วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ถูปารหบุคคล


"อานนท์  บุคคลผู้ควรแก่การประดิษฐานในสถูป  เรียกว่า  ถูปารหบุคคล  มี  ๔  ประเภท  คือ  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑  พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑  พระสาวกอรหันต์ ๑  พระเจ้าจักรพรรดิ ๑  บุคคลพิเศษทั้ง  ๔  นี้  ควรที่บรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูป  เพื่อเป็นที่สักการบูชากราบไหว้  ด้วยความเลื่อมใส  ด้วยสามารถเป็นพวปัจจัย  นำให้ผู้กราบไหว้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ตามกำลังศรัทธาเลื่อมใส



ประทานโอวาทแก่พระอานนท์

ครั้งนั้น  พระอานนท์เถระ  เข้าไปในวิหาร  ยืนหนี่ยวกลอนประตูวิหารร้องไห้  คิดสังเวชตัวว่าอาภัพ อุตส่าห์ติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดุจเงาติดตามพระองค์  โดยมุ่งยึดเอาพระองค์เป็นนาถะ  เพื่อทำความสิ้นทุกข์   พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้นก็จะเสด็จปรินิพพานในราตรีนี้แล้ว  ทั้งที่เราเองก็ยังเป็นเสขบุคคลอยู่

พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทอดพระเนตรเห็นพระอานนท์ในที่นั้น  รับสั่งถามภิกษุทั้งหลาย  ครั้นทรงทราบความแล้ว  ตรัสให้ไปตามพระอานนท์เข้ามายังที่เฝ้า  แล้วตรัสว่า  "อานนท์  อย่าเลย  เธออย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรเลย  เราได้บอกแก่เธอแล้วมิใช่หรือว่า  สังขารทั้งหลาย  ไม่เที่ยงถาวร  จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน  ทุกสิ่งที่มีเกิดในเบื้องต้นแล้ว  จะต้องแปรปรวนในท่ามกลาง  ที่สุดก็ต้องสลายลงเช่นเดียวกันหมด"

"อานนท์  เธอเป็นบุคคลที่มีบุญได้สั่งสมไว้แล้ว  เธอจงอุตส่าห์บำเพ็ญเพียรเถิด  ไม่ช้าเธอก็จักถึงความสิ้นอาสวะ  คือจักได้เป็นพระอรหันต์  ก่อนวันพระสงฆ์ทำปฐมสังคายนานั้นแล



ตรัสสรรเสริฐพระอานนท์

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงอนาคตังสญาณอันวิเศษ  ได้ทรงพยากรณ์พระอานนท์ในที่ประชุมสงฆ์เช่นนั้นแล้ว  ก็ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่า  "ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย  ที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วก็ดี  แม้ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้าอีกก็ดี  บรรดาภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น  ก็เป็นเหมือนเช่นอานนท์อุปัฏฐากของเราในบัดนี้แหละ"

"ภิกษุทั้งหลาย  อานนท์เป็นบัณฑิต  ประกอบธุรกิจด้วยปัญญารอบรู้ว่า  กาลใด  บริษัทใดจะเข้าเฝ้า  อานนท์ก็จัดให้เข้าเฝ้า  ตามสมควรแก่สถานะวิสัยแห่งภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา กษัตริย์  พราหมณ์  คหบดี  และเดียรถียืได้ถี่ถ้วนทุกประการ"

อนึ่ง  เมื่อบริษัทได้เข้าไปใกล้  ได้เห็นอานนท์ ก็มีจิตยินดี   เมื่อฟังอานนท์แสดงธรรมก็  ชื่นชม  ไม่อิ่ม ไม่เบื่อด้วยธรรมกถาของอานนท์เลย  เมื่ออานนท์หยุดพักธรรมกถา  บริษัทก็ยินดีเบิกบานในธรรมกถาที่แสดงแล้ว  ประะหนึ่งพระเจ้าจักรพรรดิ  ประทานความชื่นชม  ไม่เบื่อด้วยภาษิตแก่กษัตริย์  พรหมณ์ เป็นต้นฉะนั้น


.............................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น