วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สละราชสมบัติ


                     

                          ขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น
 เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จหนีออกจากพระนคร  เพื่อบรรพชาโดยม้ากัณฐกะและมีนายฉันทะตามเสด็จ

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จพ้นพระนครไปแล้ว  ในระหว่างทางได้มีพญามารวัสวดีผู้มีใจบาป  เมื่อเห็นเจ้าชายสิทธัตถะสละราชสมบัติ  แล้วเสด็จหนีออกจากพระนครเพื่อบรรพชา  เห็นว่าพระองค์จะล่วงบ่วงของพญามาร  จึงได้เหาะมาในอากาศ แล้วยกมือขึ้น  ร้องห้ามว่า  ดูกรพระสิทธัตถะ ท่านอย่าเพิ่งรีบร้อนออกบรรพชาเลย  ยังอีกเพียง ๗ วันเท่านั้น  ทิพยรัตนจักรก็จักปรากฏแก่ท่าน  แล้วท่านก็จะได้เป็นพระบรมจักรพรรดิ  เสวยราชสมบัติเป็นอิสราธิบดี  มีทวีปใหญ่ทั้ง ๔  เป็นขอบเขต  ขอท่านจงนิวัตนาการกลับคืนสู่พระนครเถิด

พระโพธิสัตว์หรือเจ้าชายสิทธัตถะตรัสว่า  ดูกร  พญามาร  แม้เราจะทราบแล้วว่า ทิพยรัตนจักรจะเกิดขึ้นแก่เรา  แต่เราก็มิได้ต้องการบรมจักรพรรดิสมบัตินั้น  เพราะเหตุว่า แม้สมบัติบรมจักรพรรดินั้น ก็ตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ ไม่อาจนำผู้เสวยให้พ้นทุกขืได้  ท่านจงหลีกไปเถิด  เมื่อทรงขับพญามารไปแล้ว  พระองค์ก็ทรงขับม้ากัณฐกะราชชาติมโนทัยไปจากที่นั้น  มุ่งหน้าสู่มรรคาเพื่อข้ามพ้นเขตราชเสมาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์  เหล่าทวยเทพยดาต่างก็พากันปลาบปลื้มยินดี  บูชาด้วยบุปผามาลัยมากมาย  บ้างก็ติดตามห้อมล้อมถวายการรักษาคุ้มครองพระมหาบุรุษเจ้าตลอดไป


 เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระโมลีด้วยพระขรรค์  เพื่ออธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต

พอจวนใกล้รุ่งปัจจุบันสมัย  ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที  ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำอโนมาไปได้โดยสวัสดี  เมื่อได้ทรงทราบว่าพ้นเขตพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว  จึงเสด็จลงจากหลังอัศวราช  แล้วทรงนั่งประทับบนหาดทรายอันขาวสะอาด  รับสั่งกับนายฉันทะว่า  เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ณ ที่นี้  ท่านจงนำเครื่องประดับของอาตมากับม้าสินธีพก  กลับพระนครเถิด  เมื่อตรัสเสร็จแล้ว  ก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยวงศ์ทั้งหมด  แล้วมอบให้นายฉันทะ  พระองค์ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชา  จึงทรงดำริว่า  เกศาของอาตมานี้  ไม่สมควรแก่สมณเพศ  จึงทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย  พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์  ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง  แล้วทรงจับพระโมลีขว้างขึ้นไปในอากาศ  ทรงอธิษฐานว่า  ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณโดยแน่แท้แล้ว  ขอจุฬาโมลีนี้จงตั้งอยู่ในอากาศ  อย่าได้ตกลงมา  จุฬาโมลีก็มิได้ตกลงมา  คงลอยอยู่ในอากาศ

ขณะนั้น สมเด็จพระอัมรินทราธิราชได้นำผอบแท้มารองรับพระจุฬาโมลี  แล้วนำไปบรรจุ ณ จุฬามณีในเทวโลก  จากนั้นต่อมา ฆฏิการพรหมจากพรหมโลก ได้นำไตรจีวรและบาตรมาถวาย  พระสิทธัตถะทรงรับผ้าไตรจีวรกาสาวพัสตร์และบาตรแล้ว  ทรงนำผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์  ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตอุดมเพศ  แล้วได้ทรงมอบผ้าทรงเมื่อครั้งเป็นคฤหัสเพศทั้งคู่ ให้แก่ฆฏิการพรหม   แล้วฆฏิการพรหมได้น้อมนำไปบรรจุในทุสสเจดีย์ในพรหมโลก

                                                       
                                                      ....................................................

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เสด็จออกบรรพชา


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑
                     
                ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น


   เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรพระราหุลโอรสเป็นครั้งสุดท้าย   ก่อนเสด็จออกบรรพชา


หลังจากที่พระสิทธัตถะหรือพระโพธิสัตว์ได้เสด็จประพาสพระราชอุทยานแล้ว  ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔  ได้แก่  คนแก่  คนเจ็บ  คนตายและสมณะ  ซึ่งเทพยดาได้เนรมิตเพื่อให้ทอดพระเนตร  ทรงเกิดความเบื่อหน่ายในกามสุขมาก  ทรงพิจารณาเห็นความแก่  ความเจ็บและความตายเหล่านี้ครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่ให้ล่วงพ้นไปได้  เพราะโทษจากการที่ไม่ได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของสัตบุรุษ หรือคำสอนของผู้รู้

เมื่อเห็นบุคคลอื่นแก่  เจ็บแล้วก็ตายไป ย่อมมีความเบื่อหน่ายและเกลียดชัง  ไม่คิดว่าตนเองก็จะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน  ยังมัวเมาอยู่ในวัย  เมาในความไม่มีโรคภัยเบียดเบียนและเมาในชีวิต จนลืมนึกถึงความแก่ ความเจ็บและความตาย มีแต่จะแสวงหาสิ่งอันมีสภาวะไม่เที่ยงเช่นนั้นมากขึ้น  ไม่คิดหาอุบายที่จะเป็นเครื่องนำออกจากการเวียนเกิดเวียนตายไม่มีที่สิ้นสุด  แม้พระองค์เองก็จะต้องประสบกับสภาวะแห่งความไม่เที่ยงเช่นนั้นเหมือนกัน

