ครั้นสองสหายตกลงกันแล้ว ก็พากันเข้าไปหาท่านสญชัยอาจารย์ บอกให้ทราบว่า "บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วนั้น เป็นนิยานอกธรรม สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์โดยชอบจริง พระสงฆ์สาวกก็ปฏิบัติชอบด้วยสุปฏิบัติ ท่านอาจารย์จงมาร่วมกัน ไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ยังพระเวฬุวันสถานนั้นเถิด"
ท่านสญชัยปริพพาชกจึงกล่าวห้ามว่า "ใยท่านทั้งสองจึงมาเจรจาเช่นนี้ เรามีลาภยศใหญ่ยิ่ง เป็นเจ้าสำนักใหญ่โตถึงเพียงนี้แล้ว ยังควรจะเป็นศิษย์ของใครในสำนักใดเอีกเล่า ฦ" แต่แล้วก็คิดว่า อุปติสสะและโกลิตะ ทั้งสองนี้เป็นคนดีมีปัญญาสามารถ น่าที่จะบรรลุโมกขธรรมตามที่ปรารถนายิ่งนักแล้ว คงจะไม่ฟังคำห้ามปรามของตน จึงกล่าวใหม่ว่า "ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยถึงความชราแล้ว ไม่อาจจะไปเป็นศิษย์ผู้ใดได้ดอก"
"ท่านอาจารย์อย่ากล่าวดังนั้นเลย" สหายทั้งสองวิงวอน "ไม่ควรที่ท่านอาจารย์จะคิดเช่นนั้น เมื่อพระสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ดังดวงอาทิตย์อุทัยให้ความสว่างแล้ว คนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมของพระสัมพุทธเจ้า แล้วท่านอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร"
"พ่ออุปติสสะ ในโลกนี้ คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก ฦ" สญชัยปริพพาชกถามอย่างมีทางเลี่ยง แต่อุปติสสะตอบตรง ๆ โดยความเคารพว่า "คนโง่ซิมาก ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีปัญญาสามารถจะมีสักกี่คน"
"จริง ! อย่างพ่ออุปติสสะพูด" สญชัยปริพพาชกกล่าวอย่างละเมียดละไม "คนฉลาดมีน้อย คนโง่มีมาก อุปติสสะ เพราะเหตุนี้แหละเราจึงไม่ได้ไปด้วยท่าน เราจะอยู่ในสำนักของเรา อยู่ต้อนรับคนโง่ คนโง่อันมีปริมาณมาก จะมาหาเรา ส่วนคนฉลาดจะไปหาพระสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราไม่ไปด้วยแล้ว"
แม้สหายทั้งสองจะพูดหว่านล้อมสญชัยปริพพาชกด้วยเหตุผลใด ๆ ก้ไม่สามาถจจะโน้มน้าวจิตใจของสญชัยปริพพาชกให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาได้ อุปติสสะและโกลิตะจึงชวนปริพพาชก ผู้เป็นบริวารของตนจำนวน ๒๕๐ คน ลาอาจารย์สญชัยไปเฝ้าพระบรมศาสดา ยังพระเวฬุวันวิหาร
ขณะนั้น เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอุปติสสะและโกลิตะพาบริษัทของตน ตรงเข้ามาเฝ้าแต่ไกลเช่นนั้น จึงรับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย โน่น ! ดูอัครสาวกของตถาคตมาแล้ว พาบริวารของเธอมาให้ตถาคตด้วย" เมื่อปริพพาชกทั้งหลายเข้ามาเฝ้าแล้ว พระบรมศาสดาก็แสดงธรรมโดยควรแก่อุปนิสัยของปริพพาชกเหล่านั้น ครั้นจบพระธรรมเทศนา ปริพพาชกทั้งหมด เว้นอุปติสสะและโกลิตะได้บรรลุอรหัตผลด้วยกันสิ้น
สหายทั้งสอง จึงพาบริษัทของตนทั้งหมด เข้ากราบทูลขอประทานอุปสมบท สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ปริพพาชกทั้ง ๒๕๐ คนนั้น เป็นภิกษุในพุทธศาสนา แล้วตรัสเรียกชื่อสหายทั้งสองนั้นตามนามของมารดา คือ รับสั่งเรียก อุปดิสสะ เป็นบุตรของนางสารีพราหมณีว่า สารีบุตร รับสั่งเรียก โกลิตะ ผู้เป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณีว่า โมคคัลลานะ อาศัยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับสั่งเรียกท่านทั้งสองเช่นนั้นในท่ามกลางบริาษัท ๔ พุทธบริษัทจึงนิยมเรียกท่านตามชื่อ ที่ได้รับพระมหากรุณาประทานใหม่ตลอดอายุของท่าน และนิยมเรียกมาจนบัดนี้
ฝ่ายพระโมคคัลลานะ อุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน หลีกไปทำความเพียรอยู่ในเสนาสนะป่า ใกล้บ้านกัลลวาละมุตตคาม ในแคว้นมคธ ความง่วงครอบงำนั่งโงกอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่้น ตรัสบอกอุบายระงับความง่วงให้อันตรธานแล้ว ทรงประทานโอวาทในธาตุกัมมัฏฐาน พระโมคคัลลานะได้สดับแล้วปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุพระอรหัตในวันนั้น
ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน ตามพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ถ้ำสุกรชาตา ใกล้กรุงราชคฤห์ ได้สดับพระธรรมเทศนา เวทนาปริคคหสูตร ซึ่งพระบรมศาสดาทรงแสดงแก่ปริพพาชกชื่อว่า ทีฆนขะอัคคิเวสนโคตร ผู้เป็นหลานของพระเถรเจ้า พระเถรเจ้าตั้งใจกำหนดพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัต ส่วนทีฆนขะปริพพาชกได้ตั้งอยู่ในโสตาปัตติผล
ในกาลนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งพระเถระเจ้าทั้งสอง ไว้ในตำแหน่งคู่แห่งอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
เนื่องจาก วันที่พระสารีบุตรเถรเจ้า ได้บรรลุพระอรหัตเป็นวันมาฆปุรณมี เพ็ญเดือน ๓ เวลาบ่าย พระบรมศาสดาเสด็จประทับที่พระเวฬุวัน พระอรหันต์ขีณาสพ จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ คือ พระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ พระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ องค์ กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารุบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระรวม ๒๕๐ องค์ รวมทั้งสองคณะเป็น ๑,๒๕๐ องค์ ได้พร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จในท่ามกลางพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์นั้น แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ทรงทำวิสุทธิอุโบสถประทานธรรมอันเป็นหลักแห่งพระศาสนา เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป.
........................................
จาก.....หนังสือพุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ....พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ ร.บ.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น