วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โปรดอัครสาวก (ตอนที่ ๔)


พระเถระเจ้าตอบว่า  "ดูกร  ปริพพาชก  พระมหาสมณะศากยบุตรเสด็จออกบรรพชาจากศากยราชตระกูล  พระองค์นั้น เป็นบรมครูของฉัน  ฉันบวชต่อพระศาสดาพระองค์นั้น  และเล่าเรียนธรรมในพระศาสดาพระองค์นั้นแล"  อุปติสสปริพพาชกจึงเรียนถามต่อไปว่า  "อาจารย์ของท่านทั้งสอนธรรมอย่างไร แก่ท่าน ?

พระเถระเจ้าดำริว่า  ธรรดาปริพพาชกย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา  ควรอาตมะจะแสดงคุณแห่งพระศาสนา  โดยความเป็นธรรมลึกซึ้งและประณีตสุขุมเถิด  ครั้นแล้วจึงตอบว่า  "ดูกร  ปริพพาชก  อาตมะเพิ่งบวชใหม่  ไม่อาจแสดงธรรมวินัยโดยพิสดารแก่เธอได้ดอก"  อุปติสสปริพพาชกจึงเรียนปฏิบัติท่านว่า  "ข้าพเจ้าชื่อว่า  อุปติสสะ  ขอให้พระเถระเจ้ากรุณาบอกธรรมเพียงแต่ย่อ ๆ เถิด"

พระอัสสชิเถรเจ้า  กล่าวคาถาแสดงวัถุประสงค์ของพระศาสนาว่า  "เย  ธมฺมา เหตุปุปภวา"  เป็นอาทิ ความว่า  "ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งเหตุของธรรมเหล่านั้น  พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้"

อุปติสสปริพพาชกได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นสัจธรรม  ถึงบรรลุโสดาปัตติผล  โดยสดับเทศนาหัวใจพระศาสนา ของพระเถรเจ้าเพียงคาถาหนึ่งเท่านั้น  แล้วเรียนท่านโดยคารวะว่า  "ข้าแต่ท่านอาจารย์  ขอประทานกรุณาหยุดเพียงนี้เถิด  อย่าแสดงต่อไปอีกเลย  เวลานี้พระบรมศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน ?

พระเถรเจ้าบอกว่า  "เวลานี้  พระบรมศาสดายังเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร"

"เป็นพระคุณหาที่สุดมิได้"  อุปติสสะอุทานวาจาด้วยความซาบซึ้งในธรรม  และในความกรุณาของพระเถรเจ้า  "นิมนต์ท่านอาจารย์ไก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะตามไปภายหลัง  ด้ววยข้าพเจ้าได้ให้สัญญาไว้กับโกลิตมาณพสหายที่รักว่า  ถ้าผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน  จงบอกแก่กันให้รู้   ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะกลับไปเปลื้องสัญญาเสียก่อน  แล้วจะพาสหายผู้นั้นไปสู่สำนักพระบรมศาสดาของเราต่อภายหลัง"  แล้วกราบพระเถรเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ด้วยความเคารพ  กระทำประทักษิณเดินเวียน ๓ รอบ  แล้วส่งพระเถรเจ้าไปก่อน  ส่วนตนออกเดินบ่ายหน้าไปสู่ปริพพาชการาม

ส่วนโกลิตปริพพาชกเห็นสหายเดินมาแต่ไกล  จึงดำริว่า  ใบหน้าของสหายเราวันนี้  ดูเบิกบาน ผ่องใสยิ่งกว่าวันอื่น ๆ ชะรอยจะได้โมกขธรรมเป็นแน่แท้   ครั้นอุปติสสปริพพาชกเข้ามาใกล้  จึงถามตามความคิด  อุปติสสสก็บอกว่า  "ตนได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว  มานี่ก็เพื่อบอกโมกขธรรมนั้นแก่สหาย ไห้เป็นไปตามสัญญาของเราที่ให้กันไว้้แต่แรก  ขอสหายจงตั้งใจฟังเถิด"  แล้วอุปติสสะก็แสดงคาถาหัวใจของพระศาสนา ซึ่งตนได้สดับมาจากพระอัสสชิเถรเจ้า  พออุปติสสะแสดงจบลง  โกลิตปริพพาชกก็ได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นในอริยสัจจะ  บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกับอุปติสสปริพพาชก

โกลิตะจึงกล่าวแก่อุปติสสะว่า  "เราทั้งสองได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว  ควรจะไปสำนักของพระบรมศสดากันเถิด"  อุปติสสะเป็นผู้เคารพบูชาอาจารย์มาก  จึงตอบว่า  "ถูกแล้ว เราทั้งสองควรจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาดังที่เธอกล่าว  แต่ก่อนจะจากสำนักนี้ไป  เราทั้งสองควรจะไปอำลาท่านสญชัยอาจารย์  แล้วหาโอกาสแสดงโมกขธรรมให้ฟัง  ถ้าอาจารย์ของเรามีวาสนาบารมี  ก็จะพลอยได้รู้โมกขธรรมด้วยกัน แม้ไม่ถึงอย่างนั้น  เพียงแต่ท่านเชื่อฟังแล้วพากันไปสู่สำนักพระบรมศาสดา  เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว  ก็จะได้บรรลุมรรคและผลตามวาสนาบารมีเป็นแน่่"


วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โปรดอัครสาวก (ตอนที่ ๓)


สมัยนั้น  สญชัยปริพพาชก เป็นอาจารย์ใหญ่  อยู่ในเมืองราชคฤห์สำนักหนึ่ง  ที่มีบริษัทบริวารมาก มาณพทั้งสองจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า  เราควรจะไปบวชในสำนักอาจารย์สญชัยปริพพาชก  ครั้นตกลงใจแล้ว  มาณพทั้งสองต่างก็พาบริวารของตนรวม ๕๐๐ คน  เข้าไปหาท่านอาจารย์สญชัยปริพพาชก  ขอบวชและศึกษาอยู่ในสำนักนั้น

จำเดิมแต่มาณพทั้งสอง  เข้าไปบวชเป็นศิษย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพพาชกไม่นาน  สำนักนี้ก็เจริญ เป็นที่นิยมของมหาชนเป็นอันมาก  ลาภสักการะพร้อมด้วยยศก็เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

เมื่ออุปติสสมาณพและโกลิตพราหมณ์บวชเป็นปริพพาชก  ศึกษาลัทธิของอาจารย์สญชัยไม่นาน  ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์  จึงได้เรียนถามว่า  "ท่านอาจารย์  ลัทธิของท่านอาจารย์มีเท่านี้แหละหรือ ? "  อาจารย์สญชัยก็บอกว่า  "ลัทธิของเรามีเพียงเท่านี้  ท่านทั้งสองเรียนจบบริบูรณ์แล้ว  ไม่มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้ารู้  โดยท่านไม่รู้เลย"  แล้วตั้งให้อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพทั้งสองเป็นอาจารย์สอนศิษย์ในสำนัก  มีศักดิ์เสมอด้วยตน

มาณพทั้งสองปรึกษากันว่า  การอยู่ประพฤติพรหมณ์จรรย์ในสำนักนี้ หาประโยชน์มิได้  ด้วยไม่เป็นทางให้เข้าถึงโมกขธรรม  ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการหลุดพ้นได้  ความจริงชมพูทวีปนี้ก็กว้างใหญ่  คงจะมีท่านที่มีความรู้สอนให้เราเข้าถึงโมกขธรรมได้   ควรจะเที่ยวสืบเสาะแสวงหาดู  แล้วมาณพทั้งสองก็ลาอาจารย์  เที่ยวเสาะแสวง  หาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ  เป็นอาจารย์สอนโมกขธรรมให้  แม้พยายามเที่ยวไปในชนบทน้อยใหญ่  ได้ข่าวว่ามีอาจารย์ในสำนักใด  มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมนับถือก็เข้าไปไต่ถาม  ขอรับความรู้ความแนะนำ  แต่แล้วก็ไม่สมประสงค์  เพราะทุกอาจารย์ที่เข้าไปไต่ถาม  ต่างก็ยอมจำนน ด้วยไม่สามารถบรรเทาความสงสัย ให้ความเบิกบานเคารพนับถือได้  เมื่อได้ท่องเที่ยวทุกแห่งจนสุดความสามารถ  สิ้นศรัทธาที่จะพยายามสืบเสาะต่อไปอีกแล้ว  มาณพทั้งสองก็กลับมาอยู่สำนักของอาจารย์เดิมดังกล่าว  ต่างให้สัญญาไว้แก่กันว่า  ผิว่าผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน  จงบอกให้แก่ผู้หนึ่งได้รู้เช่นกัน

