วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระพุทธบิดาเสด็จนิพพาน


ในกาลนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่  ณ  กูฏาคารศาลา  ป่ามหาวัน
ใกล้พระนครไพศาลี  ทรงทราบว่า  พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาซึ่งประทับ
อยู่กบิลพัสดุ์นคร  ทรงประชวรหนัก  อาศัยที่ทรงสมบูรณ์ด้วยพระกตัญญูกต
เวทิตาธรรมจึงเสด็จไปเยี่ยมพระพุทธบิดา  พร้อมด้วยพระสาวกเป็นอันมาก
ทรงบำเพ็ญปิตุปัฏฐานธรรมถวายการพยาบาลตามพุทธวิสัย

ขณะนั้น พระเจ้าสุทโธทนะ  ได้รับการบีบคันจากอาพาธกล้า  เกิดทุกขเวทนา
ยิ่งนักมีพระอาการทุรนทุรายหมดสติ  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ตั้งพระทัย
อธิษฐานจิตบำบัดโรคาพาธ  แล้วทรงลูบลงที่พระเศียรพระเจ้าสุทโธทนะ
ขณะนั้นอาพาธกล้าก็ทุเลาลงด้วยพระบารมี  พระอานนทเถรเจ้ายกพระหัตถ์ลูบ
ที่พระหัตถ์เบื้องขวาอาพาธกล้าข้างขวาก็ทุเลาลง  พระอานนทเถรเจ้า  ยกพระหัตถ์
ลูบที่พระหัตถ์เบื้องซ้าย  อาพาธกล้าข้างซ้ายก็ทุเลาลง  พระราหุลเถรเจ้ายก
พระหัตถ์ลูบที่พระปฤษฎางค์อาพาธกล้าที่พระกายก็ทุเลาลง  พระเจ้าสุทโธทนะ
ทรงพระสำราญพระกายคลายความทุกขเวทนาอันสาหัส  ทรงลุกขึ้นประทับ
นั่งถวายบังคมพระบรมศาสดา  ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
ที่เสด็จมาทรงอนุเคราะห์

พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา  โปรดให้พระพุทธบิดาบรรลุ
พระอรหัตผล  แต่ด้วยพระเจ้าสุทโธทนะทรงพิจารณาเห็นชนมายุของ
พระองค์ถึงอวสานสุดสิ้นเพียงนั้นแล้ว  ก็ทูลลาพระบรมศาสดาเสด็จนิพพาน
และลาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสิ้นด้วยกันแล้ว  พระองค์ก็เสด็จนิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน

พระบรมศาสดาทรงเคารพในขัตติยประเพณีนิยม  ทรงเป็นประธานอำนวย
การพระศพในฐานะที่พระองค์เป็นพระโอรสและเป็นพระญาติผู้ใหญ่
จึงโปรดให้พระมหากัสสปเถรเจ้าไปตรวจที่ประดิษฐานจิตกาธาน
เพื่อถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธบิดา  ตามขัตติยประเพณี  เมื่อเจ้าพนักงาน
อัญเชิญพระศพไปประดิษฐาน ณ  พระจิตกาธาน  ที่จัดถวายสมพระเกียรติของ
พระมหากษัตริย์  บรรดาพระประยูรญาติทั้ง ๖ พระนคร  คือ  เมืองกบิลพัสดุ์ ๑
เมืองเทวทหะ ๑   เมืองโกลิยะ ๑   เมืองสักกะ ๑   เมืองสุปวาสะ ๑  เมืองเวรนคร ๑
ก็ประชุมกันบำเพ็ญกุศลมหายัญญ์อุทิศถวายด้วยความเคารพ
และความอาลัยอย่างยิ่ง

ครั้นได้เวลา พระศาสดาก็ทรงประทานจุดเพลิงถวายพระศพพระพุทธบิดา
บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย  พากันโศกเศร้าพิลาปไห้ปริเทวนาการ
พระบรมศาสดาจารย์ก็ทรงตรัสธรรมีกถาเล้าโลมระงับความเศร้าโศก
แห่งมหาชนโดยควรแก่อุปนิสัย.


.....................................

พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นพุทธมามกะ



ภายหลัง  พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้สึกในความผิดของพระองค์  ทรงเดือดร้อนพระทัย
จึงโปรดให้หมอชีวกโกมารภัจจ์พาพระองค์ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค  ซึ่งประทับอยู่
ที่พระวิหารกลม  ในชีวกัมพวนาราม  ครั้นได้สดับพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้ว
ทรงเลื่อมใส  ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ  เป็นพุทธมามกะ  และทรงเป็นกำลัง
อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาต่อไป.


......................................

