วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โปรดอัครสาวก (ตอนที่ ๑)


พระบรมศาสดา เสด็จประทับอยู่ที่อุรุเวลาเสนานิคม  โดยสำราญพอควรแก่กาลแล้ว ทรงพระประสงค์จะประดิษฐานพระศาสนาให้มั่นคงที่พระนครราชคฤห์  และทรงพระประสงค์จะเปลื้องปฏิญญาที่ทรงประทานแด่พระเจ้าพิมพิสารไว้แต่แรก  จึงชวนพระอริยสาวก ๑,๐๐๐ องค์  มีพระอุรุเวลกัสสปเป็นประธาน เสด็จไปยังนครมคธรัฐ  ประทับอยู่ที่ลัฎฐิวัน  ใกล้พระนครราชคฤห์

ครั้นนายอุทยานได้เห็นพระบรมศาสดา  พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร  ก็มีใจชื่นบานเลื่อมใส  รีบนำเรื่องเข้ากราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร  เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว  ก็ทรงโสมนัสเสด็จออกจากพระนคร  พร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดีจำนวน  ๑๒ หมื่น เป็นราชบริพารเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังลัฎฐิวันสถาน  ถวายความเคารพในพระรัตนตรัยด้วยพระราชศรัทธา

ส่วนพรหมณ์และคหบดีทั้งหลายนั้น  มีอัธยาศัยแตกต่างกัน  บางพวกถวายนมัสการแล้วก็นั่ง  บางพวกก็กล่าวสัมโมทนียกถาถวายความยินดีในการที่  พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่พระนครราชคฤห์  บางพวกถวายความยินดีที่มีโอกาสมาเข้าเฝ้า  ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า  บางพวกก็ประกาศชื่อและโครตของตน  บางพวกก็นั่งเฉยอยู่  บางพวกบางหมู่ก็ปริวิตกจิตคิดไปต่าง  ๆ  ว่า  พระสมณะโคดมบวชในสำนักท่านอุรุเวลกัสสป  หรือท่านอุรุเวลกัสสปบวชในสำนักพระสมณโคดม  หรือใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน

ลำดับนั้น  พระบรมศาสดา  ทรงทราบด้วยพระญาณ  ทรงพระประสงค์จะบรรเทาทิฏฐิของราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร  จึงทรงพระดำรัสแก่พระอุรุเวลกัสสป  "กัสสป  เธอเห็นโทษในการบูชาไฟอย่างไร  จึงได้เลิกละการบูชาไฟเสีย"

พระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์เห็นว่า  การบูชายัญญ์ทั้งหลายมีความใคร่ในกาม  คือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ  อันเป็นสิ่งที่น่าพอใจน่าปรารถนาเป็นสมุฎฐาน  เป็นเหตุแห่งความเร่าร้อน  เพราะความไม่สมปรารถนาบ้าง  เพราะอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงบ้าง  เพราะอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามอำนาจบ้าง  ไม่เป็นทางให้สิ้นทุกข์โดยชอบ  ข้าพระองค์จึงได้ละยัญญ์เหล่านั้นเสีย"

ครั้นพระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลดังนั้นแล้ว  มีความประสงค์จะสำแดงตนให้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายรู้ว่า  ตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า  จึงกระทำจีวรเฉวียงบ่า  ถวายบังคมพระบรมศาสดา  กราบทูลด้วยเสียงอันดัง  ด้วยอาการคารวะว่า  "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค  พระองค์เป็นศาสดของข้าพระองค์  ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า"  และกระทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ  ๗ ชั่วลำตาล  แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคบาท  ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า  โดยอาการนี้ถึง ๗ ครั้ง  ยังความสงสัยของพราหมณ์และคหบดี ผู้เป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหมดในที่นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป  พร้อมกับได้ความเลื่อมใสและความอัศจรรย์ในพระบรมศาสดา  ตั้งใจสดับธรรมดดยคารวะ

ลำดับนั้น  พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงจตุราริยสัจ  โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น  ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ หมื่น ให้ได้ความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัย  เป็นอุบาสกในพระศาสนา

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว  พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายความยินดีเลื่อมใสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อหม่อมฉันยังเป็นขัตติยราชกุมารอยู่นั้น  หม่อมฉันได้ตั้งความปรารถนาเป็นมโนปณิธานไว้  ๕  ข้อ  คือ

         ๑.  ขอให้ได้รับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์เสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรนี้

         ๒.  ขอให้พระสัมพุทธเจ้าผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว  เสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉัน

         ๓.  ขอให้หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

         ๔.  ขอให้พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น  ทรงพระกรุณาประทานธรรมเทศนาแด่หม่อมฉัน  และ

         ๕.  ขอให้หม่อมฉันได้รู้ทั่วถึงในธรรมที่พระสัมพุทธเจ้าทรงประทาน

บัดนี้  มโนปณิธานทั้ง ๕ ประการ  ที่หม่อมฉันตั้งไว้นั้น ได้สำเร็จแล้วทุกประการ  หม่อมฉันมีความโสมนัสเบิกบานในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง  หม่อมฉันขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า  กับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งปวง  จงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้"  พระบรมศาสดา  ทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษดี  ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่าพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว  ก็ถวายอภิวาททูลลา  พาราชบริพารเสด็จกลับคืนเข้าสู่พระนคร.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น