าพระองค์ทรงผทมเหนือพื้นเมธนีดล  ครั้นทราบว่าพระองค์เว้นเครื่องสุคนธ์ลูบไล้  ตลอดดอกไม้บุบผชาติ  พระนางก็เว้นขาดจากเครื่องประดับทุกประการ ทั้งเครื่องลูบไล้สุคนธมาลย์ก็เลิกหมด  เฝ้าแต่รันทดถึงพระองค์อยู่ไม่ขาด  แม้บรรดาพระประยูรญาติของพระนางในเทวทหนคร  ส่งข่าวสาส์นมาทูลถวายว่า   จะรับกลับไปบำรุงเลี้ยงรักษาปฏิบัติพระนางก็บอกปัด  มิได้เล็งแลหมู่กษัตริย์ศากยวงศ์พระองค์ใด  ตั้งพระทัยภักดีมีสัตย์ซื่อเสน่หาเฉพาะพระองค์ดำรงมา ดังพรรณนามาฉะนี้"

เมื่อพระชินศรีได้ทรงเสวนาการ  จึงมีพระพุทธบรรหารดำรัสว่า  "ดูกรบรมบพิตร  พระนางพิมพาเทวี จะได้มีจิตจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสวามีแต่ในชาตินี้เท่านั้นก้หาไม่  มาดาราหุลนี้นั้น น้ำใจเป็นหนึ่งแน่ไม่แปรผันในสวามี  แม้ในอดีตกาล  ครั้งเสวยชาติเป็นเดรัจฉานกินนรี  ก็มีจิตจงรักภักดีเลิศคุณดิลก"  แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงจันทกินนรชาดกโดยพิสดาร บรรเทาความโศกเศร้าปริเทวนาการของพระนางพิมพาให้เสื่อมคลายกำสรด เสมือนหนึ่งหลั่งน้ำอมตรส   ลงตรงดวงจิตของพระนาง  ซึ่งเร่าร้อนด้วยเพลิงพิษคือกิเลสให้พลันดับกลับให้ความสดชื่นเกษมศานต์

ส่วนพระนางพิมพาราชกัญญา  ครั้นสว่างโศกสิ้นทุกข์  มีใจผ่องแผ้วเบิกบาน  ตั้งพระทัยสดับพระธรรมที่พระศาสดาทรงพระกรุณาประทานสืบไป  ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล  แล้วถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาทพระศาสดาด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณา  ที่ทรงอุตส่าห์เสด็จมาประทานชีวิตให้สดชื่นรื่นรมย์  ทั้งประทานอมตธรรมให้ชื่นชมสมกับที่พระนาง  ได้จงรักภักดีตั้งแต่ ๒ หมื่น เสด็จคืนสู่พระนิโครธมหาวิหาร


                               ...............................................

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โปรดพระพุทธบิดา



ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จด้วยพระขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นบริวาร  ทรงบาตรดำเนินภิกษาจารตามท้องถนน  ในกบิลพัสตุ์นคร  ขณะนั้น  มหาชนที่สัญจรในถนน ตลอดไปถึงทุก ๆ คน ทุกบ้านช่อง  ต่างก็จ้องดูด้วยความเลื่อมใสและประหลาดใจระคนกัน  ว่าไฉนพระผู้เป็นเจ้าสิทธัตถกุมารจึงนำพระสงฆ์เที่ยวภิกษาจารด้วยการเช่นนี้  แล้วก็โจษจันกันอึงมี่ทั่วพระนคร

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็ตกพระทัย  รีบเสด็จลงจากพระราชนิเวศน์  เสด็จพระราชดำเนินไปหยุดยืนเฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดาที่กลางถนนนั่นเอง  แล้วทูลพ้อพระบรมศาสดาว่า  "ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยการเที่ยวภิกษาจารเช่นนี้"

สมเด็จพระชินศรีจึงตรัสตอบว่า  "ดูกรพระราชสมภาร  อันการเที่ยวบิณฑบาตนี้  เป็นจารีตประเพณีของตถาคต"

"ข้าแด่พระผู้มีพระภาค  อันบรรดากษัตริย์ขัตติยวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งซึ่งเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้  ยังจะมีอยู่ ณ ที่ใด  ประเพณีของหม่อมฉันไม่เคยมี  แต่ครั้งไหนในกาลก่อน"  พระเจ้าสุทโธทนะทรงรับสั่ง