ในกาลนั้น  พอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว  เสด็จไปตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์  ตรายเท่าจนส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ ออกไปเที่ยวประกาศพระศาสนา  แล้วพระองค์ก็เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิล ๑,๐๐๐ รูป  แล้วเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร  เสด็จประทับอยู่ในกรุงเวฬุวันวิหาร  ครั้งนั้นพระอัสสชิเถรจ้า  ซึ่งอยู่ในคณะภิกษุปัญจวัคคีย์  ได้ออกประกาศพระศาสานา  จาริกมาสู่เมืองราชคฤห์  เวลาเช้าทรงบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตรในเมือง ขณะนั้นพออุปติสสปริพพาชกบริโภคอาหารเช้าแล้ว  เดินไปสู่อารามปริพพาชก  เห็นพระติสสเถรเจ้า  ซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระตามสมณะวิสัย  จะก้าวไปข้างหน้า  หรือถอยกลับ มีสติสังวรเป็นอันดี  มีจักษุทอดประมาณทุกขณะ  เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส  เป็นที่พึงตาพึงใจของอุปติสสเป็นอย่างมาก    ดำริว่า  บรรพชิตนี้มีกิริยาอาการในรูปนี้  เรามิได้เคยพบเห็นมาแต่ก่อน  ท่านผู้ใดได้รับการยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้  บรรพชิตรูปนี้จะต้องนับเข้าในพระอรหันต์พวกนั้นรูปหนึ่งเป็นแน่แท้   ควรเราจะเข้าหาสมณะรูปนี้  เพื่อได้ศึกษา  ขอรับข้อปฏิบัติ  เพื่อบรรลุโมกขธรรมเช่นท่านบ้าง  แต่แล้วอุปติสสมาณพก็ได้สติ  ดำริใหม่ว่า  "ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยวบิณฑบาตรของภิกษุรูปนี้อยู่  ไม่ควรที่เราจะเข้าไปไต่ถาม"  ครั้นอุปติสสดำรินี้แล้ว  ก็เดินติดตามท่านภายในระยะทางพอสมควร  เสร็จแล้ว  อุปติสสปริพพาชก  จึงกล่าวปฏิสันถารด้วยคารวะว่า  ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ  ใบหน้าของท่านผ่องใสยิ่งนัก แสดงว่าท่านมีความสุข  แม้ผิวพรรณของท่านก็สะอาดบริสุทธิ์  ประทานโทษ  ท่านบรรพชาต่อท่านผู้ใด  ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน  และท่านได้เล่าเรียนธรรมในผู้ใด ? "

---------------------------------
คัดลอกจาก.....หนังสือพุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ...พระพิมลธรร (ชอบ  อนุจารีมหาเถระ ร.บ.)

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โปรดอัครสาวก (ตอนที่ ๒)


ครั้นวันรุ่งขึ้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐   เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังพระนครราชคฤห์  เสด็จสู่พระราชนิเวศน์ขึ้นประทับยังพระบวรพุทธอาสน์  พระเจ้าพิมพิสารมหาราช  พร้อมด้วยราชบริพาร  ทรงถวายมหาทาน อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระหัตถ์  ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสร็จการเสวยแล้ว  พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  "ลัฎฐิวัน ที่ทรงประทับอยู่นั้นเล็ก ทั้งไกลจากชุมนุมชนเกินพอดี ไม่สะดวกแก่่ผู้มีศรัทธามีกิจจะพึงไป  หม่อมฉันขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม  ด้วยเป็นสถานที่กว้างใหญ่  มีเสนาสนะเรียบร้อย  ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไกลจากชุมนุมชน เงียบสงัด ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน  ผู้มีกิจจะพึงไปถึงได้ไม่ลำบาก  สมเป็นพุทธาธิวาสอันพระองค์จะทรงประทับ"  กราบทูลแล้วก็ทรงจับพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทก ให้ตกลงที่พระหัตถ์พระบรมศาสดา  ถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน  เป็นสังฆาราม เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา

พระบรมศาสดทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆารามแล้ว  ทรงอนุโมทนาแล้วพาพระสงฆ์สาวกเสด็จกลับประทับยังพระเวฬุวันวิหาร  เป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาอันมโหฬาร  ทั้งงามตระการตาและมั่นคง  ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งมาแต่อุดรทิศ  จะพึงเข้าพำนักอยู่อาศัย  เป็นความสะดวกสบายแก่สมณเพศที่โลกยกย่องว่าเป็นบุญเขต ควรแก่การบูชา  มหาชนมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  หลั่งไหลกันมาสดับธรรมเทศนากันเป็นอันมาก  เป็นอันว่า พระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนา เป็นหลักฐานลงที่พระเวฬุวันวิหาร  ณ พระนครราชคฤห์  เกียรติศักดิ์เกียรติคุณอห่งพระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่ไปในชุมนุมชนตามตำบลน้อยใหญ่เป็นลำดับ