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ


เมื่ออันเตวาสิกทั้งหลาย  หามพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณี  ซึ่งอยู่นอกพระเชตวันวิหาร  จึงวางเตียงลงในที่ใกล้สระ  แล้วก็ชวนกันลงอาบน้ำในสระนั้น  ส่วนพระเทวทัตก็ลุกขึ้นนั่งอยู่บนเตียง  ห้อยเท้าทั้งสองถึงพื้นดิน  ประสงค์จะเหยียบยันกายขึ้นยืนบนพื้นปฐพี  ในขณะนั้นพื้นปฐพีก็แยกออกเป็นช่อง  สูบเอาเท้าทั้งสองของพระเทวทัตลงไปในแผ่นดินโดยลำดับ  พระเทวทัตได้จมหายไปในภาคพื้น  ตราบเท่าถึงคอและกระดูกคาง  วางอยู่บนพื้นปฐพี

ในเวลานั้น  พระเทวทัตได้กล่าวคาถาสรรเสริฐบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  "พระผู้มีพระภาค  เป็นอัครบุรุษ  ยอดแห่งมนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย  พระองค์เป็นสารถีฝึกบุรุษอันประเสริฐ  พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยบุญญลักษณ์ถึงร้อย  และบริบูรณ์ด้วยสมันตจักษุญาณ  หาที่เปรียบมิได้  ข้าพระองค์  ขณะนี้มีเพียงกระดูกคางและศีรษะ  กับลมหายใจเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว  ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ"

พอสิ้นเสียงแห่งคำนี้เท่านั้น  ร่างพระเทวทัตก็จมหายลงไปในพื้นปฐพี  ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก  ด้วยบาปไม่เคารพในพระรัตนตรัย  ประทุษร้ายในพระบรมศาสดา  ทำสังฆเภท  อันเป็นอนันตริยกรรม

ข่าวพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ  เป็นข่าวใหญ่เกรียวกราว  ได้แพร่สะพัดไปในชาวนครสาวัตถี  ไม่นานก็รู้กันทั่วกรุง  โจษจันกันไปทั่วชุมนุมชน  ด้วยเพิ่งจะรู้เพิ่งจะได้ยิน  เพิ่งจะปรากฎ  ผู้หนักในธรรมก็สังเวชสลดใจ  คนใจบุญก็สะดุ้งต่อบาป  เห็นบาปเป็นภัยใหญ่หลวง  คนที่เกลียดชังพระเทวทัต  ก็พากันดีใจโลดเต้นสาปแช่ง  สมน้ำหน้าพระเทวทัตหนักขึ้น

ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  "บัดนี้  พระเทวทัตไปบังเกิดในที่ไหน"  พระบรมศาสดาตรัสว่า  "ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก  ภิกษุทั้งหลาย  คนทำบาป  ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้  เมื่อละจากโลกนี้ไปโลกอื่นย่อมทวีความเดือดร้อนยิ่งขึ้น"


....................................

วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระเทวทัต ทำสังฆเภท


ภายหลัง  พระเทวทัตปรารถนาจะเลี้ยงชีพด้วยโกหัญญกรรม  คือ  การหลอกลวงสืบไป  เพื่อจะแสดงว่าตนเป็นผู้เคร่งครัด  ได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา  ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ  เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติโดยเคร่งครัด  คือ .-

  1. ให้อยู่ในเสนาสนะป่า                         เป็นวัตร
  2. ให้ถือบิณฑบาต                                เป็นวัตร
  3. ให้ทรงผ้าบังสุกุล                              เป็นวัตร
  4. ให้อยู่โคนไม้                                    เป็นวัตร
  5. ให้งดฉันมังสาหาร                            เป็นวัตร
ในวัตถุทั้ง  ๕  ภิกษุรูปใด  จะปฏิบัติข้อใด  ให้ถือข้อนั้นโดยเคร่งครัด  คือ ให้สมาทานเป็นวัตร  ปฏิบัติโดยส่วนเดียว

พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต  ตรัสว่า  "ไม่ควร  ควรให้ปฏิบัติได้ตามแต่ศรัทธา"  ด้วยทรงเห็นว่า  ยากแก่การปฏิบัติ  เป็นการเกินพอดีไม่เป็นทางสายกลางสำหรับบุคคลทั่วไป

พระเทวทัตโกรธแค้น  ไม่สมประสงค์  กล่าวยกโทษพระบรมศาสดาประกาศว่า  คำสอนของตนประเสริฐกว่า  ทำให้ภิกษุที่บวชใหม่มีปัญญาน้อยหลงเชื่อ  ยอมตนเข้าเป็นสาวก  ครั้นพระเทวทัตได้ภิกษุยอมเข้าเป็นบริษัทของตนบ้างแล้ว  ก็พยายามทำสังฆเภท  แยกจากพระบรมศาสดา

เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบ  ก็ได้โปรดให้หาพระเทวทัตมาเฝ้ารับสั่งถาม  พระเทวทัตก็ทูลตามความสัตย์   จึงทรงตรัสพระพุทธโอวาทห้ามปรามว่า  "ดูกรเทวทัต  ท่านอย่าพึงทำเช่นนั้น  อันสังฆเภท  นี้เป็นครุกรรมใหญ่หลวงนัก"  พระเทวทัตมิได้เอื้อเฟื้อในพระโอวาท ไปจากที่นั้น  พบพระอานนท์ในพระนครราชคฤห์  ได้บอกความประสงค์ของตนว่า  "ท่านอานนท์  จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป  ข้าพเจ้าจากพระบรมศาสดา  ข้าพเจ้าจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง  ข้าพเจ้าจะทำอุโบสถ์สังฆกรรมเป็นการภายในแต่พวกของเราเท่านั้น"

พระอานนท์ได้นำความนั้น  มากราบทูลพระบรมศาสดา  เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้ว  ก็บังเกิดธรรมสังเวช ทรงพระดำริว่า  "พระเทวทัตจะกระทำอนันตริยกรรม  อันจะนำตัวให้ไปไหม้ทนทุกข์อยู่ในอเวจีมหานรก" แล้วทรงอุทานว่า  "กรรมใด  ไม่ดีด้วย  ไม่เป็นประโยชน์ด้วย  กรรมนั้นทำได้ง่าย  ส่วนกรรมใด  ดีด้วย  มีพระโชน์ด้วย  กรรมนั้น  ทำได้ยากยิ่งนัก"

ในที่สุด  พระเทวทัตก็ประชุมภิกษุ  ส่วนมากเป็นชาววัชชี  บวชใหม่  ในโรงอุโบสถ  ประกาศทำสังฆเภท  จักรเภท  แยกออกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง  แล้วพาภิกษุเหล่านั้นไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ

ครั้นพระบรมศาสดาได้ทราบเหตุนั้นแล้ว  ทรงดำรัสให้พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานเถระ  ไปนำภิกษุพวกนั้นกลับ อัครสาวกทั้งสองรับพระบัญชาแล้ว  ไปที่คยาสีสะประเทศนั้น  แนะนำพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นให้กลับใจด้วยอำนาจปาฏิหาริย์  ทั้งอาเทศนา  อนุสาสนีและอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ให้ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอมตธรรม  แล้วภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา

พระโกกาลิกะ  ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัต  มีความโกรธกล่าวโทษแก่พระเทวทัต  ที่ไปคบค้าด้วยพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ  ให้พระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุทั้งหลายกลับไปหมดสิ้น  แล้วประหารพระเทวทัตที่ทรวงอก  ด้วยเท้าอย่างแรง  ด้วยกำลังโทสะ  เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัส  ถึงอาเจียนเป็นโลหิต  ได้รับความทุกขเวทนากล้า

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครราชคฤห์  ไปประทับยังพระเชตวันวิหาร  พระนครสาวัตถีแล้ว  ต่อมาพระเทวทัตก็อาพาธหนักลงไม่ทุเลาถึง ๙ เดือน  กลับหวนคิดถึงพระบรมศาสดา  ใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย  ด้วยแน่ใจในชีวิตสังขารของตน  คงจะดับสูญในกาลไม่นานนี้เป็นแน่แท้  จึงได้ขอร้องให้ภิกษุที่เป็นสาวกของตน  ให้ช่วยพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

ภิกษุพวกนั้นกล่าวว่า  "ท่านอาจารย์เป็นเวรอยู่กับพระบรมศาสดาหนักนัก  ข้าพเจ้าทั้งหลาย  หาอาจพาไปเฝ้าได้ไม่"

พระเทวทัตจึงกล่าวว่า  "ท่านทั้งปวงอย่าให้เราพินาศฉิบหายเสียเลย  แม้เราจะได้ทำเวรอาฆาตให้พระผู้มีพระภาค  แต่พระผู้มีพระภาคจะได้อาฆาตตอบเราแม้แต่น้อยหนึ่งก็มิได้มี  เราจะไปขมาโทษ  ขอให้พระองค์อดโทษให้สิ้นโทษ  เพราะปกติน้ำพระทัย  พระผู้มีพระภาคเปี่ยมด้วยพระกรุณา  ทรงพระการุญในพระเทวทัตก็ดี  ในองคุลีมาลโจรก็ดี  ในช้างนาฬาคีรีก็ดีและในพระราหุลผู้เป็นพระโอรสก็ดีเสมอกัน"  เหตุนั้นพระเทวทัตจึงขอร้องวิงวอนแล้ว ๆ  เล่า ๆ  ให้ภิกษุผู้เป็นศิษย์ช่วยนำตัวไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

บรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์มีความสงสาร  จึงพร้อมกันยกพระเทวทัตขึ้นนอนบนเตียง  แล้วช่วยกันหามมา ตั้งแต่เมืองราชคฤห์  จนถึงเมืองสาวัตถี

ครั้นพระสงฆ์ทั้งหลายรู้ข่าว   จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา  พระองค์ตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  พระเทวทัตได้ทำกรรมหนัก  ไม่อาจเห็นตถาตในอัตภาพนี้ได้เลย"  แม้ภิกษุทั้งหลายจะได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะ  ๆ  หลายหน  ถึงครั้งสุดท้าย  พระเทวทัตถูกหามมาใกล้พระเชตวันวิหารแล้ว  พระผู้มีพระภาค  ก็ยังทรงรับสั่งเช่นเดิมอยู่อย่างนั้นอีกว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  แม้พระเทวทัตจะเข้ามในพระเชตวัน  พระเทวทัตก็จะไม่ได้เห็นตถาคตเป็นแน่แท้"

...............................














วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระเทวทัตปล่อยช้างนาฬาคีรี


ครั้งที่สาม  พระเทวทัตให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี  ช้างพระที่นั่งกำลังซับมันดุร้าย  เพื่อให้ทำอันตรายพระชนม์ชีพพระบรมศาสดาในเวลาเสด็จออกมาบิณฑบาตในเวลาเช้า  แต่ช้างนาฬาคีรีก็ไม่ทำร้ายพระองค์

ครั้งนั้น  พระอานนท์เถรเจ้า   มากด้วยความกตัญญู  สละชีวิตถวายเป็นพุทธบูชา  โดยกลัวว่าช้างนาฬาคีรีจะทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้า  จึงได้ออกไปยืนกั้นหน้าช้างนาฬาคีรีไว้  เพื่อให้ช้างทำลายชีวิตท่าน ปรารถนาจะป้องกันพระบรมศาสดา  ในทันใดนั้น  พระบรมศาสดาได้ทรงทรมานช้างนาฬาคีรีให้หมดพยศร้ายกาจ  หมอบยอบกายเข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา  ฟังพระบรมศาสดาตรัสสอน  แล้วเดินกลับเข้าสู่โรงช้าง  ด้วยอาการอันสงบปรากฏแก่มหาชนที่ประชุมกันดูอยู่เป็นอันมาก  เป็นมหาอัศจรรย์

ครั้นพระผู้มีพระภาคพาพระสงฆ์ไปยังพระเวฬุวันวิหาร  จัดมหาทานถวาย  ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว พระบรมศาสดาได้ตรัสอนปุพพิกถาอนุโมทนา

เมื่อได้ทรงสดับคำของมหาชนพรรณนาถึงคุณของพระอานนทเถรเจ้า  ที่ได้สละชีวิตออกไปยืนกั้นช้างนาฬาคีรี  สมเด็จพระชินศรีจึงประทานพระธรรมเทศนามหาหังสชาดก  และจุลลหังสชาดก  ยกคุณของพระอานนทเถรเจ้าที่ได้สละชีวิตถวายพระองค์  แม้ในอดีตชาติ

แท้จริง  การที่พระเทวทัตเกิดมีจิตบาปหยาบช้าลามก  ทำร้ายพระบรมศาสดามาก่อนนั้นก็ดี  แนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารก็ดี  มิสู้จะปรากฏแพร่หลายนัก  ต่อเมื่อปล่อยช้างนาฬาคีรีให้ประทุษร้ายพระบรมศาสดาครั้งนั้นแล้ว  ความชั่วร้ายแต่หนหลังของพระเทวทัตก็ปรากฏทั่วไป  ชาวพระนครราชคฤห์พากันโพนทนากันโกลาหลว่า  พระเทวทัตคบคิดด้วยพระเจ้าอชาตศรัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารทำร้ายพระสัมพุทธเจ้า  ทำกรรมชั่วช้าลามกสิ้นดี

ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงสดับข่าวติฉินร้ายแรงเช่นนั้น  ก็ละอายพระะทัย  จึงเลิกโรงทานที่จัดอาหารบำรุงพระเทวทัตและศิษย์ของพระเทวทัตเสียสิ้น   ทั้งไม่เสด็จไปหาพระเทวทัตเหมือนแต่กอ่น  แม้ชาวเมืองทั้งหลายก็ไม่ศรัทธาเสื่อมใส  ไม่พอใจถวายการบำรุง  แม้พระเทวทัตจะไปสู่บ้านเมืองใด ๆ  ก็ไม่มีใครต้อนรับ  เพียงแต่อาหารทัพพีหนึ่งก็ไม่ได้  พระเทวทัตได้เสื่อมเสียจากลาภสักการะทั้งปวง.


.........................................