"ดูกร พระราชสมภาร  นับแต่ตถาคตได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว  ก็สิ้นสุดสมมติขัตติยวงศ์  เริ่มประดิษฐานพุทธวงศ์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้   ดังนั้น  การเที่ยวบิณฑบาตจึงเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า ตลอดพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร"

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนั้นแล้ว  จึงทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาให้ดำรงอยู่ในโสตาปัตติผ แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงรับบาตรของพระบรมศาสดา  ทูลอาราธนาให้เสด็จขึ้นพระราชนิวเศน์  พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์  ทรงอังคาสด้วยอาหารบิณฑบาตอันประณีต

วันรุ่งขึ้น  พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์เป็นวันที่สอง
ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว  ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีและพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา  เมื่อจบพระธรรมเทศนา  พระนางมหาปชาบดีได้บรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธบิดาได้บรรลุสกทาคามิผล


วันรุ่งขึ้นอีก  พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์  เป็นวันที่ ๓  ครั้นภัตตกิจแล้ว  ตรัสเทศนามหาธรรมปาสชาดก โปรดพระพุทธบิดาให้สำเร็จพระอนาคามิผล


........................................................

คัดลอกจาก....หนังสือพุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ  พระพิมมลธรรม  (ชอบ  อนุจารีมหาเถระ  ร.บ.)

                                                            .........................................................



วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โปรดพระนางพิมพาเทวี (ตอนที่ ๑)


                 
พระเจ้าสุทโธทนะกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  พระนางพิมพาเทวีเป็นชนปทกัลยาณี  มีความจงรักภักดีต่อพรระองค์  สุดจะหาสตรีที่ใดเสมอได้  นับแต่พระองค์เสด็จจากพระนครไป  สิ่งอันใดที่ก่อให้เกิดราคี  เสื่อมศรีเสียเกียรติยศแล้ว  พระนางจะห่างไกลไม่กระทำ  เฝ้าแต่รำพันถึงคุณสมบัติของพระองค์  แล้วก็โศกเศร้าอาดูร  มิได้ใส่ใจในถ้อยคำของผู้ใด จะช่วยแนะนำให้บรรเทาความเศร้าโศก  ไม่สนใจในการตกแต่งกายทุกอย่าง  เลิกเครื่องสำอางทุกชนิด  เมื่อได้ทราบว่าพระองค์ทรงผ้ากาสาวพัสตร์  พระนางก็จัดหาผ้ากาสาวพัสตร์มาใช้ตามพระองค์  ตลอดจนทุกวันนี้ได้ทราบข่าวว่า พระองค์อดพระกระยาหารทรมานกาย  พระนางก็พอใจอดพระกระยาหารตามเสด็จตลอดเวลา  จะหาสตรีที่มีความจงรักภักดีเช่นนี้เห็นสุดหา"


 "อนึ่ง  นับแต่พระองค์เสด็จมาสู่พระนิเวศน์เข้า ๓ วันนี้  พระนางพิมพาก็มิได้มาเฝ้า  เศร้าโศกอยู่แต่ในห้องผทม  ตั้งใจอยู่ว่าพระองค์คงจะเสด็จเข้าไปหายังห้องที่เคยเสด็จประทับในกาลก่อน  หากพระองค์จะไม่เสด็จไปยังห้องของพระนางแล้ว  พระนางคงจะเสียพระทัยถึงแก่วายชีวิตเป็นแน่แท้  หม่อมฉันขออาราธนาพะองค์เสด็จไปโปรดพระนางพิมพาเทวี  ขอให้ทรงพระกรุณาประทานชีวิตแก่พระนาง  ผู้มีความจงรักภักดีในครั้งนี้ด้วยเถิด"
            
