วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระเทวทัต ทำสังฆเภท


ภายหลัง  พระเทวทัตปรารถนาจะเลี้ยงชีพด้วยโกหัญญกรรม  คือ  การหลอกลวงสืบไป  เพื่อจะแสดงว่าตนเป็นผู้เคร่งครัด  ได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา  ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ  เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติโดยเคร่งครัด  คือ .-

  1. ให้อยู่ในเสนาสนะป่า                         เป็นวัตร
  2. ให้ถือบิณฑบาต                                เป็นวัตร
  3. ให้ทรงผ้าบังสุกุล                              เป็นวัตร
  4. ให้อยู่โคนไม้                                    เป็นวัตร
  5. ให้งดฉันมังสาหาร                            เป็นวัตร
ในวัตถุทั้ง  ๕  ภิกษุรูปใด  จะปฏิบัติข้อใด  ให้ถือข้อนั้นโดยเคร่งครัด  คือ ให้สมาทานเป็นวัตร  ปฏิบัติโดยส่วนเดียว

พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต  ตรัสว่า  "ไม่ควร  ควรให้ปฏิบัติได้ตามแต่ศรัทธา"  ด้วยทรงเห็นว่า  ยากแก่การปฏิบัติ  เป็นการเกินพอดีไม่เป็นทางสายกลางสำหรับบุคคลทั่วไป

พระเทวทัตโกรธแค้น  ไม่สมประสงค์  กล่าวยกโทษพระบรมศาสดาประกาศว่า  คำสอนของตนประเสริฐกว่า  ทำให้ภิกษุที่บวชใหม่มีปัญญาน้อยหลงเชื่อ  ยอมตนเข้าเป็นสาวก  ครั้นพระเทวทัตได้ภิกษุยอมเข้าเป็นบริษัทของตนบ้างแล้ว  ก็พยายามทำสังฆเภท  แยกจากพระบรมศาสดา

เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบ  ก็ได้โปรดให้หาพระเทวทัตมาเฝ้ารับสั่งถาม  พระเทวทัตก็ทูลตามความสัตย์   จึงทรงตรัสพระพุทธโอวาทห้ามปรามว่า  "ดูกรเทวทัต  ท่านอย่าพึงทำเช่นนั้น  อันสังฆเภท  นี้เป็นครุกรรมใหญ่หลวงนัก"  พระเทวทัตมิได้เอื้อเฟื้อในพระโอวาท ไปจากที่นั้น  พบพระอานนท์ในพระนครราชคฤห์  ได้บอกความประสงค์ของตนว่า  "ท่านอานนท์  จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป  ข้าพเจ้าจากพระบรมศาสดา  ข้าพเจ้าจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง  ข้าพเจ้าจะทำอุโบสถ์สังฆกรรมเป็นการภายในแต่พวกของเราเท่านั้น"

พระอานนท์ได้นำความนั้น  มากราบทูลพระบรมศาสดา  เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้ว  ก็บังเกิดธรรมสังเวช ทรงพระดำริว่า  "พระเทวทัตจะกระทำอนันตริยกรรม  อันจะนำตัวให้ไปไหม้ทนทุกข์อยู่ในอเวจีมหานรก" แล้วทรงอุทานว่า  "กรรมใด  ไม่ดีด้วย  ไม่เป็นประโยชน์ด้วย  กรรมนั้นทำได้ง่าย  ส่วนกรรมใด  ดีด้วย  มีพระโชน์ด้วย  กรรมนั้น  ทำได้ยากยิ่งนัก"

ในที่สุด  พระเทวทัตก็ประชุมภิกษุ  ส่วนมากเป็นชาววัชชี  บวชใหม่  ในโรงอุโบสถ  ประกาศทำสังฆเภท  จักรเภท  แยกออกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง  แล้วพาภิกษุเหล่านั้นไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ

ครั้นพระบรมศาสดาได้ทราบเหตุนั้นแล้ว  ทรงดำรัสให้พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานเถระ  ไปนำภิกษุพวกนั้นกลับ อัครสาวกทั้งสองรับพระบัญชาแล้ว  ไปที่คยาสีสะประเทศนั้น  แนะนำพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นให้กลับใจด้วยอำนาจปาฏิหาริย์  ทั้งอาเทศนา  อนุสาสนีและอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ให้ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอมตธรรม  แล้วภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา

พระโกกาลิกะ  ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัต  มีความโกรธกล่าวโทษแก่พระเทวทัต  ที่ไปคบค้าด้วยพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ  ให้พระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุทั้งหลายกลับไปหมดสิ้น  แล้วประหารพระเทวทัตที่ทรวงอก  ด้วยเท้าอย่างแรง  ด้วยกำลังโทสะ  เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัส  ถึงอาเจียนเป็นโลหิต  ได้รับความทุกขเวทนากล้า

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครราชคฤห์  ไปประทับยังพระเชตวันวิหาร  พระนครสาวัตถีแล้ว  ต่อมาพระเทวทัตก็อาพาธหนักลงไม่ทุเลาถึง ๙ เดือน  กลับหวนคิดถึงพระบรมศาสดา  ใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย  ด้วยแน่ใจในชีวิตสังขารของตน  คงจะดับสูญในกาลไม่นานนี้เป็นแน่แท้  จึงได้ขอร้องให้ภิกษุที่เป็นสาวกของตน  ให้ช่วยพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

ภิกษุพวกนั้นกล่าวว่า  "ท่านอาจารย์เป็นเวรอยู่กับพระบรมศาสดาหนักนัก  ข้าพเจ้าทั้งหลาย  หาอาจพาไปเฝ้าได้ไม่"

พระเทวทัตจึงกล่าวว่า  "ท่านทั้งปวงอย่าให้เราพินาศฉิบหายเสียเลย  แม้เราจะได้ทำเวรอาฆาตให้พระผู้มีพระภาค  แต่พระผู้มีพระภาคจะได้อาฆาตตอบเราแม้แต่น้อยหนึ่งก็มิได้มี  เราจะไปขมาโทษ  ขอให้พระองค์อดโทษให้สิ้นโทษ  เพราะปกติน้ำพระทัย  พระผู้มีพระภาคเปี่ยมด้วยพระกรุณา  ทรงพระการุญในพระเทวทัตก็ดี  ในองคุลีมาลโจรก็ดี  ในช้างนาฬาคีรีก็ดีและในพระราหุลผู้เป็นพระโอรสก็ดีเสมอกัน"  เหตุนั้นพระเทวทัตจึงขอร้องวิงวอนแล้ว ๆ  เล่า ๆ  ให้ภิกษุผู้เป็นศิษย์ช่วยนำตัวไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

บรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์มีความสงสาร  จึงพร้อมกันยกพระเทวทัตขึ้นนอนบนเตียง  แล้วช่วยกันหามมา ตั้งแต่เมืองราชคฤห์  จนถึงเมืองสาวัตถี

ครั้นพระสงฆ์ทั้งหลายรู้ข่าว   จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา  พระองค์ตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  พระเทวทัตได้ทำกรรมหนัก  ไม่อาจเห็นตถาตในอัตภาพนี้ได้เลย"  แม้ภิกษุทั้งหลายจะได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะ  ๆ  หลายหน  ถึงครั้งสุดท้าย  พระเทวทัตถูกหามมาใกล้พระเชตวันวิหารแล้ว  พระผู้มีพระภาค  ก็ยังทรงรับสั่งเช่นเดิมอยู่อย่างนั้นอีกว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  แม้พระเทวทัตจะเข้ามในพระเชตวัน  พระเทวทัตก็จะไม่ได้เห็นตถาคตเป็นแน่แท้"

...............................














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น