สมัยนั้น  มีหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ใกล้กรุงราชคฤห์  ๒ หมู่บ้าน  เรียกว่า อุปติสสคาม บ้าน ๑  โกสิตคาม บ้าน ๑ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านอุปติสสคาม ซึ่งเกิดแต่นางสารีพราหมณี  ชื่อ อุปติสสะ  บุตรคนใหญ่ของนายบ้านโกลิตคาม ซึ่งเกิดแต่นางโมคคัลลีพราหมณี  ชื่อ โกลิตะ  และเนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองตั้งอยูไม่ไกลกัน  มีฐานะทัดเทียมกัน  ทั้งเคารพนับถือกันดี  ดังนั้นบุตรของตระกูลทั้งสองนี้  จึงรักใคร่ ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม  คบหาสมาคมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็กไว้วางใจกันเป็นอย่างดี

อุปติสสะ กับ โกลิตะ มีอายุคราวเดียวกัน  เป็นสหชาติร่วมปีเกิด เดือนเกิด แต่อุปติสสะแก่วันกว่า  โกลิตะจึงเรียกอุปติสสะว่า  พี่ ในฐานะที่แก่กว่า  คนทั้งสองเจริญวัยอยู่ในความอุปถัมภ์บำรุงของบิดามารดาเป็นอย่างดี มีเด็กในหมู่บ้านทั้งสองเป็นเพื่อนฝูงกันแต่เยาว์วัยก็มาก  แม้เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาแล้ว  คนทั้งสองตลอดมิตรสหาย  ก็ได้เข้าศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน  แม้เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ยังเป็นเพื่อนร่วมงาน  ร่วมความสนุกสนานบันเทิงด้วยกันด้วยดีเสมอมา  ในการชมมหรสพ ถึงคราวสรวลเสเฮฮาก็สรวลเสเฮฮาด้วย ถึงคราวสสลดใจก็สลดด้วย  ควาวเบิกบานใจควรตกรางวัล  ก็ตกรางวัล
ให้ด้วยกัน

วันหนึ่ง  มีงานมหรสพบนภูเขา  มีผู้คนไปมาก  อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพก็ไปชมด้วยกัน  ทั้งสองมาณพมีบารมีญาณแก่กล้า  ดูมหรสพด้วยพิจารณา  เห็นความจริงของอากัปปกิริยาอาการของคน
แสสดงและคนดู   รวมทั้งตนเองด้วย  ปรากฎอยู่ในสถานะที่ไม่น่าจะนิยมชมชื่นเลย  เมื่อเป็นเช่นนั้น  การชมมหรสพก้ไม่ออกรส  ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนแต่ก่อน  หน้าตาก็ไม่เบิกบาน คิดว่า  อีกไม่ถึง ๑๐๐ ปี ทั้งคนแสดงและคนดูก็ตายหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อันใดในการมาดูมหรสพนี้เลย  ควรจะแสวงหาโมกขธรรมประเสริฐกว่า

ครั้นมาณพทั้งสองได้ไต่ถามถึงความรู้สึกนึกคิด  ทราบความประสงค์ตรงกันเช่นนั้นก็ดีใจ  และอุปติสสมาณพก็กล่าวกับโกลิตมาณพว่า  สมควรจะบวชแสวงหาโมกขธรรมด้วยกันเถิด  เมื่อตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้ว โกลิตมาณพจึงปรึกษาว่า  เราจะบวชในอาจารย์ใดดี.


วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โปรดอัครสาวก (ตอนที่ ๑)


พระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคม  โดยสำราญพอควรแก่กาลแล้ว ทรงพระประสงค์จะประดิษฐานพระศาสนาให้มั่นคงที่พระนครราชคฤห์  และทรงพระประสงค์จะเปลื้องปฏิญญาที่ทรงประทานแด่พระเจ้าพิมพิสารไว้แต่แรก  จึงชวนพระอริยสาวก ๑,๐๐๐ องค์  มีพระอุรุเวลกัสสปเป็นประธาน เสด็จไปยังนครมคธรัฐ  ประทับอยู่ที่ลัฎฐิวัน  ใกล้พระนครราชคฤห์

ครั้นนายอุทยานได้เห็นพระบรมศาสดา  พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร  ก็มีใจชื่นบานเลื่อมใส  รีบนำเรื่องเข้ากราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร  เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว  ก็ทรงโสมนัสเสด็จออกจากพระนคร  พร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดีจำนวน  ๑๒ หมื่น เป็นราชบริพารเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังลัฎฐิวันสถาน  ถวายความเคารพในพระรัตนตรัยด้วยพระราชศรัทธา

ส่วนพรหมณ์และคหบดีทั้งหลายนั้น  มีอัธยาศัยแตกต่างกัน  บางพวกถวายนมัสการแล้วก็นั่ง  บางพวกก็กล่าวสัมโมทนียกถาถวายความยินดีในการที่  พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่พระนครราชคฤห์  บางพวกถวายความยินดีที่มีโอกาสมาเข้าเฝ้า  ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า  บางพวกก็ประกาศชื่อและโครตของตน  บางพวกก็นั่งเฉยอยู่  บางพวกบางหมู่ก็ปริวิตกจิตคิดไปต่าง  ๆ  ว่า  พระสมณะโคดมบวชในสำนักท่านอุรุเวลกัสสป  หรือท่านอุรุเวลกัสสปบวชในสำนักพระสมณโคดม  หรือใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน

ลำดับนั้น  พระบรมศาสดา  ทรงทราบด้วยพระญาณ  ทรงพระประสงค์จะบรรเทาทิฏฐิของราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร  จึงทรงพระดำรัสแก่พระอุรุเวลกัสสป  "กัสสป  เธอเห็นโทษในการบูชาไฟอย่างไร  จึงได้เลิกละการบูชาไฟเสีย"

พระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์เห็นว่า  การบูชายัญญ์ทั้งหลายมีความใคร่ในกาม  คือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ  อันเป็นสิ่งที่น่าพอใจน่าปรารถนาเป็นสมุฎฐาน  เป็นเหตุแห่งความเร่าร้อน  เพราะความไม่สมปรารถนาบ้าง  เพราะอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงบ้าง  เพราะอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามอำนาจบ้าง  ไม่เป็นทางให้สิ้นทุกข์โดยชอบ  ข้าพระองค์จึงได้ละยัญญ์เหล่านั้นเสีย"

ครั้นพระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลดังนั้นแล้ว  มีความประสงค์จะสำแดงตนให้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายรู้ว่า  ตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า  จึงกระทำจีวรเฉวียงบ่า  ถวายบังคมพระบรมศาสดา  กราบทูลด้วยเสียงอันดัง  ด้วยอาการคารวะว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  พระองค์เป็นศาสดของข้าพระองค์  ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า"  และกระทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ  ๗ ชั่วลำตาล  แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคบาท  ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า  โดยอาการนี้ถึง ๗ ครั้ง  ยังความสงสัยของพราหมณ์และคหบดี ผู้เป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหมดในที่นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป  พร้อมกับได้ความเลื่อมใสและความอัศจรรย์ในพระบรมศาสดา  ตั้งใจสดับธรรมดดยคารวะ

ลำดับนั้น  พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงจตุราริยสัจ  โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น  ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ หมื่น ให้ได้ความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัย  เป็นอุบาสกในพระศาสนา

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว  พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายความยินดีเลื่อมใสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อหม่อมฉันยังเป็นขัตติยราชกุมารอยู่นั้น  หม่อมฉันได้ตั้งความปรารถนาเป็นมโนปณิธานไว้  ๕  ข้อ  คือ

         ๑.  ขอให้ได้รับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรนี้

         ๒.  ขอให้พระสัมพุทธเจ้าผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว  เสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉัน

         ๓.  ขอให้หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

         ๔.  ขอให้พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น  ทรงพระกรุณาประทานธรรมเทศนาแด่หม่อมฉัน  และ

         ๕.  ขอให้หม่อมฉันได้รู้ทั่วถึงในธรรมที่พระสัมพุทธเจ้าทรงประทาน

บัดนี้  มโนปณิธานทั้ง ๕ ประการ  ที่หม่อมฉันตั้งไว้นั้น ได้สำเร็จแล้วทุกประการ  หม่อมฉันมีความโสมนัสเบิกบานในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง  หม่อมฉันขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า  กับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งปวง  จงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้"  พระบรมศาสดา  ทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษดี  ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่าพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว  ก็ถวายอภิวาททูลลา  พาราชบริพารเสด็จกลับคืนเข้าสู่พระนคร.




วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง (ตอนที่ ๔)


วันหนึ่ง ชฎิลทั้ง ๕๐๐ ปรารถนาจะบูชาเพลิง ก่อเพลิงไม่ติด จึงคิดปริวิตกเหมือนหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว  ก็ทรงอนุญาตให้ก่อเพลิงได้  เพลิงก็ติดขึ้นทั้ง ๕๐๐ กอง พร้อมกันในขณะเดียวกัน  ชฎิลทั้งหลายบูชาเพลิงสำเร็จแล้ว  เพลิงก็ไม่ดับ จึงดำริหนหลัง  พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว  ก็ทรงอนุญาตให้ดับเพลิง เพลิงก็ดับพร้อมกันทั้ง ๕๐๐ กอง