                       
พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า  "ดูกรพระราชสมภาร  อันพระนางพิมพาเทวีมาดาราหุลกุมาร  มีความจงรักภักดีต่อตถาคต  สมจริงดังพระองค์รับสั่งทุกประการ และก็สมควรที่ตถาคตจะไปอนุเคราะห์พระนางให้สมมโนรถ  เพื่อบรรเทาความกำสรดเศร้าโศก  ให้ได้รับความสดชื่น  สุขใจในอมตธรรมตามควรแก่วาสนา  ด้วยพระนางมีคุณแก่ตถาคตมามากยิ่งนัก  ในอดีตกาลได้ช่วยตถาคตบำเพ็ญมหาทานบารมีมากกว่าแสนชาติ"  ครั้นแล้วก็รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายรออยู่ที่ปราสาทราชนิเวศน์  ให้ตามเสด็จแต่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะอัครสาวก ๒ องค์  เป็นปัจฉาสมณะ  แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังปราสาทของพระนางพิมพาเทวี  พลางมีพระวาจารับสั่งแก่สองอัครสาวกว่า  "มารดาราหุลนี้มีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก  ผิว่านางจะจับบาทตถาคตลูบคลำสัมผัสและโศกเศร้าอาดูรพิลาปร่ำไห้ ด้วยกำลังเสน่หา  ท่านทั้งสองก็อย่าได้ห้ามปราม  ปล่อยตามอัธยาศัย  ให้พระนางพิไรรำพันปริเทวนาจนกว่าจะสิ้นโศก  ผิว่าไปห้ามเข้านาง  ก็ยิ่งเพิ่มความเศร้าโศกเสียพระทัยถึงชีวิต  ไม่ทันได้สดับพระธรรมเทศานา  ตถาคตยังเป็นหนี้พิมพา  มิได้เปลื้องปลด จะได้แทนทดใช้หนี้แก่พิมพาในกาลบัดนี้"  ครั้นตรัสบอกอัครสาวกทั้งสองแล้ว  ก็เสด็จพระพุทธลีลาเข้าไปในห้องแห่งปราสาท  ขึ้นสถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์อันงามวิจิตร


ฝ่ายนางสนมทั้งหลาย  ครั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เสด็จมาประทับอยู่บนปราสาท  จึงรีบไปทูลความแด่พระนางพิมพาว่า  "บัดนี้  พระสิทธัตถะราชสวามีของพระนางเจ้า  ได้เสด็จมาประทับยังห้องแห่งปราสาทของพระนางแล้ว"


เมื่อพระนางพิมพาเทวีทรงสดับ  ก็ลุกจากที่ประทับ  จูงพระราหุลราชโอรส  กลิั้นความกำสรดโศก  แล้วก็เสด็จคลานออกจากพระทวารสถานที่สิริไสยาสน์  ตรงเข้ากอดบาทพระบรมศาสดา  แล้วซบพระเศียรลงถวายนมัสการพลางทรงพิลาปกราบทูลสารว่า  "โทษกระหม่อมฉันนี้มีมากเพราะเป็นหญิงกาลกิณี  พระองค์จึงเสด็จหนีให้อาดูรด้วยเสน่หา  แต่เวลายังดรุณภาพ  พระองค์มิได้ตรัสบอกให้ทราบ  แสร้งทรงสละข้าพระบาทไว้ไม่อาลัย  ดุจก้อนเขฬะบนปลายพระชิวหา  อันถ่มออกจากพระโอษฐ์มิได้โปรดปราน   เสด็จปราศร้างจากนิเวศน์สถานไปบรรพชา  ถึงมาตรว่า  ข้าพระบาทพิมพานี้มีโทษแล้ว  ส่วนพระลูกแก้วราหุลกุมาร  เพิ่งพระสูติจากพระครรภ์ในวันนั้น  ยังมิทันได้รู้ผิดชอบประการใด  นั่นมีโทษสิ่งไรด้วยเล่า  พระผ่านเกล้าจึงแกล้งทอดทิ้งไว้ให้ร้างพระปิตุรงค์


                                    ...................................................


วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เสด็จเมืองกบิลพัสตุ์ (ตอนที่ ๓)




เมื่อสิ้นสุดพระราชบรรหารแห่งพระเจ้าสุทโธทนมหาราช  บรรดาเหล่าพระประยูรญาติสิ้นทั้งหมด  ก็พากันยอกรประณตอภิวาทพระบรมศาสดาด้วยคารวะเป็นอันดี


ต่อนั้น  พระมหามุนีบรมสุคตเจ้า  ก็เสด็จลงจากอากาศ  ประทับนั่งลงบนพระพุทธอาสน์ในท่ามกลางพระประยูรญาติสมาคม  เป็นที่ชื่นชมโสมนัสสุดจะประมาณด้วยบุญญาภินิหารพระโลกนาถ  ขณะนั้น มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในอากาศ  บันดาลหยาดฝนโบกขรพรรษให้ตกลง  ในที่ขัตติยะประยูรวงศ์ประชุมกัน  น้ำฝนโบกขรพรรษนั้น  มีสีแดงหลั่งไหลเสียงสนั่นลั่นออกไปไกล  เหมือนเสียงสายฝนธรรมดา  ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกาย  จึงจะเปียกกาย  ถ้าไม่ปรารถนาแล้ว  แม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียกตัว  เหมือนหยาดน้ำตกลงใบบัว  แล้วก็กลิ้งตกลงไปมิได้ติดอยู่ให้เปียก  ดังนั้น จึงได้นามขนาดขานเรียกว่า  "ฝนโบขรพรรษ"  เป็นมหัศจรรย์