เมื่อได้ทรงดำริเช่นนั้นแล้ว  พระองค์ได้ทรงบรรเทาความเมา ๓ ประการ  คือ  ความเมาในวัย  ความในความไม่มีโรค  ความเมาในชีวิตกับความติดข้องยินดีพอใจในกามวัตถุทั้งหลาย  จึงดำรัสต่อไปว่า  "ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกต่อกัน เช่น  มีร้อนก็มีเย็น,  มีมืดก็มีสว่าง  บางที่อาจจะมีอุบายแก้ทุกข์  ๓ อย่างนี้ได้บ้าง"  แต่ว่าการที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ ๓ ประการนี้  ก็ยังยากมากสำหรับผู้ที่ยังครองตนอยู่ในฆราวาสวิสัย  เพราะเหตุว่า ฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบและเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ซึ่งทำใจให้เศร้าหมอง  ด้วยแห่งความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางแห่งธุลี  การบรรพชาเท่านั้น ที่จะเป็นช่องทางที่แสวงหาอุบายพ้นทุกข์ได้  เมื่อทรงดำริเช่นนั้นแล้ว  ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในการบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงแน่พระทัยว่า จะเป็นอุบายให้พระองค์แสวงธรรมเป็นเครื่องพ้นทุกข์ทั้งปวงได้เช่นนั้น  ก็ทรงโสมนัส เสด็จกลับพระราชวังในเวลาเย็น เสด็จขึ้นประทับที่มุขปราสาทชั้นบน  ขณะนั้น
นางกีสาโคตมีราชกัญญาแห่งศากยราช  ได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าชายสิทธัตถะ  ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์ จึงได้ตรัสคาถาสรรเสริญพระคุณสมบัติของพระราชกุมารด้วยเสียงอันไพเราะว่า

                    นิพฺ พุตา  นูน สา มาตา     นิพฺ พุโต  นูน โส ปิตา
                    
                    นิพฺ พุตา  นูน  สา  นารี      ยสฺ  สายํ  อี ทิ โส  ปติ.

ความหมายว่า  หญิงใดเป็นมารดาของพระกุมารนี้  หญิงนั้นดับทุกข์ได้  ชายใดเป็นบิดาของพระกุมารนี้  ชายนั้นดับทุกข์ได้  พระกุมารนี้เป็นสามีของนางใด  นางนั้นดับทุกข์ได้

เมื่อพระราชกุมารได้ทรงสดับคาถานั้นแล้ว  ทรงเลื่อมใสพอพระทัยยิ่งในคำว่า  "นิพฺพุตา"  คือ ความดับทุกข์ ซึ่งมีความหมายถึงพระนิพพาน อันเป็นธรรมเครื่องดับทุกข์ทั้งปวง  ทรงดำริว่า "พระน้องนางผู้นี้ให้เราได้สดับคุณบางแห่งพระนิพพานครั้งนี้ ชอบยิ่งนัก"  จึงได้ทรงถอดสร้อยมุกซึ่งมีค่ายิ่งจากพระศอ แล้วพระราชทานรางวัลแก่พระนางกีสาโคตมี ด้วยทรงมีปีติยิ่ง ผดุงน้ำพระทัยให้พระองค์น้อมไปในการเสด็จออกบรรพชามากยิ่งขึ้น  แต่กลับตรงกันข้ามกับความรู้สึกของพระนางกีสาโคตมี เมื่อได้รับประราชทานสร้อยมุก ก็ยิ่งกลับเป็นการเพิ่มความปฏิพัทธ์ในพระกุมารยิ่งขึ้น คิดว่าพระกุมารคงจักพอพระทัยปฏิพัทธ์ในพระนาง แล้วยังคิดไปไกลตามวิสัยของคนมีความรัก

การที่พระองค์จะเสด็จออกบรรพชาก็มีทางเดียว คือ เสด็จออกจากพระราชวังด้วยการตัดความอาลัย
อาวร ไม่เยื่อใยในพระราชสมบัติ ไม่เยื่อใยในพระชายาและพระโอรส  รวมทั้งไม่เยื่อใยในพระประยูรญาติ  ข้าราชบริพารทั้งหลาย  หากว่าจะทูลพระราชบิดาให้รับทราบ  ก็คงจะต้องถูกคัดค้าน  การเสด็จออกบรรพชาก็จะไม่สำเร็จดังพระราชประสงค์  จึงเสด็จเข้าบรรทมแต่หัวค่ำ ไม่ทรงยินดีในการขับร้องดนตรีประโคมดุริยางค์ของเหล่าราชกัญญาทั้งหลาย  ที่พระราชบิดาได้จัดมาบำรุงบำเรอให้ทุกอย่าง



                                                               เจ้าชายสิทธัตถะประทับม้ากัณฑกะเสด็จออกบรรชา


เวลาดึกสงัดพระองค์ตื่นจากบรรทม ได้ทอดพระเนตร เห็นนางบำเรอร้องรำขับร้องประโคมดนตรีเหล่านั้น นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท  บางนางผ้าห่มหลุด  บางนางนอนกอดกัน บางนางนอนอ้าปาก  บางนางนอนกัดฟัน  บางนางน้ำลายไหล  บางนางผ้าห่มหลุด  บางนางบ่นละเมอนอนกลิ้งไปมา  ปรากฏแก่เจ้าชายสิทธัตถะ  ดุจดังซากศพอันทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบ  ปราสาทที่สวยงามก็กลายเป็นเสมือนป่าช้า  ยิ่งเป็นการเร่งที่จะดำริในการออกบรรพชาในเวลาย่ำค่ำนั้น  ทรงเห็นการบรรพชาเป็นทางที่จะทำให้ห่างจากอารมณ์หลอกล่อให้หลงและมัวเมาในกามคุณทั้งหลาย  จึงเป็นช่องทางที่จะบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นด้วย  ทำชีวิตให้มีประโยชน์ยิ่ง จึงทรงตกลงพระทัยและจัดเตรียมแต่งองค์ทรงพระขรรค์  รับสั่งนายฉันนะอำมาตย์  ให้เตรียมผูกม้ากันฑกะ เพื่อเสด็จออกจากพระนครในราตรีนั้น