วันหึ่ง ในเวลาหนาว  ชฎิลทั้งหลายลงอาบน้ำดำผุดขึ้นลงในแม่น้ำเนรัญชรานที  สมเด็จพระชินศรี ผู้ทรงพระกรุณาแก่ชฎิล  ทรงดำริว่า  เมื่อชฎิลขึ้นจากน้ำแล้วจะหนาวมาก  จึงทรงนิรมิตเชิงกรานประมาณ ๕๐๐ อัน  มีเพลิงติดทั้งสิ้นไว้ในที่นั้น   ครั้นชฎิลทั้งหลายขึ้นจากน้ำหนาวจัด  ก็ชวนกันเข้าผิงไฟที่เชิงกราน แล้วก็คิดสันนิษฐานว่า  พระมหาสมณะคงจะนิรมิตไว้ให้เป็นแน่  น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

วันหนึ่ง  มหาเมฆตั้งขึ้นมิใช่ฤดูกาล  บันดาลให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก  กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น  ธรรมดาว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จอยู่  ณ  ประเทศที่ใด  แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้  และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า  ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไปในทิศโดยรอบ  ที่หว่างกลางน้ำจะมีพื้นที่ภูมิภาคราบเรียบขึ้นปกติ  ตถาคตจะจงกรมอยู่ในที่นั้น แล้วก็อธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรัสนั้น

ฝ่ายอุรุเวลกัสสปนั้น  คิดว่า  พระมหาสมณะนี้  น้ำจะท่วมเธอหรือไม่ท่วมประการใด  หรือจะหลีกไปสู่ประเทศอื่น  จึงลงเรือพร้อมกับชฎิลทั้งหลายรีบพายไปดูโดยด่วน  ถึงประเทศที่พระองค์ทรงสถิตก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ  แลเห็นพระบรมศาสดา  เสด็จจงกรมอยู่ในพื้นภูมิภาคปราศจากน้ำ  จึงส่งเสียงร้องเรียก  พระพุทธเจ้าขานรับว่า  "กัสสป ! ตถาคตอยู่ที่นี่"  แล้วก็เสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศ
เลื่อนลอยลงสู่เรือของกัสสปชฎิล  กัสสปชฎิลก็ดำริว่า  พระมหาสมณะนี้มีอิทธิ์ฤทธิ์เป็นอันมาก  แต่ถึงมีอานุภาพมากอย่างนั้น  ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

แท้จริง  ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปตนมิคทายวัน  ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติกมาส (เดือน ๑๒)  มาประทับอยู่ทีอุรุเวลประเทศ  จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน  ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลกัสสป โดยอเนกประการ  อุรุเวลกัสสปก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น  ด้วยทิฏฐิอันกล้ายิ่งนัก  จึงทรงพระดำริว่า  ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง  จึงมีพระวาจาตรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า  "กัสสป ! ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์  ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกลมิใช่ทางมรรคผลอันใด  ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่า เป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเองทั้ง ๆ ที่ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า  ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด  ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก  กัสสป ! ถึงเวลาอันควรแล้วที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า  ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย  กัสสป !  แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน"  เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาท  ก็รู้สึกตัวละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า  "ข้าแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์  ขอถึงพระองค์ และพระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง"

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า  "กัสสป ! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจงให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะยอมให้บรรพชาอุปสมบท"  อุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม  แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์  ศิษย์ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชาในสำนักพระบรมครูสิ้น  แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยเครื่องบริขารและเครื่องตกแต่ง ผม ชฎา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังเสือ ไม้สามง่ามในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท  ทูลขอบรรพชาอุปสมบท  พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิขุอุปสัมปทาเสมอกัน

ครั้งนั้น  ท่านนทีกัสสป ผู้เป็นน้องกลาง เห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอยน้ำมา ก็ดำริว่า ชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่  จึงใช้ให้ชฎิลสองสามคนอันเป็นศิษย์ไปสืบดู  รู้เหตุแล้ว  นทีกัสสปดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์มาสู่สำนักของท่านอุรุเวลกัสส ป ถามเหตุนั้น  ครั้นทราบความแล้ว ก็เลื่อมใสชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น  พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา  พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้น  ดุจชฎิลพวกก่อนนั้น

ฝ่ายคยากัสสปดาบส ผู้เป็นน้องน้อย เห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้  ก็คิดดุจนทีกัสสปชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐  อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวลกัสสป ไปถามทราบความแล้ว  เลื่อมใสชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชลดุจหนหลัง  แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว  พระพุทธเจ้าทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสปเป็นต้น กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฎฐิแห่งตน
แล้วโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น  เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ  ตรัสพระธรรมเทศนา  อาทิตตปริยายสูตร  โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐  นั้นให้บรรลุพระอรหันต์ด้วยกันทั้งสิ้น.








วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง (ตอนที่ ๓)


ในกาลนั้น  ผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมศาสดา  พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินไปซักผ้าบังสุกุล  ซึ่งห่อศพนางุปุณณทาสี  ที่ทอดทิ้งอยู่ในอามกสุสานะป่าช้าผีดิบ  เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเกษัตริย์อุภโตสุชาติ  เสด็จจากขัตติยราชกุลอันสูงด้วยเกียรติศักดิ์  ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมพุทธเจ้า  เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์  เป็นโมลีของโลกเห็นปานนี้แล้ว  ยังทรงลดพระองค์ลงมาซักผ้าขาวที่ห่อศพนางปุณณทาสี  ที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า  เพื่อทรงใช้เป็นผ้าจีวรทรงเช่นนี้  เป็นกรณียะที่สุดวิสัยของเทวดาและมนุษย์ซึ่งอยู่ในสถานะเช่นนั้นจะทำได้  มหาปฐพีใหญ่ก็กัมปนาทหวั่นไหว เป็นมหัศจรรย์ถึง ๓ ครั้ง  ตลอดระยะทางทรงดำริว่า  ตถาคตจะซักผ้าบังสุกุลในที่ใด ?  ขณะนั้น ท้าวสหัสสนัยน์อมรินทราธิราชทรงทราบในพุทธปริวิตก  จึงเสด็จลงมาขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ในพื้นศิลา สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์ให้เต็มไปด้วยอุทกวารี  แล้วกราบทูลพระชินศรีให้ทรงซักผ้าบังสุกุลในที่นั้น  ขณะที่ทรงซักก็ทรงพระดำริว่า จะทรงขยำในที่ใดดี  ท้าวโกสีย์ก็นำเอาแผ่นศิลาใหญ่เข้าไปถวาย  ทรงขยำด้วยพระหัตถ์จนหายกลิ่นอสุภ  แล้วก็ทรงพระดำริว่า จะห้อยตากผ้าบังสุกุลจีวรในที่ใดดี  ลำดับนั้น  รุกขเทพยดา  ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ไม้กุ่มบก  ก็น้อมกิ่งไม้ลงมาถวายให้ทรงห้อยตากจีวร  ครั้นทรงห้อยตากแล้วก็ทรงพระจินตนาว่า  จะแผ่พักผ้าในที่ใด  ท้าวสหัสสนัยน์ก็ยกแผ่นศิลาอันใหญ่มาทูลถวายให้แผ่พักผ้าบังสุกุลนั้น

เพลารุ่งเช้า  อุรุเวลกัสสปไปเฝ้าพระบรมศาสดา  เห็นสระและแผ่นศิลาทั้งสอง  ซึ่งมิได้ปรากฎมีในที่นั้นมาก่อน  และกิ่งไม้กุ่มน้อมลงมาเช่นนั้น  จึงทูลถาม  พระบรมศาสดาตรัสบอกความทั้งปวงให้ทราบ  เมื่อกัสสปได้ฟังก็สะดุ้งตกใจ  ดำริว่า  พระสมณะองค์นี้มีเดชานุภาพมากยิ่งนัก  แม้ท้าวมัฆวานยังลงมากระทำไวยาวัจกิจถวาย  แต่ก็ไม่เป็นพระอรหัน์เหมือนอาตมา

พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของชฎิล  แล้วก็กลับมาสถิตยังพนาสณฑ์ตำบลที่อาศัย ครั้นรุ่งขึ้นในวันเป็นลำดับ  กัสสปชฎิลไปทูลนิมนต์ฉันภัตตาหาร  จึงตรัสว่า  "ท่านจงไปก่อนเถิด  ตถาคตจะตามไปภายหลัง"  เมื่อส่งชฎิลไปแล้ว  จึงเสด็จเหาะไปนำเอาผลหว้าใหญ่ประจำทวีป  ในป่าหิมพานต์มาแล้วก็เสด็จมาถึงโรงไฟก่อนหน้าชฎิล  ครั้นชฎิลมาถึงจึงทูลถามว่า  พระองค์มาทางใดจึงถึงก่อน  พระศาสดาจึงตรัสบอกปรัพฤติเหตุแล้วตรัสว่า  "ดูกร  กัสสปผลหว้าประจำทวีปนี้  มีวรรณสัณฐานสุคันธรสเอมโอช  ถ้าท่านปรารถนาจะบริโภคก็เชิญตามปรารถนา"  อุรุเวลกัสสปก็ดำริเห็นอัศจรรย์ดุจหนหลัง ครั้นพระบรมศาสดาทำภัตกิจเสร็จแล้ว  ก็สด็จกลับไปยังพนาสณฑ์ที่สำนัก