ครั้งนั้น  พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็พากันพิศวง  ต่างองค์ก็สนทนาว่า  มิได้เคยเห็นมาแต่ก่อนกาล  พระองค์จึงมีพุทธบรรหารตรัสว่า  "ฝนโบกขรพรรษนี้  ใช่จะตกอยู่ในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้น  ก็หาไม่  ในอดีตสมัยเมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์  ฝนโบกขรพรรษก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติเหมือนครั้งนี้"  แล้วสมเด็จพระมหามุนีจึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา  เรื่องมหาเวสสันดรชาดก  ยอยกพระมหาบารมีทาน  เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว  พระประยูรญาติก็ถวายนมัสการทูลลากลับพระราชนิเวศน์หมดด้วยกัน ไม่มีใครเฉลียวจิตคิดถึงวันยามอรุณรุ่งพรุ่งนี้ว่า  สมเด็จพระชินศรีและพระสงฆ์จะทรงเสวยบิณฑบาตที่ใด  จึงไม่มีใครทูลอารธนาให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารในเคหสถานของตน ๆ  ในกบิลพัสตุ์บุรี.


 ...........................................................               

คัดลอกจาก....หนังสือพุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ  พระพิมมลธรรม  (ชอบ  อนุจารีมหาเถระ  ร.บ.)  
                                                                              
                                                                                       ..........................................................


วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เสด็จเมืองกบิลพสตุ์ (ตอนที่ ๒)


อนึ่ง  พระบรมชนกนาถก็มีพระทัยมุ่งหมาย  ใคร่จะได้ประสบพบพระองค์ตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด หากพระองค์จะทรงพระกรุณา  เสด็จไปให้สมมโนรถของพระชนกนาถ  ตลอดทั่วพระประยูรญาติศากยวงศ์แล้วประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสตุ์บุรี  ก็จะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่พุทธศาสนา  นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน  เป็นสิริมงคลแก่อนุชนคนภายหลังชั่วกาลนาน  ข้าพระองค์ขออัญเชิญพระพิชิตมาร  เสด็จสู่กบิลพัสตุ์บุรี  โปรดพระชนกและพระประยูรญาติให้ปีติในคราวนี้เถิด

เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับสุนทรกถา  ที่กาฬุทายีเถรเจ้ากราบทูลพรรณนารวม ๖๔ คาถา  วิจิตรพิสดาร ก็ทรงตรัสสาธุการแก่กาฬุทายี  ตรัสว่า  "ตถาคตจะเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสตุ์บุรี  ตามคำของท่าน ณ กาลบัดนี้  ฉะนั้น  ท่านจงแจ้งข่าวแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย  ให้ตระเตรียมการเดินทางไกลตามตถาคตประสงค์ที่จะเสด็จไปยังกบิลพัสตุ์บุรี"

เมื่อพระกาฬุทายี  ออกมาประกาศให้มวลพระสงฆ์  ที่มาสันนิบาตอยู่พร้อมหน้ากันให้ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว  บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพทุก ๆ องค์ ก็เตรียมบาตร จีวร มาสโมสรรอเสด็จพระบรมศาสดาตามวันเวลาที่กำหนด  ครั้นได้เวลา  พระบรมศาสดาจารย์พร้อมด้วยพระสงฆ์ขีณาสพ ๒ หมื่น เป็นประมาณเสด็จดำเนินไปยังกบิลพัสตุ์นคร  เสด็จโดยมิได้รีบร้อนตามสบาย   ประมาณระยะทางเดินได้วันละ  ๑  โยชน์พอดี