ครั้นตรัสสั่งนายฉันนะแล้ว ได้เสด็จไปยังปราสาทของพระนางพิมพา  เพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมาร
โอรสพระองค์เดียว เห็นพระนางพิมพาบรรทมหลับสนิท พระกรกอดโอรสอยู่  ทรงดำริ จะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย  แต่เกรงว่าพระนางพิมพาจะทรงตื่นบรรทม  ก็จะเป็นอุปสรรคในการเสด็จออกบรรพชาได้  จึงทรงระงับความเสน่หาในพระโอรส  แล้วเสด็จลงจากปราสาท  พบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้  แล้วเสด็จประทับม้ากันฑกะ  มีนายฉันนะตามเสด็จ ได้เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล  ซึ่งเทพยดาได้บันดาลปิดทวารพระนคร  เพื่อให้พระองค์เสด็จไปโดยสวัสดี.

                                                          ...........................................

ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระโพธิสัตว์ทรงเสวยมหาสมบัติ



ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น



ต่อมา พระโพธิสัตว์มีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษาโดยลำดับ  พระราชาทรงมีรับสั่งให้สร้างปราสาทสามหลัง เหมาะสมกับสามฤดู  คือ  หลังหนึ่งมี ๙ ชั้น  หลังหนึ่งมี ๗ ชั้น  หลังหนึ่งมี ๕ ชั้น  แล้วหห้จัดหญิงฟ้อนรำไว้สี่หมื่นคน  พระโพธิสัตว์มีหญิงฟ้อนรำแต่งตัวสวยห้อมล้อมอยู่  ประหนึ่งเทพเจ้าผู้ห้อมล้อมอยู่ด้วยนางอัปสร  ฉะนั้น ถูกบำเรออยู่ด้วยดนตรี  ไม่มีบุรุษเลย  ทรงเสวยสมบัติใหญ่  ประทับอยู่ในปราสาทเหล่านั้นตามคราวแห่งฤดู.  ส่วนพระราหุลมารดาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระองค์.  เมื่อพระองค์เสวยมหาสมบัติอยู่  วันหนึ่งได้มีการพูดกันขึ้นในระหว่างหมู่พระญาติอย่างนี้ว่า  พระสิทธัตถะทรงขวนขวายอยู่แต่การเล่นเท่านั้น  มิได้ทรงศึกษาศิลปะใด ๆ เลย  เมื่อเกิดสงครามขึ้นจักทำอย่างไรกัน.  พระราชาทรงมีรับสั่งให้เรียกพระโพธิสัตว์มา  แล้วตรัสว่า  นี่แน่ะพ่อ  พวกญาติ ๆ ของลูกพูดกันว่า
พระสิทธัตถะมิได้ศึกษาศิลปะใด ๆ เลย  เที่ยวขวนขวายแต่การเล่น  ดังนี้ ลูกจะเห็นว่าถึงกาลอันควรหรือยัง  พระโพธิสัตว์ทูลว่า  ข้าแต่สมมติเทพ  ข้าพระองค์ไม่มีกิจที่จะต้องศึกษาศิลปะ  ขอพระองค์ได้โปรดให้ตีกลองป่าวร้องไปในพระนคร  เพื่อให้มาดูการแสดงศิลปะของข้าพระองค์  แต่นี้อีก ๗ วันข้าพระองค์ก็จักแสดงศิลปแก่พระญาติทั้งหลาย.  พระราชาได้ทรงกระทำตามเช่นนั้น.  พระโพธิสัตว์รับสั่งให้ประชุมเหล่านายขมังธนูที่สามารถยิงได้ดังสายฟ้าแลบ  ยิงขนหางสัตว์ได้  ยิงต้านลูกศรได้  ยิงตามเสียงได้  และยิงลูกศรตามลูกศรได้  แล้วได้ทรงแสดงศิลปะ ๑๒ อย่าง  ที่พวกนายขมังธนูเหล่าอื่นไม่มีแก่พระญาติทั้งหลาย  ในท่ามกลางมหาชน  ข้อนั้นพึงทราบตามนัยที่มีมาในสรภังคชาดกนั้นเถิด  ในคราวนั้น  หมู่พระญาติของพระองค์ได้หมดพระทัยสงสัยเสียแล้ว.




ต่อมาวันหนึ่ง  พระโพธิสัตว์มีพระประสงค์จะเสด็จยังภูมิภาคในพระอุทยาน จึงตรัสเรียกสารถีมาตรัสว่า  จงเทียมรถ  เขารับพระดำรัสว่าดีแล้ว  จึงประดับประดารถชั้นดีที่สุด  มีค่ามากด้วยเครื่องอลังการทุกชนิด เทียมม้าสินธพอันเป็นมงคล  ซึ่งมีสีดุจกลีบดอกบัวขาว ๕ ตัว  เสร็จแล้วไปทูลบอกแด่พระโพธิสัตว์  พระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นรถอันเป็นเช่นกับเทววิมาน  ทรงบ่ายพระพักตร์สู่พรอุทยาน  เทวดาทั้งหลายคิดว่า  กาลที่จะตรัสรู้ของพระสิทธัตถะราชกุมารใกล้เข้ามาแล้ว  พวกเราจักแสดงบุพนิมิต  แล้วแสดงเทวบุตรคนหนึ่ง ทำให้เป็นคนแก่หง่อม  มีฟันหัก  มีผมหงอก  มีหลังโกงดุจกลอนเรือน  มีตัวโค้งลง มีมือถือไม้เท้า เดินงก ๆ เงิ่น ๆ อยู่  พระโพธิสัตว์และสารถีได้ทอดพระเนตรเห็นและแลเห็นภาพนั้น.  ทีนั้นพระโพธิสัตว์ตรัสถาม ตามในที่มีมาในอุปาทานนั่นแหละว่า  นี่แน่ะสหายผู้เจริญ ชายคนนี้ชื่ออะไรกันนะ  แม้แต่ผมของเขาก็ไม่เหมือนของผู้อื่นดังนี้  ทรงสดับคำของสารถีแล้ว  ทรงมีพระทัยสังเวชว่า  นี่แน่ะผู้เจริญ  น่าติเตียนจริงหนอความเกิดนี้  ความแก่จักต้องปรากฏแก่สัตว์ผู้เกิดแล้วอย่างแน่นอน   ดังนี้แล้ว  เสด็จกลับจากพระอุทยาน  เสด็จขึ้นสู่ปราสาททีเดียว  พระราชาตรัสถามว่า  เพราะเหตุไรบุตรของเราจึงกลับเร็วนัก  พวกอำมาตย์ทูลว่า  เพราะทอดพระเนตรเห็นคนแก่  พระเจ้าข้า  พระราชาตรัสว่า  พวกเจ้าพูดว่า  ลูกของเราเห็นคนแก่แล้วจักบวช  เพราะเหตุไร  จึงทำลายเราเสียเล่า  จงรีบจัดหาละครมาแสดงแก่บุตรของเรา  เธอเสวยสมบัติอยู่จักไม่ระลึกถึงการบรรพชา  แล้วให้เพิ่มอารักขามากขึ้น  วางไว้ทุก ๆ ครึ่งโยชน์ในทุกทิศ.





ในวันรุ่ง พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปยังพระอุทธยานเหมือนเดิม  ทอดพระเนตรเห็นคนเจ็บที่เทวดาเนรมิตขึ้น  จึงตรัสถามโดยนัยก่อนนั้่นแหละ ทรงมีพระหฤทัยสังเวช  แล้วกลับสู่ปราสาท.  ฝ่ายพระราชาก็ตรัสถาม  แล้วทรงจัดแจงตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ  ทรงวางอารักขาเพิ่มขึ้นอีก  ในที่มีประมาณ ๓ คาพยุตโดยรอบ.   ต่อมาอีกวันหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จไปยังพระอุทธยานเหมือนเดิม  ทอดพระเนตรเห็นคนตายที่เทวดาเนรมิตขึ้น  ตรัสถามโดยนัยก่อนนั่นแหละ  มี        พระหฤทัยสังเวช  แล้วเสด็จกลับสู่ปราสาทอีก
กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ  ทรงวางอารักขาเพิ่มขึ้นอีก ในที่ประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ.   ก็ในวันหนึ่งต่อมาอีก  พระโพธิสัตว์เสด็จไปสู่พระอุทธยาน  ได้ทอดพระเนตรเห็นบรรพชิตนุ่งห่มเรียบร้อย  มีเทวดาเนรมิตขึ้นเช่นเดิมนั่นแหละ  จึงตรัสถาม
ฝ่ายพระราชาก็ตรัสถาม  แล้วทรงจัดแจงตามนัยที่สารถีว่า  นี่แน่ะเพื่อน  คนนั้นเขาเรียกชื่ออะไรนะ




สารถีไม่ทราบถึงบรรพชิตหรือคนที่ทำให้เป็นบรรพชิตเลย  เพราะไม่มีการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็จริง  แต่ด้วยอานุภาพแห่งเทวดา จึงกราบทูลว่า  คนนั้นเขาเรียกชื่อว่าบรรพชิตพระเจ้าข้า   แล้วพรรณนาคุณแห่งการบวช  พระโพธิสัตว์ให้รู้สึกเกิดความพอพระทัยในบรรพชิต

ได้เสด็จไปยังพระอุทธยานในวันนั้น.  แต่ท่านผู้กล่าวทีฆนิกาย กล่าวว่า  พระโพธิสัตว์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นนิมิตทั้ง  ๔  ในวันเดียวเท่านั้น  พระโพธิสัตว์เสด็จเที่ยวเตร่ตลอดวัน  ทรงสระสนานในสระโบกขรณีอันเป็นมงคล  เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้ว  ประทับนั่งบนแผ่นศิลาอันเป็นมงคล  มีพระประสงค์จะประดับประดาพระองค์  ทีนั้นพวกบริจาริกาของพระองค์ พากันถือผ้ามีสีต่าง ๆ เครื่องอาภรณ์ต่างชนิดมากมาย  และดอกไม้ของหอม  เครื่องลูกไล้  มายืนห้อมล้อมอยู่โดยรอบ   ในขณะนั้น อาสนะที่ประทับนั่งของท้าวสักกะได้เกิดร้อนขึ้นแล้ว  ท้าวเธอทรงใคร่ครวญดูว่า  ใครหนอมีประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่นี้  ทอดพระเนตรเห็นกาลที่จะต้องประดับประดาพระโพธิสัตว์  จึงทรงตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสว่า  ดูก่อนวิสสุกรรมผู้สหาย  วันนี้สิทธัตถะราชกุมารจักเสด็จออกมหาภิเนษกรมน์ในเวลาเที่ยงคืน


                                           ...................................................

ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ

วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระราชกุมารแสดงปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๒


                           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น

 พราหมณ์ทั้ง ๘  พยากรณ์พระสิทธัตถะราชกุมาร

ในวันที่ ๕ พระประยูรญาติทั้งหลาย  คิดว่าในวันที่ ๕  พวกเราจักโสรจสรงเศียรเกล้าพระโพธิสัตว์  แล้วเฉลิมพระนามแด่พระองค์ดังนี้  แล้วฉาบทาพระราชมณเฑียรด้วยคันธชาติ ๔ ชนิด  โปรยดอกไม้มีข้าวตอกเป็นที่ ๕  ให้หุงข้าวปายาสล้วน ๆ  แล้วนิมนต์พราหมณ์ผู้เรียนจบไตรเพทจำนวน ๑๐๘ คนให้นั่งในพระราชมณเฑียร  ให้ฉันโภชนะอย่างดี  ถวายสักการะมากมายแล้วถามว่า  อะไรหนอจักมี  แล้วให้ตรวจดูพระลักษณะ

ในบรรดาพราหมณ์  ๑๐๘  คน  มีจำนวน ๘ คน  ที่เป็นพราหมณ์ผู้เรียนจบทางเวทศาสตร์ทั้ง ๖ พยากรณ์มนต์แล้ว   พราหมณ์เหล่านี้คือ  พราหมณ์รามะ  พราหมณ์ธชะ  พราหมณ์ลักขณะ  พราหมณ์สุชาติ  มันตี  พราหมณ์โภชะ  พราหมณ์สุยานะ  พราหมณ์โกณฑัญญะ  พราหมณ์สุทัตตะ

ได้เป็นผู้ตรวจดูพระลักษณะ  แม้พระสุบินในวันที่ถือปฏิสนธิ  พราหมณ์เหล่านี้แหละ  ก็ได้ตรวจดูแล้ว
บรรดาพราหมณ์ทั้ง ๘ นั้น  มีจำนวน ๗ คนยกสองนิ้ว  พยากรณ์เป็นสองทางว่า  ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้  เมื่ออยู่ครองเรือนจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  เมื่อบวชจักได้เป็นพระพุทธเจ้า   ดังนี้  ต่างพากันบอกถึงสมบัติอันมีสิริของพระเจ้าจักรพรรดิ.  แต่มาณพชื่อโกณฑัญญะโดยโคตร  เด็กกว่าพราหมณ์เหล่านั้นทุกคน  พิจารณาดูความสมบูรณ์แห่งพระลักษณะของพระโพธิสัตว์  ชูนิ้วมือนิ้วเดียวเท่านั้น  แล้วพยากรณ์อย่างเดียวว่า  พระโพธิสัตว์นี้ไม่มีเหตุที่จะดำรงอยู่ในท่ามกลางเรือน  จักได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงปราศจากกิเลส  ประดุจหลังคาโดยส่วนเดียวเท่านั้น.  จริงอยู่โกณฑัญญะพราหมณ์นี้  เป็นผู้สร้างความดียิ่งมาแล้ว  เป็นสัตว์ที่จะเกิดเป็นภพสุดท้าย  มีปัญญาเหนือกว่าคนทั้ง ๗  ได้เห็นคติเดียวเท่านั้นว่า  สำหรับผู้ที่ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้  ไม่มีฐานะที่จะดำรงอยู่ในท่ามกลางเรือน  จักต้องเป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะฉะนั้น  เขาจึงชูนิ้วขึ้นนิ้วเดียว  แล้วพยากรณ์อย่างเดียว.

ต่อมา  พวกพราหมณ์เหล่านั้น  กลับไปยังเรือนของตน  แล้วต่างพากันเรียกบุตรมาบอกว่า  นี่แน่ะพ่อทั้งหลาย  พวกเราแก่แล้วจะทันได้เห็นพระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช  ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณหรือไม่ก็ไม่รู้  พวกเจ้าเมื่อพระราชกุมารนี้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว  พึงบวชในศาสนของพระองค์เถิด  โกณฑัญญะมาณพเท่านั้น ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ (ยังมีชีวิตอยู่).  เมื่อพระมหาสัตว์เติบโตเจริญวัยขึ้นแล้ว  เสด็จออกพระมหาภิเนษกรมณ์  เสด็จไปยังอุรุเวลาประเทศตามลำดับ  ทรงเกิดพระดำริว่า  ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริงหนอ  สถานที่นี้เหมาะที่จะบำเพ็ญเพียร  สำหรับกุลบุตรผู้มีความต้องการความเพียร  ดังนี้แล้วเสด็จเข้าจำพรรษา ณ  ที่นั้น   เขาได้ฟังข่าวว่าพระมหาบุรุษทรงผนวชแล้ว  จึงเข้าไปหาบุตรของพราหมณ์เหล่านั้น  พูดอย่างนี้ว่า  ได้ทราบข่าวว่า  พระสิทธัตถกุมารทรงผนวชแล้ว  พระองค์จักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย  ถ้าบิดาของพวกท่านยังมีชีวิตอยู่  พวกเขาพึงออกบวชในวันนี้แน่  หากพวกท่านพึงต้องการเช่นนั้นบ้าง  มาซิ  เราจักบวชตามพระมหาบุรุษนั้น  พวกเขาทุกคนไม่สามาถที่จะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์กันได้.  สามคนไม่บวช.  สี่คนนอกนี้บวช  ตั้งให้โกณฑัญญะพราหมณ์เป็นหัวหน้า  ชนทั้ง ๕ คนเหล่านั้น  จึงได้มีชื่อว่า  พระปัญจวัคคีย์เถระ.

ก็ในกาลนั้น  พระราชาตรัสถามว่า  บุตรของเราเห็นอะไรจึงจักบวช  พวกอำมาตย์กราบทูลว่า  บุพนิมิต ๔ (ลางบอกเหตุล่วงหน้า).  ตรัสถามว่าอะไรบ้าง ๆ  กราบทูลว่า  คนแก่เพราะชรา  คนเจ็บป่วย  คนตาย  บรรพชิต  พระราชาตรัสว่า  จำเดิมแต่นี้ไป  พวกท่านอย่าได้ให้นิมิตเห็นปานนี้เข้าไปสำนักแห่งบุตรของเรา  เราไม่ต้องการให้บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้า  เราต้องการอยากจะเห็นบุตรของเรา  ครอบครองราชสมบัติที่เป็นใหญ่และปกครองทวีปใหญ่ทั้ง ๔  ซึ่งมีทวีปเล็กสองหมื่นเป็นบริวาร  ห้อมล้อมไปด้วยบริษัท มีปริมณฑลได้สามสิบหกโยชน์  ท่องเที่ยวไปในพื้นนภากาศ.  ก็แล  เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนั้นแล้ว  ทรงมีรับสั่งให้วางอารักขาไว้ในที่ทุก  ๆ  คาวุต  ในทิศทั้งสี่  เพื่อที่จะห้ามมิให้บริษัท ๔ ประการเหล่านั้น  เข้ามายังคลองจักษุของพระกุมาร  ก็ในวันนั้น  เมื่อตระกูลพระญาติแปดหมื่นประชุมกันในที่มงคลสถาน  พระญาติแต่ละพระองค์ต่างยินยอมยกบุตรให้  แต่ละคนว่า  พระสิทธัตถะนี้จะเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระราชาก็ตาม  พวกเราจักให้บุตรคนละคน  แม้ถ้าจักเป็นพระพุทธเจ้า  ก็จักมีสมณกษัตริย์ให้เกียรติและห้อมล้อม แม้ถ้าเป็นพระราชา  ก็จักมีขัตติยกุมารให้เกียรติและห้อมล้อม  เที่ยวไป.  ฝ่ายพระราชาก็ทรงตั้งนางนม  ล้วนมีรูปทรงชั้นเยี่ยม  ปราศจากสรรพโทษทุกประการแก่พระโพธิสัตว์  พระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยด้วยบริวารอเนกอนันต์  ด้วยส่วนแห่งความงามอันยิ่งใหญ่