ในวันต่อมา  ได้ทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์เช่นนั้นอีก ๔ ครั้ง  คือ ทรงส่งอุรุเวลกัสสปมาก่อนแล้ว  เสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วงครั้งหนึ่ง  เก็บผลมะขามป้อมครั้งหนึ่ง  เก็บผลสัมในป่าหิมพานต์ครั้งหนึ่ง  เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลก นำเอาผลไม้ปาริฉัตตกครั้งหนึ่ง  เสด็จมาถึงก่อน  คอยท่าอุรุเวลกัสสปอยู่ที่โรงไฟ  ให้ชฎิลเห็นเป็นอัศจรรย์ใจทุกครั้ง

วันหนึ่ง  ชฎิลทั้งหลายปรารถนาจะก่อไฟ ก็มิอาจผ่าฟืนออกได้  จึงดำริว่าที่เป็นทั้งนี้  เพราะฤทธิ์พระมหาสมณะทำโดยแท้  พระบรมสาสดาจึงตรัสถาม  ครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า  ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนาเถิด  ในทันใดนั้นชฎิลก็ผ่าฟืนออกตามประสงค์


วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง (ตตอนที่ ๒))


พระบรมศาสดา เสด็จมากระทำภัตตกิจ เสวยภัตตาหารของอุรุเวลกัสสปะเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับสู่ทิวาวิหารในพนาสณฑ์นั้น  ครั้นรัตติกาลสมัย ท้าวสหัสสนัยน์ก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา ถวายนมัสการแล้วยืนอยู่ที่ควรข้างหนึ่ง เปล่งรัศมีสว่างดุจกองอัคคีใหญ่ ไพโรจน์ยิ่งกว่าราตรีก่อน  ครั้นเพลารุ่งเช้า กัสสปชฎิลไปสู่สำนักพระบรมศาสดา  ทูลอาราธนาให้ฉันภัตตาหารแล้วทูลถามว่า  เมื่อคืนนนี้มีผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์  จึงมีรัศมีสว่างยิ่งกว่าราตรีก่อน  ตรัสบอกว่า  "ดูกร กัสสปะ เมื่อคืนนี้ท้าวโกสีย์สักกเทวราชลงมาสู่สำนักตถาคต เพื่อจะฟังธรรม"  ชฎิลได้สดับดังนั้น ก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจนัยก่อน

พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของกัสสปดาบสแล้ว  ก็กลับมาอยู่ที่ทิวาวิหารยังพนัสสถานที่นั้น  ครันเข้าสมัยราตรี ท้าวสหัมบดีมหาพรหมก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา  เปล่งรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปกว่าสองราตรีนั้น  ครั้นรุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปก็ไปทูลอาราธนาฉันภัตตาหาร แล้วทูลถามอีก  ตรัสบอกว่า  "คืนนี้ท้าวสหัมบดีพรหมลงมาสู่สำนักตถาคต"  กัสสปดาบสก็ดำริดุจนัยก่อน  พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของอุรุเวลชฎิลแล้วก็กลับสู่สำนัก

ในวันรุ่งขึ้น มหายัญญลาภบังเกิดขึ้นแก่อุรุเวลชฎิลทั้งหลาย จะนำเอาขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก มาถวายแก่อุรุเวลชฎิล  อุรุเวลชฎิลจึงดำริแต่ในราตรีว่า  รุุ่งขึ้นพรุ่งนี้มหาชนจะนำเอาอเนกนานาหารมาสู่สำนักอาตมา  หากพระสมณะรูปนี้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์  ลาภสักการะก็จะบังเกิดแก่เธอเป็นอันมาก  อาตมาจักเสื่อมสูญจากสรรพสักการบูชา  ทำไฉน ณ วันพรุ่งนี้อย่าให้เธอมาสู่ที่นี้ได้

พระบรมศาสดาทรงทราบความดำริของชฎิลด้วยเจโตปริยญาณ  ครั้นเพลารุ่งเช้าก็เสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป ทรงบิณฑบาตร ได้ภัตตาหารแล้ว ก็เสด็จมาทำภัตตากิจยังฝั่งอโนดาต แล้วทรงยังยั้งอยู่ ณ ทิวาวิหารในที่นั้นต่อเพลาสายัณห์สมัย จึงเสด็จมาสู่วนสณฑ์สำนัก  ครั้นรุ่งขึ้นกัสสปชฎิลไปทูลอาราธนาเสวยภัตตาหารและทูลถามว่า  "วานนี้พระองค์ไปแสวงหาอาหารในที่ใด ไฉนไปสู่สำนักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าระลึกถึงพระองค์อยู่"  จึงมีพระพุทธฎีกา ตรัสบอกวาระน้ำจิตของชฎิลที่วิตกนั้น ให้แจ้งทุกประการ  อุรุเวลกัสสปได้สดับก็ตกใจ ดำริว่า  พระมหาสมณะนี้มีอานุภาพมากแท้  เธอล่วงรู้จิตอาตมาถึงดังนั้น  ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา