วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

โปรดอัครสาวก (ตอนที่ ๒)


ครั้นวันรุ่งขึ้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐   เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังพระนครราชคฤห์  เสด็จสู่พระราชนิเวศน์ขึ้นประทับยังพระบวรพุทธอาสน์  พระเจ้าพิมพิสารมหาราช  พร้อมด้วยราชบริพาร  ทรงถวายมหาทาน อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระหัตถ์  ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสร็จการเสวยแล้ว  พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  "ลัฎฐิวัน ที่ทรงประทับอยู่นั้นเล็ก ทั้งไกลจากชุมนุมชนเกินพอดี ไม่สะดวกแก่่ผู้มีศรัทธามีกิจจะพึงไป  หม่อมฉันขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม  ด้วยเป็นสถานที่กว้างใหญ่  มีเสนาสนะเรียบร้อย  ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไกลจากชุมนุมชน เงียบสงัด ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน  ผู้มีกิจจะพึงไปถึงได้ไม่ลำบาก  สมเป็นพุทธาธิวาสอันพระองค์จะทรงประทับ"  กราบทูลแล้วก็ทรงจับพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทก ให้ตกลงที่พระหัตถ์พระบรมศาสดา  ถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน  เป็นสังฆาราม เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา

พระบรมศาสดทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆารามแล้ว  ทรงอนุโมทนาแล้วพาพระสงฆ์สาวกเสด็จกลับประทับยังพระเวฬุวันวิหาร  เป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาอันมโหฬาร  ทั้งงามตระการตาและมั่นคง  ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งมาแต่อุดรทิศ  จะพึงเข้าพำนักอยู่อาศัย  เป็นความสะดวกสบายแก่สมณเพศที่โลกยกย่องว่าเป็นบุญเขต ควรแก่การบูชา  มหาชนมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  หลั่งไหลกันมาสดับธรรมเทศนากันเป็นอันมาก  เป็นอันว่า พระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนา เป็นหลักฐานลงที่พระเวฬุวันวิหาร  ณ พระนครราชคฤห์  เกียรติศักดิ์เกียรติคุณอห่งพระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่ไปในชุมนุมชนตามตำบลน้อยใหญ่เป็นลำดับ

สมัยนั้น  มีหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ใกล้กรุงราชคฤห์  ๒ หมู่บ้าน  เรียกว่า อุปติสสคาม บ้าน ๑  โกสิตคาม บ้าน ๑ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านอุปติสสคาม ซึ่งเกิดแต่นางสารีพราหมณี  ชื่อ อุปติสสะ  บุตรคนใหญ่ของนายบ้านโกลิตคาม ซึ่งเกิดแต่นางโมคคัลลีพราหมณี  ชื่อ โกลิตะ  และเนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองตั้งอยูไม่ไกลกัน  มีฐานะทัดเทียมกัน  ทั้งเคารพนับถือกันดี  ดังนั้นบุตรของตระกูลทั้งสองนี้  จึงรักใคร่ ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม  คบหาสมาคมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็กไว้วางใจกันเป็นอย่างดี

อุปติสสะ กับ โกลิตะ มีอายุคราวเดียวกัน  เป็นสหชาติร่วมปีเกิด เดือนเกิด แต่อุปติสสะแก่วันกว่า  โกลิตะจึงเรียกอุปติสสะว่า  พี่ ในฐานะที่แก่กว่า  คนทั้งสองเจริญวัยอยู่ในความอุปถัมภ์บำรุงของบิดามารดาเป็นอย่างดี มีเด็กในหมู่บ้านทั้งสองเป็นเพื่อนฝูงกันแต่เยาว์วัยก็มาก  แม้เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาแล้ว  คนทั้งสองตลอดมิตรสหาย  ก็ได้เข้าศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน  แม้เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ยังเป็นเพื่อนร่วมงาน  ร่วมความสนุกสนานบันเทิงด้วยกันด้วยดีเสมอมา  ในการชมมหรสพ ถึงคราวสรวลเสเฮฮาก็สรวลเสเฮฮาด้วย ถึงคราวสสลดใจก็สลดด้วย  ควาวเบิกบานใจควรตกรางวัล  ก็ตกรางวัล
ให้ด้วยกัน

วันหนึ่ง  มีงานมหรสพบนภูเขา  มีผู้คนไปมาก  อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพก็ไปชมด้วยกัน  ทั้งสองมาณพมีบารมีญาณแก่กล้า  ดูมหรสพด้วยพิจารณา  เห็นความจริงของอากัปปกิริยาอาการของคน
แสสดงและคนดู   รวมทั้งตนเองด้วย  ปรากฎอยู่ในสถานะที่ไม่น่าจะนิยมชมชื่นเลย  เมื่อเป็นเช่นนั้น  การชมมหรสพก้ไม่ออกรส  ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนแต่ก่อน  หน้าตาก็ไม่เบิกบาน คิดว่า  อีกไม่ถึง ๑๐๐ ปี ทั้งคนแสดงและคนดูก็ตายหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อันใดในการมาดูมหรสพนี้เลย  ควรจะแสวงหาโมกขธรรมประเสริฐกว่า

ครั้นมาณพทั้งสองได้ไต่ถามถึงความรู้สึกนึกคิด  ทราบความประสงค์ตรงกันเช่นนั้นก็ดีใจ  และอุปติสสมาณพก็กล่าวกับโกลิตมาณพว่า  สมควรจะบวชแสวงหาโมกขธรรมด้วยกันเถิด  เมื่อตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้ว โกลิตมาณพจึงปรึกษาว่า  เราจะบวชในอาจารย์ใดดี.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น