 ทรงนั่งขัดสมาธิ  ทำปฐมฌานให้เกิดขึ้น

ต่อมาวันหนึ่ง  พระราชาได้มีพระราชพิธีวัปปมงคล (แรกนาขวัญ)  วันนั้น  พวกชาวนครต่างประดับประดา พระนครทุกหนทุกแห่งดุจดังเทพวิมาน เหล่าพวกทาสและกรรมกรทั้งหมด ต่างานุ่งห่มผ้าใหม่ ประดับประดาตัวด้ยของหอมและดอกไม้  ประชุมกันในราชตระกูล.  ในพระราชพิธีมีการเทียมไถถึงพันคัน ก็ในวันนั้น ไถ ๑๐๘ อันหย่อนหนึ่งคัน (๑๐๗ คัน) หุ้มด้วยเงินพร้อมด้วยโคผู้  ตะพายและเชือก.  ส่วนที่งอนพระนังคัลของพระราชาหุ้มด้วยทองคำสุกปลั่ง.  เขาของโคผู้ ตะพายเชือกและปฏักก็หุ้มด้วยทองคำทั้งนั้น.  พระราชาทรงพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก  เสด็จออกจากพระนครทรงพาพระราชโอรสไปด้วย.  ในที่ประกอบพระราชพิธี  มีต้นหว้าอยู่ต้นหนึ่ง  มีใบหนาแน่น มีเงาทึบ.  ภายใต้ต้นหว้านั้นนั่นแหละ  พระราชาทรงรับสั่งให้ปูลาดพระแท่นบรรทมของพระราชโอรส  เบื้องบนให้ผูกเพดานปักด้วยดาวทองคำ  ให้แวดวงด้วยปราการพระวิสูตร  วางอารักขา  ส่วนพระองค์ก็ทรงประดับประดาด้วยเครื่องสรรพอลงกรณ์  มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม  ได้เสด็จไปยังที่จรดพระนังคัล  ในที่นั้น  พระราชาทรงถือพระนังคัลทองคำ  พวกอำมาตย์ถือคันไถเงิน ๑๐๗ คัน  พวกชาวนาต่างพากันถือคันไถที่เหลือ.  เขาเหล่านั้นต่างถือคันไถ ไถไปข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง.  แต่พระราชาทรงไถไปจากด้านในสู่ด้านนอก  จากด้านนอกสู่ด้านใน.  ในที่นั้นมีมหาสมบัติ.  นางนมที่นั่งห้อมล้อมพระโพธิสัตว์อยู่  ต่างพากันออกมาข้างนอก  จากภายในพระวิสูตรด้วยคิดว่า  พวกเราจะดูสมบัติของพระราชา.  พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรดูข้างโน้นและข้างนี้  ไม่ทรงเห็นใครจึงเสด็จลุกขึ้นโดยเร็ว  ทรงนั่งขัดสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออก  ทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นแล้ว.  พวกนางนมพากันเที่ยวไปในระหว่างเวลากินอาหาร  ชักช้าไปหน่อยหนึ่ง.  เงาของต้นไม้ที่เหลือชายไป  ส่วนเงาของต้นไม้นั้นตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่.  พวกนางนมคิดได้ว่า พระลูกเจ้าประทับอยู่พระองค์เดียว  จึงรีบเปิดพระวิสูตรขึ้น  เข้าไปข้างในเห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นบรรทม  และปาฏิหาริย์นั้น  จึงไปกราบทูลแด่พระราชาว่า  ข้าแต่สมมติเทพ  พระราชกุมารประทับนั่งอย่างนี้  เงาของต้นไม้เหล่าอื่นชายไป  ของต้นหว้าตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่อย่างานี้.  พระราชารีบเสด็จมา  ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์จึงตรัสว่า  นี่แน่ะพ่อ  นี้เป็นการไหว้เจ้าครั้งที่สอง  แล้วทรงไหว้ลูก.


                                              ...................................................


ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ




วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ดาบสกาลเทวละเข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์


 ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น

พระโพธิสัตว์เพียงแต่ว่าคลอดออกจากครรภ์มารดาเท่านั้น  ก็เปร่งวาจาได้ในสามอัตภาพโดยอาการอย่างนี้.  เหมือนอย่างว่าในขณะถือปฏิสนธิฉันใด  แม้ในขณะอุบัติขึ้นก็ฉันนั้น.  บุรพนิมิต ๓๒ ประการก็ได้ปรากฎขึ้น  ก็ในสมัยพระโพธิสัตว์ของพวกเราอุบัติแล้วในลุมพินีวัน  ในสมัยนั้นนั่นแล  พระเทวีผู้เป็นพระราชมารดาของพระลาหุล  ฉะนั้นอำมาตย์กาฬุทายี  ราชกุมารอานนท์  พระยาม้ากัณฑฐกะ  มหาโพธิพฤกษ์  ขุมทรัพย์ ๔ ขุม ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน  บรรดาขุมทรัพย์เหล่านั้น  ขุมทรัพย์หนึ่งมีประมาณคาวุตหนึ่ง ขุมหนึ่งประมาณกึ่งโยชน์  ขุมหนึ่งมีประมาณ ๓ คาวุต  ขุมหนึ่งมีประมาณโยชน์หนึ่ง  เพราะฉะนั้น  จึงรวมเป็นสหชาติ ๗ อย่างเหล่านี้.  พวกชาวเมืองลองนคร ต่างพาพระโพธิสัตว์กลับไปยังนครกบิลพัสดุ์เลยทีเดียว  ในวันนั้นนั่นเอง  ชุมนุมเทวดาในดาวดึงส์พิภพต่างร่าเริงยินดีว่า  พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช  อุบัติแล้วในนครกบิลพัสดุ์  พระราชกุมารนี้จักประทับนั่งที่ลานต้นโพธิ  แล้วจักเป็นพระพุทธเจ้าดังนี้  แล้วพากันไปโบกสะบัดผ้า (แสดงความยินดี) เล่นสนุกกัน

