สมัยนั้น สญชัยปริพพาชก เป็นอาจารย์ใหญ่ อยู่ในเมืองราชคฤห์สำนักหนึ่ง ที่มีบริษัทบริวารมาก มาณพทั้งสองจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า เราควรจะไปบวชในสำนักอาจารย์สญชัยปริพพาชก ครั้นตกลงใจแล้ว มาณพทั้งสองต่างก็พาบริวารของตนรวม ๕๐๐ คน เข้าไปหาท่านอาจารย์สญชัยปริพพาชก ขอบวชและศึกษาอยู่ในสำนักนั้น
จำเดิมแต่มาณพทั้งสอง เข้าไปบวชเป็นศิษย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพพาชกไม่นาน สำนักนี้ก็เจริญ เป็นที่นิยมของมหาชนเป็นอันมาก ลาภสักการะพร้อมด้วยยศก็เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
เมื่ออุปติสสมาณพและโกลิตพราหมณ์บวชเป็นปริพพาชก ศึกษาลัทธิของอาจารย์สญชัยไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ จึงได้เรียนถามว่า "ท่านอาจารย์ ลัทธิของท่านอาจารย์มีเท่านี้แหละหรือ ? " อาจารย์สญชัยก็บอกว่า "ลัทธิของเรามีเพียงเท่านี้ ท่านทั้งสองเรียนจบบริบูรณ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้ารู้ โดยท่านไม่รู้เลย" แล้วตั้งให้อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพทั้งสองเป็นอาจารย์สอนศิษย์ในสำนัก มีศักดิ์เสมอด้วยตน
มาณพทั้งสองปรึกษากันว่า การอยู่ประพฤติพรหมณ์จรรย์ในสำนักนี้ หาประโยชน์มิได้ ด้วยไม่เป็นทางให้เข้าถึงโมกขธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการหลุดพ้นได้ ความจริงชมพูทวีปนี้ก็กว้างใหญ่ คงจะมีท่านที่มีความรู้สอนให้เราเข้าถึงโมกขธรรมได้ ควรจะเที่ยวสืบเสาะแสวงหาดู แล้วมาณพทั้งสองก็ลาอาจารย์ เที่ยวเสาะแสวง หาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นอาจารย์สอนโมกขธรรมให้ แม้พยายามเที่ยวไปในชนบทน้อยใหญ่ ได้ข่าวว่ามีอาจารย์ในสำนักใด มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมนับถือก็เข้าไปไต่ถาม ขอรับความรู้ความแนะนำ แต่แล้วก็ไม่สมประสงค์ เพราะทุกอาจารย์ที่เข้าไปไต่ถาม ต่างก็ยอมจำนน ด้วยไม่สามารถบรรเทาความสงสัย ให้ความเบิกบานเคารพนับถือได้ เมื่อได้ท่องเที่ยวทุกแห่งจนสุดความสามารถ สิ้นศรัทธาที่จะพยายามสืบเสาะต่อไปอีกแล้ว มาณพทั้งสองก็กลับมาอยู่สำนักของอาจารย์เดิมดังกล่าว ต่างให้สัญญาไว้แก่กันว่า ผิว่าผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกให้แก่ผู้หนึ่งได้รู้เช่นกัน
ในกาลนั้น พอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ตรายเท่าจนส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ ออกไปเที่ยวประกาศพระศาสนา แล้วพระองค์ก็เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิล ๑,๐๐๐ รูป แล้วเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จประทับอยู่ในกรุงเวฬุวันวิหาร ครั้งนั้นพระอัสสชิเถรจ้า ซึ่งอยู่ในคณะภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ออกประกาศพระศาสานา จาริกมาสู่เมืองราชคฤห์ เวลาเช้าทรงบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตรในเมือง ขณะนั้นพออุปติสสปริพพาชกบริโภคอาหารเช้าแล้ว เดินไปสู่อารามปริพพาชก เห็นพระติสสเถรเจ้า ซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระตามสมณะวิสัย จะก้าวไปข้างหน้า หรือถอยกลับ มีสติสังวรเป็นอันดี มีจักษุทอดประมาณทุกขณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เป็นที่พึงตาพึงใจของอุปติสสเป็นอย่างมาก ดำริว่า บรรพชิตนี้มีกิริยาอาการในรูปนี้ เรามิได้เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ท่านผู้ใดได้รับการยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ บรรพชิตรูปนี้จะต้องนับเข้าในพระอรหันต์พวกนั้นรูปหนึ่งเป็นแน่แท้ ควรเราจะเข้าหาสมณะรูปนี้ เพื่อได้ศึกษา ขอรับข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุโมกขธรรมเช่นท่านบ้าง แต่แล้วอุปติสสมาณพก็ได้สติ ดำริใหม่ว่า "ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยวบิณฑบาตรของภิกษุรูปนี้อยู่ ไม่ควรที่เราจะเข้าไปไต่ถาม" ครั้นอุปติสสดำรินี้แล้ว ก็เดินติดตามท่านภายในระยะทางพอสมควร เสร็จแล้ว อุปติสสปริพพาชก จึงกล่าวปฏิสันถารด้วยคารวะว่า ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ใบหน้าของท่านผ่องใสยิ่งนัก แสดงว่าท่านมีความสุข แม้ผิวพรรณของท่านก็สะอาดบริสุทธิ์ ประทานโทษ ท่านบรรพชาต่อท่านผู้ใด ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน และท่านได้เล่าเรียนธรรมในผู้ใด ? "
---------------------------------
คัดลอกจาก.....หนังสือพุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ...พระพิมลธรร (ชอบ อนุจารีมหาเถระ ร.บ.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น