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระบิดา




เมื่อพระอชาตสัตตุราชกุมารยังเยาว์พระวัย  พระทัยเบาหลงเชื่อถ้อยคำของพระเทวทัต  จึงทรงทำปิตุฆาต  ปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์พระเจ้าพิมพิสารพระชนกนาถ  ให้อภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สำเร็จดังปรารถนา

พระเทวทัตได้พยายามทำร้ายพระบรมศาสดา  โดยคบคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นการใหญ่  ครั้งหนึ่ง ได้ใช้ให้นายขมังธนูทั้งหลาย  เข้าไปทำอันตรายยิงพระบรมศาสดา  แต่นายขมังธนูกลับมีจิตศรัทธาสดับพระธรรมเทศนาได้บรรลุโสดาปัตติผลด้วยกันสิ้น.


.....................................



พระเทวทัต
กลิ้งศิลาทำร้ายพระพุทธเจ้า

ครั้งที่สอง  พระเทวทัตลอบขึ้นไปบนภูเขาคิชกูฏ  กลิ้งก้อนศิลาใหญ่ลงมา  หวังจะให้ประหารพระบรมศาสดาในเวลาเสด็จขึ้น  ก็ไม่อาจทำอันตรายพระบรมศาสดาได้  เป็นเพียงสะเก็ดศิลาได้กระเด็นไปกระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต  นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว  ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นนาถะของโลก เป็นพระบรมครูของเทพยดาและมวลมนุษญ์  ต้องประสบอันตรายถึงเสียพระโลหิตจากพระกาย  เพราะพระเทวทัตกระทำอนันตริยกรรมพุทธโลหิตุบาท


.........................................




วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ศากยราช ๖ พระองค์ออกบวช (ตอน ๒)


เมื่อคิดดังนี้แล้ว  ก็เกิดตัณหาในลาภสักการะเข้าครอบงำจิต  คิดใคร่จะได้ลาภสักการะ  สัมมานะ เคารพนับถือ  แล้วก็คิดต่อไปว่า  เราจะทำบุคคลผู้ใดให้เลื่อมใสกราบไหว้บูชาดีหนอ  จึงจะบังเกิดลาภสักการะ  ครั้นคิดต่อไปก็มองเห็นอุบายทันทีว่า  พระอชาตสัตตุราชกุมาร  พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารนั้น  ยังทรงพระเยาว์  ยังไม่รอบรู้คุณและโทษแห่งบุคคลใด  ๆ  ควรจะไปคบหาด้วยกับพระราชกุมารนั้นเถิด
ลาภสักการะก็จะพลันบังเกิดเป็นอันมาก

ครั้นดำริดังนั้นแล้ว  ก็หลีกจากเมืองโกสัมพีไปสู่เมืองราชคฤห์  แล้วนิรมิตกายเป็นกุมารน้อย  เอาอสรพิษ ๔ ตัว  ทำเป็นอาภรณ์ประดับมือและเท้าขดทำเป็นเทริดบนศีรษะ ๑ ตัว  ทำเป็นสังวาลพันกาย ๑ ตัว สำแดงปาฏิหาริย์ด้วยปุถุชนฤทธิ์ของตน  ลอยลงจากอากาศปรากฏกายอยู่เฉพาะหน้าพระอชาตสัตตุราชกุมาร

ครั้นพระราชกุมารตกใจกลัว  ก็ทูลว่า  "อาตมา คือ  พระเทวทัต"  แล้วเจรจาเล้าโลมให้พระราชกุมารหายกลัว  สำแดงกายเป็นพระสงฆ์ทรงไตรจีวรและบาตร  ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระราชกุมาร  เมื่อพระราชกุมารเห็นปฏิหาริย์เช่นนั้น  ก็ทรงเลื่อมใส เคารพนับถือ  ถวายลาภสักการะบูชาเป็นอันมาก

ภายหลัง  พระเทวทัตเกิดบาปจิตคิดใฝ่สูงด้วยอำนาจตัณหา  มานะครอบงำจิตคิดผิดไปว่า  เราสมควรจะเป็นผู้ครองพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง  พอดำริดังนั้น  ปุถุฤทธิ์ของตนก็เลื่อมสูญพร้อมกับจิตตุบาท  ครั้นคิดดังนั้นแล้ว  ก็เดินทางมาเฝ้าพระบรมศาสดา  ซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร  ณ เมืองราชคฤห์  ในเวลาที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่มวลพุทธบริษัท  ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารมหาราชประทับเป็นประธานอยู่  เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว  พระเทวทัตได้กราบทูลว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  บัดนี้  พระองค์ทรงชราภาพแล้ว  จงเสวยทิฏฐธรรมสุขวิหาร  สำราญพระกมล  มีความขวนขวายน้อยเถิด  ข้าพระองค์จะได้ว่ากล่าวสั่งสอนแทนพระองค์สืบไป"

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับ  จึงตรัสห้ามว่า  "ไม่ควร" ไม่ทรงอนุญาตให้เป็นไปตามความปรารถนาของพรเทวทัต  พระเทวทัตก็โทมนัส  ผูกอาฆาตในพระบรมศาสดา  จำเดิมแต่นั้นมา  พระบรมศาสดาได้ทรงประกาศความประพฤติอันไม่ดีงามของพระเทวทัต  ซึ่งเกิดขึ้นด้วยจิตลามกให้พระสงฆ์ทั้งหลายทราบ  เพื่อให้ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนอยู่จะได้สังวรระวังจิตมิให้วิปริตไปตาม

ต่อมาพระเทวทัตคิดการใหญ่  ปรารถนาจะทำอันตรายแก่พระผู้มีพระภาค  จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตสัตตุราชกุมาร  แล้วอุบายทูลว่า  "แต่ก่อนมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน  บัดนี้  อายุของมุษย์น้อยถอยลง  หากพระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อนพระราชบิดาแต่เวลายังหนุ่มอยู่แล้ว  ไฉนพระองค์จะได้รับราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์  เสวยพระราชสมบัติสมดังพระทัยที่ปรารถนาไว้เล่า  ฉะนั้น พระองค์จงปลงพระชนม์พระราชบิดา  จัดการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์  เสวยราชย์สมบัติเสียตั้งแต่บัดนี้เถิด  แม้อาตมาก็จะฆ่าพระสมณโคดมเสีย  จะได้เป็นพระบรมศาสดาปกครองพระสงฆ์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน


...........................................

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ศากยราช ๖ พระองค์ออกบวช (ตอน ๑)


วันหนึ่ง  พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังมหาชนบท  ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน  ใกล้บ้านอนุปิยมัลลนิคม  แขวงเมืองพาราณาสี  ครั้งนั้น  เจ้าศากยะพระนามว่า  มหานามะ  ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ  ผู้เป็นพระเจ้าอาว์ของพระบรมศาสดา  เข้าไปหาพระอนุรุทธะ  ผู้เป็นอนุชา  ทรงปรารภว่า  "ในตระกูลเรา  ยังไม่มีใครออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย  ฉะนั้น  ในเราสองคน คือ  อนุรุทธ์กับพี่  จะต้องออกบวชคนหนึ่ง  พี่จะให้อนุรุทธ์เลือกเอา  อนุรุทธ์จะบวชหรือจะให้พี่บวช

เนื่องจากพระอนุรุทธะ  เป็นพระโอรสพระองค์เล็ก  ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระมหามารดารักมาก  ทั้งเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ  มีบุญมากได้รับความรักใคร่เมตตาปรานีจากพระญาติทั้งหลายเป็นอันมาก  ดังนั้นอนุรุทธกุมารจึงทูลว่า  "หม่อมฉันบวชไม่ได้ดอก  ขอให้เจ้าพี่บวชเถอะ"

พระมหานามะจึงรับสั่งว่า  "ถ้าอนุรุทธะจะอยู่  ก็ต้องศึกษาเรื่องการครองเรือน  เรื่องบำรุงวงศ์ตระกูลให้จงดี"  และพระมหานามะ  ก็ถวายคำแนะนำการครองชีด้วยกสิกรรม  ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ  อนุรุทธกุมารฟังแล้วระอาในการงานไม่รู้จักจบ  ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น  จึงรับสั่งว่า  "ถ้าเช่นนั้นให้เจ้าพี่อยู่เถอะ  หม่อมฉันจะบวชเอง  รำคาญที่ต้องไปวุ่นอยู่กับงานไม่รู้จักจบ  ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น"  รับสั่งแล้วก็ลาพระมารดา  ขออนุญาตบรรพชาตามพระบรมศาสดา  พระมารดาตรัสห้ามถึง  ๓  ครั้ง  ภายหลังทรงอนุญาตเป็นนัยว่า  "ถ้าภัททิยราชกุุมารผู้เป็นโอรสของพระนางกาฬีโคธาศากยวงศ์ผู้เป็นเพื่อนเล่นที่สนิทสนมของพ่อจะออกบวช  พ่อจะบรรพชาด้วยก็ตามเถิด  พระอนุรุทธะก็ไปชวนพระภัททิยะ  ให้ออกบวชด้วยกัน  แต่วิงวอนชวนอยู่ถึง ๗ วัน  พระภัททิยะจึงบอกปฏิญญาว่าจะบวชด้วย  อานนทฺ์ ๑  พระภัคคุ ๑  พระกิมพิละ ๑  พระเทวทัต ๑  ได้พร้อมใจกันจะออกบวชบรรพชา  ชวนอุบาลี อำมาตย์ ช่างกัลบก รวมเป็น ๗ ด้วยกัน  เดินทางไปสู่มัลลรัฐชนบท  เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยะอัมพวัน  ถวายอภิวาทแล้ว  ขอประทานบรรพชาอุปสมบท

อนึ่ง  ก่อนแต่พระบรมศาสดาจะทรงประทานบรรพชา  พระอนุรุทธะได้กราบทูลว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์  สูงด้วยขัตติยมานะอันกล้า  ขอให้พระองค์ประทานบรรพชาแก่อุบาลี  อำนาตย์ผู้รับใช้ส้อยติดตามของมวลข้าพระองค์ก่อน  ให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรพชาต่อภายหลังจะได้คารวะไหว้นบ   เคารพนับถืออุบาลี  ผู้บวชแล้วก่อน  บรรเทาขัตติยมานะให้บางเบาจากสันดาน

พระบรมศาสดาจึงได้ประทานอุปสมบทแก่อุบาลี  กัลบกก่อน  แล้วจึงประทานอุปสมบทแก่ ๖ กษัตริย์ในภายหลัง  พระภัททิยะ นั้นได้สำเร็จไตรวิชาพระอรหัตผล  ในพรรษานั้น  พระอนุรุทธะ  ได้บรรลุทิพยจักขุญาณ  ก่อนภายหลังได้ฟังพระธรรมเทสนา  มหาปุริสวิตักกสูตร  จึงสำเร็จและพระกิมพิละเจริญวิปัสสนากรรมฐาน  ได้บรรลุพระอรหัตผล  ส่วนพระเทวทัตนั้น  ได้บรรลุปุถุชนฤทธิ์  อันเป็นของโลกิยบุคคล

สมัยหนึ่ง  พระบรมศาสดาเสด็จจารึกไปประทับ  ณ  เมืองโกสัมพี  ครั้งนั้นลาภสักการะ มี จีวร  บิณฑบาต  เภสัช  อัฏฐบาน เป็นต้น  เข้ามาสู่วิหาร  ถวายแก่พระสงฆ์สาวกเป็นเนืองนิตย์  ส่วนมากทุก ๆ  คนที่มา  ย่อมถามถึงแต่พระอัครสาวกทั้งสองและพระสาวกองค์อื่น ๆ  ว่าท่านอยู่  ณ  ที่ใด  แล้วก็พากันไปเคารพนบไหวสักการบูชา  ไม่มีใครถามถึงพระเทวทัตแม้แต่ผู้เดียว

พระเทวทัตเกิดความโทมนัสน้อยใจ  ตามวิสัยของปุถุชนจำพวกที่มากด้วยความอิจฉา  ริษยา  คิดว่า  เราก็เป็นกษัตริย์ศากยราชสกุลเหมือนกัน  อกบรรพชาด้วยกันกับกษัตริย์ขัตติยวงศ์นั้น  ๆ  แต่ไม่มีใครนับถือถามหา  น่าน้อยใจ


(ยังมีต่อ...)

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ถวายพระเชตวันวิหาร


ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี ผู้อยู่ในเมืองสาวัตถี  มาที่พระนครราชคฤห์ด้วยธุรกิจอย่างหนึ่ง  พักอยู่ที่นิเวศน์ของท่านราชคฤห์เศรษฐี  ผู้เป็นน้องชายแห่งภริยาของท่าน  ได้สดับพระธรรมเทศนาบรรลุโสดาปัตติผล  ได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์  มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน  แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดา  ให้เสด็จประกาศพระพุทธศาสนายังนครสาวัตถีพร้อมกับกราบทูลว่า  จะจัดสร้างพระวิหารถวายให้เป็นสังฆาราม  ครั้นพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว  ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีก็รีบล่วงหน้าไปบริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินอันเป็นอุทยานของพระราชกุมารพระนามว่า  "เชต"  โดยวิธีให้คนขนเอาเงินมาลาดลงให้เต็มพื้นที่นั้นตามสัญญา  สิ้นเงิน ๒๗ โกฏิ  ทั้งพระราชกุมารเจ้าของที่ให้สัญญาขอให้จารึกพระนามของพระองค์ว่า  "เชตวัน"  ติดไว้ที่ซุ้มประตูพระอารามซึ่งเป็นส่วนของพระองค์สร้างอีกด้วย

ท่านมหาเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์สร้างพระคันธกุฎี  และเสนาสนะอันควรแก่สมณวิสัย  พร้อมหมดทุกอย่างด้วยจำนวนเงินอีก ๒๗ โกฎิ  เมื่อพระเชตวันวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็ได้ทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมาจำพรรษา  สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก  เสด็มาสถิตยังพระมหาวิหารเชตวัน  ในความอุปถัมภ์บำรุงของพุทธบริษัท  ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีเป็นประมุข  พระศาสดาและพระสงฆ์ได้รับความสุขตามควรแก่ววิสัย  ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัททั้งหลายให้เลื่อมใส  มั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัยเป็นอันมาก

ครั้งนั้น  พระนันทะพุทธอนุชา เกิดความกระสันเป็นทุกข์ใจด้วยไม่มีความเลื่อมใสในการบรรพชา ครั้นพระศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้มาเฝ้า  ตรัสถาม  พระนันทะทูลความวา  ตนมีจิตกำหนัดคิดถึงนางชน
ปทกับยาณี

ลำดับนั้น  พระชินศรีจึงทรงจูงกรของพระอนุชา  สำแดงอิทธานุภาพ  พระนันทะขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก  บันดาลให้เห็นแม่วานรตัวหนึ่งในระหว่างทาง  แล้วทรงพาขึ้นไปให้เห็นนางเทพอัปสรกัญญาซึ่งมีกายงามวิจิตรเจริญตา  กำลังดำเนินขึ้นไปเฝ้าท้าวสหัสสนัยยังเทพวิมาน  จึงตรัสถามว่า  "นันทะนางชน
ปทกัลยาณีที่เธอมีใจรัญจวนถึงนั้น  กับนางอัปสรเหล่านี้นางไหนจะงามกว่ากัน"

พระนันทะกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  จะเอานางชนปทกัลยาณีมาเปรียบเทียบกับนางฟ้านั้นผิดกันไกล  นางชนปทกัลยาณีหากจะเปรียบเทียบ  ก็ได้เท่ากับแม่วานรในระหว่างเท่านั้น"

นันทะ  ผิว่าเธอยินดีรักใคร่นางฟ้าทั้งหลายนี้  ตถาคตรับรองจะช่วยให้ได้นางฟ้าสำเร็จตามความปรารถนาของเธอ"

"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม  ถ้าพระองค์จะทรงพระกรุณาช่วยให้ข้าพระองค์ได้นางฟ้านี้สมความปรารถนาแล้วไซร้  ข้าพระองค์ยินดีจะอยู่ในเพศพรหมจรรย์  ไม่รัญจวนจิตคิดออกไป"

พระบรมศาสดาตรัสว่า  "นันทะ  ตถาคตรับรอง"  แล้วก็ทรงพาพระนันทะอันตรธานจากเทวโลก  มาปรากฏ  ณ  พระเชตวัน

ดังนั้น  บรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนนันทะทราบเหตุ  ต่างพากันพูดเคาะพระนันทะว่า  "ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางฟ้า โดยมีพระบรมศาสดาเป็นผู้รับรองจะสงเคาห์ให้"  พระนันทะคิดละอายใจ  จึงหลีกออกไปอยู่ในที่สงัด  บำเพ็ญสมณธรรมแต่ผู้เดียว  ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล  รุ่งขึ้นก็เฝ้าพระบรมศาสดา  กราบทูลให้พระองค์พ้นจากการรับรองในการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางฟา  ทุกประการ.


.......................................................


วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ราหุลบรรพชา


 ครั้น วันที่ ๗  พระนางพิมพาเทวีประดับองค์ราหุลกุมารด้วยอาภรณ์อันวิจิตร  ให้ราชบุรุษพาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา  เพื่อทูลขอขุุมทองซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติอันราหุลกุมาร  ผู้เป็นทายาทควรจะได้รับเป็นสมบัติสืบสันติวงศ์  พระศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปพระวิหาร  แล้วโปรดให้พระสารีบุตรจัดการบรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณร

พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ  ก็โทมนัสเสียพระทัย  ด้วยเดิมนั้นทรงประสงค์จะให้นันทกุมาร  พระโอรสองค์ที่ ๒  สืบราชสมบัติ  พระบรมศาสดาก็ทรงพาไปอุปสมบทเสีย  ท้าวเธอก็ทรงหวังว่า  จะให้ราหุลกุมารซึ่งเป็นทายาทสืบราชสมบัติต่อไป  ซึ่งเป็นความหวังครั้งสุดท้าย  แต่แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปให้บรรพชาเสียอีก  จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระวิหาร  แล้วทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า  "แต่นี้ต่อไปเมื่อหน้า  กุลบุตรผู้ใดแม้ประสงค์จะบวช  หากมารดาบิดายังไม่ยอมพร้อมใจอนุญาตให้บวชแล้ว  ขอให้ทรงงดไว้ก่อน  อย่าเพิ่งให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้นั้น"  พระบรมศาสดาก็ประทานพรแก่พระพุทธบิดา  แล้วถวายพระพรอำลาพระนันทะและราหุลสมเณร  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริษัท  เสด็จนิวัตนาการกลับกรุงราชคฤห์มหานคร.


                                  .............................................


คัดลอกจาก.....หนังสือพุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ......พระพิมลธรรม (ชอบ  อนุจารีมหาเถระ ร.บ.)