ฝ่ายพระกาฬุทายี ได้ส่งข่าวเสด็จพระนครกบิลพัสตุ์ของพระชินศรีสัมพุทธเจ้า  แต่พระเจ้าสุทโธทนะบรมกษัตริย์  ท้าวเธอได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสเบิกบาน  แจ้งข่าวสารแก่ปวงพระประยูรญาติทั้งศากยราช  และโกลิยวงศ์ในเทวทหนคร  พระญาติทั้งสองฝ่าย ได้มาสโมสรประชุมกันต้อนรับที่กบิลพัสตุ์บุรี  ด้วยความปีติยินดีเกษมศานต์  ได้ร่วมกำลังสร้างนิโครธมหาวิหาร พร้อมด้วยเสนาสนะและพระคันธกุฎี  เพื่อรับรองพระชินศรีและพระสงฆ์สาวกพุทธบริษัท  เป็นสถานที่งดงามและเงียบสงัดควรแก่สมณวิสัยเป็นอย่างดี

ครั้นสมเด็จพระชินศรี  พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จถึงกบิลพัสตุ์นคร  บรรดาพระประยูรญาติที่มาสโมสรต้อนรับอยู่ทั่วหน้า  มีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาเป็นประธาน  ต่างแสดงออกซึ่งความเบิกบานตามควรแก่วิสัย  แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปประทับยังพระนิโครธารามพระมหาวิหาร  พระบรมศาสดาจารย์เสด็จขึ้นประทับบนพระบวรพุทธาอาสน์  บรรดาพระสงฆ์ ๒ หมื่น  ต่างก็ขึ้นนั่งบนอาสนะอันมโหฬาร  ดูงามตระการปรากฏสมเกียรติศากยบุตรพุทธชิโนรสบรรดามี

ครั้งนั้น  บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย  มีมานะทิฏฐิอันกล้า นึกละอายใจไม่อาจน้อมประนมหัตถ์ถวายนมัสการพระบรมศาสดาได้  ด้วยดำริว่า  "พระสิทธัตถกุมาร  มีอายุยังอ่อน ไม่ควรแก่ชุลีกรนมัสการ  จึงจัดให้พระประยูรญาติราชกุมาร ที่พระชนมายุน้อยคราวน้อง  คราวบุตรหลานออกไปนั่งอยู่ข้างหน้า  เพื่อจะได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา  ซึ่งเห็นว่าควรแก่่วิสัย  ส่วนพระประยูรญาติผู้ใหญ่พากันประทับนั่งอยู่เบื้องหลังเหล่าพระราชกุมารไม่ประนมหัตถ์  ไม่นมัสการ หรือคารวะแต่ประการใด  ด้วยมานะจิตคิดไปในใจว่าตนแก่กว่า  ไม่ควรจะวันทาพระสิทธัตถกุมาร"

เมื่อพระบรมศาาสดาได้ทรงประสบเหตุ  ทรงพระประสงค์จะให้เกิดสลดจิตคิดสังเวชแก่พระประยูรญาติ ที่มีมานะจิตคิดมมังการ  จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ  ให้ปรากฎประหนึ่งว่าละอองธุลีพระบาทได้หล่นลงตรงเศียรเกล้า แห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย  ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์

ครั้น  พระเจ้าสุทโธทนมหาราชพระพุทธบิดา ได้ทรงเห็นปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์ จึงประนมหัตถ์ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แต่กาลก่อน  เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ได้ ๑ วัน  หม่อมฉันให้พระพี่เลี้ยงนำมาเพื่อนมัสการพระกาลเทวิลดาบส  พระองค์ก็ทรงปาฏิหาริย์ให้ปรากฎขึ้นไปอยู่บนชฎาพระกาลเทวิลอาจารย์  แม้ครั้งนั้นหม่อมฉันก็ได้ถวายนมัสการเป็นปฐม  ต่อมางานพระราชพิธีนิยมประกอบการวัปปมงคลแรกนาขวัญ  พระพี่เลี้ยงนางนมได้นำพระองค์ประทับบรรทมใต้ร่มไม้หว้า ครั้นเวลาบ่าย เงาไม้ก็มิได้ชายไปตามตะวัน  เป็นปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ได้ปรากฎ  แม้ครั้งนั้น  หม่อมฉันก็ได้ประณตนมัสการเป็นคำรบสอง  ควรแก่การสดุดี รวมเป็นสามครั้งกับครั้งนี้  ที่หม่อมฉันได้อัญชลีนมัสการ"


......................................................

จาก......พุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ  พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ ร.บ.)


                   .............................................................

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เสด็จเมืองกบิลพัสตุ์ (ตอนที่ ๑)


ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ  พระพุทธบิดา ณ พระนครกบิลพัสตุ์  เมื่อได้ทรงทราบพระเกียรติคุณของพระสัมพุทธเจ้าฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ  ก็ทรงปีติโสมนัส  ที่พระโอรสของพระองค์ได้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ  สมดังคำพยายากรณ์ของท่านอาจารย์อสิตดาบส  และพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ คน  ทรงตั้งพระทัยคอยเวลาอยู่ว่า  เมื่อใดพระสัมพุทธเจ้าจึงจะเสด็จไปนครกบิลพัสตุ์

ครั้นไม่ได้ข่าววี่แววมาเลยว่า  พระสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ  ก็ทรงร้อนพระทัย  ปรารถนาจะให้พระสัมพุทธเจ้าเสด็จพระนครกบิลพัสตุ์  จึงทรงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารคณะหนึ่ง  ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังเวฬุวันวิหาร  กราบทูลอาราธนาให้เสด็จยังพระนครกบิลพัสตุ์  ครั้นเมื่ออำมาตย์และบริวารคณะนั้นเดินทางจากพระนครกบิลพัตสุ์  ถึงพระนครราชคฤห์  อันมีระยะทาง ๖๐ โยชน์  ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ในเวลาที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่  ได้โอกาสฟังธรรมด้วย  ครั้นฟังธรรมแล้วได้บรรลุพระอรหัตต์ทั้งคณะ  ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษูในพระพุทธศาสนา  ไม่ได้มีโอกาสที่จะกราบทูลความตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงบัญชามา

ครั้นล่วงมาหลายเวลา  พระเจ้าสุทโธทนะเห็นอำมาตย์คณะนั้นหายไป  ก็ทรงส่งอำมาตย์คณะใหม่ออกติดตาม  และกราบทูลความประสงค์ของพระองค์  อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จ  แม้อำมาตย์ราชทูตคณะนี้ก็ได้ฟังธรรมบรรลุมรรผล  และได้อุปสมบทในพระศาสนเช่นอำมาตย์คณะก่อน  พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งอำมาตย์  ไปอาราธนาไม่เป็นผลสมพระทัยดังนี้ถึง  ๙ ครั้ง  ครั้งสุดท้ายทรงน้อยพระทัยรับสั่งเรื่องนี้แก่กาฬุทายีอำมาตย์ผู้ใหญ่  ขอมอบเรื่องให้กาฬุทายีอำมาตย์ ช่วยจัดให้สมพระประสงค์ ด้วยทรงเห็นว่ากาฬุทายีเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่สนิทสนม  เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระสัมพุทธเจ้ามาแต่ก่อน  ทั้งเป็นสหชาติของพระบรมศาสดาด้วย

กาฬุทายีรับสนองพระบัญชาพระจ้าสุทโธทนะว่า  จะพยายามกราบทูลเชิญเสด็จ ให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้  แต่ได้กราบทูลลาอุปสมบทด้วย  เพราะแน่ใจว่า  ตนควรจะได้อุปสมบทในสมัยที่เป็นโอกาสอันดีงามเช่นนี้  แล้วพระเจ้าสุทโธทนะจำต้องพระราชทานให้กาฬุทายี  ตามที่ทูลขอด้วยความเสียดาย  หากแต่ดีพระทัยว่า  กาฬุทายีอำมาตย์จะได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมพุทธเจ้าให้สมประสงค์

ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์  พร้อมด้วยบริวาร  เดินทางมาถึงพระนครราชคฤห์  ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร  ได้สดับพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตต์พร้อมด้วยบริวาร  แล้วทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุด้วยกันสิ้น  เมื่อพระกาฬุทายีเถรบวชแล้วได้  ๘  วัน  ก็พอสิ้นเหมันตฤดู  จะย่างขึ้นฤดูคิมหันต์  ถึงวันผคุณมาสปุรณมี  คืนวันเพ็ยเดือน  ๔  พอดี (นับแต่เสด็จจากป่าอิสิปตนมิคทายวัน ถึงวันนี้  เป็นเวลา ๔ เดือน  คืออยู่ทรมานอุรุเวลกัสสสปะ ที่อุรุเวลาเสนานิคม ๒ เดือน  อยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน ๒ เดือน)

พระเถรเจ้ากาาฬุทายีจึงดำริว่า  พรุ่งนี้ก็เป็นเวลาย่างเข้าฤดูร้อน  บรรดาเหล่าชาวกสิกรทั้งหลายก็เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ  มรรคที่จะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสตุ์ก็สะดวกสบาย  พฤกษชาติที่เกิดเรี่ยรายอยู่ริมทางก็ให้ความร่มเย็นเป็นอย่างดี  สมควรที่พระชินศรีบรมศาสดาจะสเด็จดำเนินไปกรุงกบุลพัสตุ์  แสดงธรรมโปรดพระมหากษัตริย์สุทโธทนะพระพุทธบิดา  ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ศากยราช  ดำริแล้วพระเถรเจ้าก็เข้าเฝ้าพระบรมโลกนาถยังพระคันธกุฎี  ทูลสรรเสริญมรรคาทางไปกบิลพัสตุ์บุรี  ก็มีร่มไม้ได้พักร้อนเป็นที่รื่นรมย์ตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์  หากพระองค์จะทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์  โปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสตุ์นคร  ก็จะเป็นที่สำราญพระกายไม่ต้องรีบร้อนยามเสด็จพระพุทธลีลา  ตลอดพระสงฆ์สาวกที่จะติดตามพระบาทา  ก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำท่าและกระยาหาร  ด้วยตามระยะทางมีโคจรคามเป็นภิกษาจารตลอดสาย

                                                             
                               ------------------------------

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โปรดอัครสาวก (ตอนที่ ๕)


ครั้นสองสหายตกลงกันแล้ว  ก็พากันเข้าไปหาท่านสญชัยอาจารย์  บอกให้ทราบว่า  "บัดนี้  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก  ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วนั้น  เป็นนิยานอกธรรม  สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์โดยชอบจริง  พระสงฆ์สาวกก็ปฏิบัติชอบด้วยสุปฏิบัติ  ท่านอาจารย์จงมาร่วมกัน  ไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า  ยังพระเวฬุวันสถานนั้นเถิด"

ท่านสญชัยปริพพาชกจึงกล่าวห้ามว่า  "ใยท่านทั้งสองจึงมาเจรจาเช่นนี้  เรามีลาภยศใหญ่ยิ่ง  เป็นเจ้าสำนักใหญ่โตถึงเพียงนี้แล้ว  ยังควรจะเป็นศิษย์ของใครในสำนักใดเอีกเล่า ฦ"  แต่แล้วก็คิดว่า  อุปติสสะและโกลิตะ ทั้งสองนี้เป็นคนดีมีปัญญาสามารถ  น่าที่จะบรรลุโมกขธรรมตามที่ปรารถนายิ่งนักแล้ว  คงจะไม่ฟังคำห้ามปรามของตน  จึงกล่าวใหม่ว่า  "ท่านทั้งสองจงไปเถิด  เราเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยถึงความชราแล้ว  ไม่อาจจะไปเป็นศิษย์ผู้ใดได้ดอก"

"ท่านอาจารย์อย่ากล่าวดังนั้นเลย"  สหายทั้งสองวิงวอน  "ไม่ควรที่ท่านอาจารย์จะคิดเช่นนั้น  เมื่อพระสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น  ดังดวงอาทิตย์อุทัยให้ความสว่างแล้ว  คนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมของพระสัมพุทธเจ้า  แล้วท่านอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร"

"พ่ออุปติสสะ  ในโลกนี้ คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก ฦ"  สญชัยปริพพาชกถามอย่างมีทางเลี่ยง  แต่อุปติสสะตอบตรง ๆ  โดยความเคารพว่า  "คนโง่ซิมาก  ท่านอาจารย์  คนฉลาดมีปัญญาสามารถจะมีสักกี่คน"

"จริง ! อย่างพ่ออุปติสสะพูด"  สญชัยปริพพาชกกล่าวอย่างละเมียดละไม  "คนฉลาดมีน้อย  คนโง่มีมาก  อุปติสสะ   เพราะเหตุนี้แหละเราจึงไม่ได้ไปด้วยท่าน  เราจะอยู่ในสำนักของเรา  อยู่ต้อนรับคนโง่  คนโง่อันมีปริมาณมาก  จะมาหาเรา  ส่วนคนฉลาดจะไปหาพระสัมพุทธเจ้า  ดังนั้น  ท่านทั้งสองจงไปเถิด  เราไม่ไปด้วยแล้ว"

แม้สหายทั้งสองจะพูดหว่านล้อมสญชัยปริพพาชกด้วยเหตุผลใด ๆ  ก้ไม่สามาถจจะโน้มน้าวจิตใจของสญชัยปริพพาชกให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาได้  อุปติสสะและโกลิตะจึงชวนปริพพาชก  ผู้เป็นบริวารของตนจำนวน ๒๕๐ คน  ลาอาจารย์สญชัยไปเฝ้าพระบรมศาสดา  ยังพระเวฬุวันวิหาร

ขณะนั้น  เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔  เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอุปติสสะและโกลิตะพาบริษัทของตน  ตรงเข้ามาเฝ้าแต่ไกลเช่นนั้น  จึงรับสั่งว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  โน่น !  ดูอัครสาวกของตถาคตมาแล้ว  พาบริวารของเธอมาให้ตถาคตด้วย"  เมื่อปริพพาชกทั้งหลายเข้ามาเฝ้าแล้ว  พระบรมศาสดาก็แสดงธรรมโดยควรแก่อุปนิสัยของปริพพาชกเหล่านั้น  ครั้นจบพระธรรมเทศนา  ปริพพาชกทั้งหมด  เว้นอุปติสสะและโกลิตะได้บรรลุอรหัตผลด้วยกันสิ้น

สหายทั้งสอง  จึงพาบริษัทของตนทั้งหมด  เข้ากราบทูลขอประทานอุปสมบท  สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ปริพพาชกทั้ง ๒๕๐  คนนั้น  เป็นภิกษุในพุทธศาสนา แล้วตรัสเรียกชื่อสหายทั้งสองนั้นตามนามของมารดา  คือ รับสั่งเรียก  อุปดิสสะ  เป็นบุตรของนางสารีพราหมณีว่า  สารีบุตร  รับสั่งเรียก  โกลิตะ  ผู้เป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณีว่า โมคคัลลานะ  อาศัยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงรับสั่งเรียกท่านทั้งสองเช่นนั้นในท่ามกลางบริาษัท ๔  พุทธบริษัทจึงนิยมเรียกท่านตามชื่อ ที่ได้รับพระมหากรุณาประทานใหม่ตลอดอายุของท่าน  และนิยมเรียกมาจนบัดนี้

ฝ่ายพระโมคคัลลานะ  อุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน  หลีกไปทำความเพียรอยู่ในเสนาสนะป่า  ใกล้บ้านกัลลวาละมุตตคาม ในแคว้นมคธ  ความง่วงครอบงำนั่งโงกอยู่  พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่้น  ตรัสบอกอุบายระงับความง่วงให้อันตรธานแล้ว  ทรงประทานโอวาทในธาตุกัมมัฏฐาน  พระโมคคัลลานะได้สดับแล้วปฏิบัติตาม  ก็ได้บรรลุพระอรหัตในวันนั้น

ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน  ตามพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ถ้ำสุกรชาตา  ใกล้กรุงราชคฤห์  ได้สดับพระธรรมเทศนา เวทนาปริคคหสูตร ซึ่งพระบรมศาสดาทรงแสดงแก่ปริพพาชกชื่อว่า  ทีฆนขะอัคคิเวสนโคตร ผู้เป็นหลานของพระเถรเจ้า  พระเถรเจ้าตั้งใจกำหนดพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น  ก็ได้บรรลุพระอรหัต  ส่วนทีฆนขะปริพพาชกได้ตั้งอยู่ในโสตาปัตติผล

ในกาลนั้น  พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งพระเถระเจ้าทั้งสอง  ไว้ในตำแหน่งคู่แห่งอัครสาวก  คือ  พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา  พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย

เนื่องจาก  วันที่พระสารีบุตรเถรเจ้า  ได้บรรลุพระอรหัตเป็นวันมาฆปุรณมี  เพ็ญเดือน ๓ เวลาบ่าย  พระบรมศาสดาเสด็จประทับที่พระเวฬุวัน  พระอรหันต์ขีณาสพ จำนวน ๑,๒๕๐ องค์  คือ พระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ  พระนทีกัสสปเถระ  พระคยากัสสปเถระ  รวม ๑,๐๐๐ องค์  กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารุบุตรเถระ  พระโมคคัลลานะเถระรวม ๒๕๐  องค์  รวมทั้งสองคณะเป็น ๑,๒๕๐ องค์  ได้พร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา  พระองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี  จึงได้เสด็จในท่ามกลางพระสงฆ์  ๑,๒๕๐  องค์นั้น  แสดงโอวาทปาฏิโมกข์  ทรงทำวิสุทธิอุโบสถประทานธรรมอันเป็นหลักแห่งพระศาสนา  เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป.

........................................

จาก.....หนังสือพุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ....พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ ร.บ.)