ในสมัยนั้น มีดาบสผู้คุ้นเคยกับตระกูลของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช  ได้สำเร็จสมาบัติ ๘  ชื่อ กาลเทวละ
เขาฉันเสร็จสรรพแล้ว จึงเหาะไปยังดาวดึงส์พิภพ เพื่อพักผ่อนกลางวันในที่นั้น  เห็นเทวดาเหล่านั้น  จึงถามว่า เพราะเหตุไรพวกท่านจึงมีใจยินดีเล่นสนุกกันอย่างนี้  ขอได้โปรดบอกเหตุนั้นแก่อาตมภาพด้วย
พวกเทวดาได้บอกเหตุนั้นว่า  ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์  พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะอุบัติขึ้นแล้ว  ในกาลนั้น พระองค์จักประทับนั่งที่ลานแห่งต้นโพธิ แล้วจักเป็นพระพุทธเจ้า ประกาศพระธรรมจักร  พวกข้าพเจ้าต่างยินดี  เพราะเหตุนี้ว่า  พวกเราจักได้เห็นพระพุทธลีลาอันหาที่สุดมิได้  และจักได้ฟังพระธรรมของพระองค์  ดาบสนั้นฟังคำของเทวดาแล้ว  ลงจากเทวโลกทันที เข้าไปยังพระราชนิเวศน์  นั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้แล้ว  กราบทูลว่า  ข้าแต่มหาบพิตร  ได้ยินว่าพระราชโอรสของพระองค์อุบัติแล้ว  อาตมภาพอยากเห็นพระองค์  พระราชามีรับสั่งให้พาพระราชกุมารผู้ประดับประดาตกแต่งแล้ว มาทรงอุ้มไปเพื่อให้นมัสการดาบส  พระบาททั้งสองของพระโพธิสัตว์กลับไปประดิษฐานอยู่บนชฏาของดาบส  จริงอยู่ บุคคลอื่นที่ชื่อว่าพระมหาสัตว์จะพึงไหว้โดยอัตภาพนั้นไม่มี  ถ้าคนผู้ไม่รู้พึงวางศีรษะของพระโพธิสัตว์ที่บาทมูลของดาบส  ศีรษะของดาบสนั้นพึงแตกออก ๗ เสี่ยง

ดาบสคิดว่า  การทำคนของเราให้พินาศไม่สมควร  จึงลุกจากอาสนะแล้วประคองอัญชลีแก่พระโพธิสัตว์  พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุอัศจรรย์นั้น  จึงทรงไหว้บุตรของตน.  ดาบสระลึกได้ชาติ ๘๐ กัป  คือ  อดีต ๔๐ กัป  ในอนาคต ๔๐ กัป  เห็นลักษณะสมบัติของพระโพธิสัตว์ จึงใคร่ครวญดูว่า  เธอจักได้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่หนอ  ทราบว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยมิต้องสงสัย  คิดว่า พระราชบุตรนี้เป็นอัจ
ฉริยบุรุษ จึงได้กระทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏ  ต่อนั้นจึงใคร่ครวญดูว่า  เราจักได้ทันเห็นความเป็นพระพุทธเจ้านี้หรือไม่หนอ  ก็เห็นว่า เราจักไม่ได้ทันเห็น  จักตายเสียก่อนในระหว่างนั้นแหละ  แล้วจักบังเกิดในอรูปภพ  ที่พระพุทธเจ้าตั้งร้อยพระองค์ก็ดี ตั้งพันพระองค์ก็ดี ไม่สามารถที่จะเสด็จไปเพื่อให้ตรัสรู้ได้  ดังนี้แล้วจึงร้องไห้ลั่นไป.  พวกมนุษย์เห็นแล้ว จึงเรียนถามว่า  พระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา เมื่อตะกี้นี้เอง หัวเราะแล้วกลับปรากฏร้องไห้อีกเล่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  อันตรายอะไรจักเกิดแก่พระลูกเจ้าของพวกเราหรือหนอ.  ดาบสตอบว่า  พระองค์ไม่มีอันตราย จักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย

ต่อจากนั้น ดาบสใคร่ควรอยู่ว่า  ในวงญาติของเรามีใครบ้าง จักได้เห็นความเป็นพระพุทธเจ้านั้น  ได้มองเห็นนาลกทารกผู้เป็นหลาน  เขาจึงไปยังเรือนของน้องสาว  ถามว่า นาลกะ. บุตรของเจ้าอยู่ไหน.  ข้าแต่พระคุณเจ้า เขาอยู่ในเรือน น้องสาวตอบ.  จงเรียกเขามาที  ให้เรียกมาแล้ว.  ดาบสพูดกะเขาผู้มาายังสำนักของตนว่า  นี่แน่ะพ่อ  พระราชโอรสอุบัติแล้วในตระกูลของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช  เป็นหน่อพุทธางกูร  พระองค์จักได้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อล่วงได้ ๓๕ ปี   เจ้าจักได้เห็นพระองค์  เจ้าจงบวชในวันนี้ทีเดียว.  เด็กเกิดในตระกูลนี้  ทรัพย์ได้ ๘๗ โกฏิ  คิดว่า  ลุงคงจักไม่ชักชวนเราในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์  ทันใดนั้นนั่นเอง  ให้คนซื้อผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรดินจากตลาด  ให้ปลงผมและหนวด  นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ประคองอัญชลีบ่ายหน้าไปทางพระโพธิสัตว์  ด้วยกล้าวว่า  บุคคลผู้สูงส่งในโลกพระองค์ใด  ข้าพเจ้าขอบวชอุทิศบุคคลนั้น  แล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์  เอาบาตรใส่ถุง  คล้องที่จะงอยบ่าแล้วไปยังหิมวันตประเทศ  บำเพ็ญสมณธรรม  ท่านเข้าไปเฝ้าพระตถาคตผู้ได้บรรลุพระอภิธรรมสัมโพธิครั้งแรก  ทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงนาลกปฏิปทา  แล้วเข้าไปยังป่าหิมพานต์อีก  บรรลุพระอรหันตปฏิบัติข้อปฏิปทาอย่างเคร่งครัด  รักษาอายุมาได้ตลอด ๗ เดือน  ยืนพิงภูเขาทองอยู่นั่นแหละ  ปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

                                                             
                                               ............................................

ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระโพธิสัตว์ประสูติ



 ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น

พระนางมหามายาเทวีมีพระครรภ์แก่เต็มที่แล้ว  ได้มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปยังเรือนพระญาติ  จึงกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนมหาราชว่า  ข้าแต่สมมติเทพ หม่อมฉันปรารถนาจะไปยังนครเทวทหะที่เป็นของตระกูล.  พระเจ้าสุทโธทนะทรงรับว่าได้  แล้วรับสั่งให้ปราบทางจากพระนครกบิลพัสดุ์จนถึงเทวทหนครให้ราบเรียบดี  แล้วประดับด้วยต้นกล้วย หม้อเต็มด้วยน้ำ  ธงชายและธงแผ่นผ้า  ให้พระเทวีประทับนั่งในวอทอง  ให้อำมาตย์พันคนหามไป  ทรงส่งไปพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก.  ก็ในระหว่างพระนครทั้งสอง  แม้ชาวพระนครทั้งสอง ก็มีสาลวันอันเป็นมงคล  ชื่อว่าลุมพินีวัน.  ในสมัยนั้น สาลวันทั้งปวงได้มี
ดอกไม้บานเป็นอย่างเดียวกัน  ตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายกิ่ง.  จากระหว่างกิ่งและระหว่างดอก  มีฝูงนกห้าสี  มีสีดั่งแมลงภู่จำนวนมากมาย  เที่ยวบินร้องประสานเสียง  ลุมพินีวันทั้งสิ้นจึงเป็นดั่งจิตรลดาวัน  ดูประหนึ่งเป็นมณฑลของพื้นที่มาร่วมดื่มกัน.  พระเทวีได้เกิดมีพระประสงค์จะลงเล่นกีฬาในสาลวัน  เพราะทอดพระเนตรเห็นลุมพินีวันนั้น.  พวกอำมาตย์พาพระเทวีเข้าไปยังสาลวัน  พระนางได้ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปยังโคนต้นสาละอันเป็นมงคลแล้ว ทรงจับที่กิ่งสาละ  กิ่งสาละก็น้อมลง  ประดุจยอดหวายที่ถูกรมให้ร้อนแล้ว  พระหัตถ์พระเทวีพอจะเอื้อมถึงได้.  พระนางทรงเหยียดพระหัตถ์ออกจับกิ่ง.

ก็ในขณะนั้นนั่นเอง  ลมกันมัชวาตของพระนางเริ่มปั่นป่วน  ทีนั้นมหาชนแวดวงพระวิสูตรแก่พระนาง แล้วก็หลีกไป.  เมื่อพระนางทรงจับกิ่งต้นสาละประทับยืนอยู่นั่นแหละ  ได้ทรงประสูติแล้ว.  ในขณะนั้นนั่นเอง  ท้าวมหาพรหมผู้มีจิตบริสุทธิ์ ๔ องค์ก็มาถึง  พร้อมกับถือข่ายทองมาด้วย  เอาข่ายทองนั้นรับพระโพธิสัตว์  วางไว้ตรงพระพักตร์ของพระราชมารดา  พลางทูลว่า  ข้าแต่พระเทวี  ขอพระองค์จงดีพระทัยเถิด  พระราชบุตรของพระองค์  มีศักดาใหญ่อุบัติขึ้นแล้ว  เหมือนอย่างว่า  สัตว์เหล่าอื่นเมื่อตลอดออกจากท้องมารดา  ย่อมแปดเปื้อนด้วยสิ่งปฏิกูลไม่สะอาด  ตลอดออกมาฉันใด  พระโพธิสัตว์หาเป็นฉันนั้นไม่  ก็พระโพธิสัตว์นั้นเหยียดมือและเท้าสองข้างออก  ยืนตรงดุจพระธรรมกถึกลงจากธรรมาสน์ และดุจบุรุษลงจากบันได  มิได้แปดเปื้อนด้วยของไม่สะอาดใด ๆ  ที่มีอยู่ในครรภ์มารดา  เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์รุ่งโรจน์อยู่  ประดุจแก้วมณีที่เขาวางไว้บนผ้ากาสิกพัสตร์  ตลอดออกมาจากครรภ์มารดา  แม้เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็ตาม  สายธารแห่งน้ำสองสายก็พลุ่งออกมาจากอากาศ  โสรจสรงพระสรีระของพระโพธิสัตว์และพระมารดา  ทำให้อบอุ่นสบาย  เพื่อเป็นเครื่องสักการะแก่พระโพธิสัตว์และพระมารดา  ต่อนั้น ท้าวมหาราช ๘ องค์ได้รับพระโพธิสัตว์นั้น จากมือของพรหมผู้ยืนเอาข่ายทองรับอยู่  ด้วยเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหนังเสือดาว ที่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม ซึ่งสมมุติกันว่าเป็นมงคล  พวกมนุษย์จึงเอาพระยี่ภู่ผ้าทุกูลพัสตร์  รับจากมือของท้าวมหาราชเหล่านั้น  พอพ้นจากมือของพวกมนุษย์  พระโพธิสัตว์ก็ประทับยืนบนแผ่นดิน ทอดพระเนตรดูทิศตะวันออก  จักรวาลนับได้หลายพัน ได้เป็นที่โล่่งเป็นอันเดียวกัน  พวกเทวดาและมนุษย์ในที่นั้น ต่างพากันบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น  กราบทูลว่า  ข้าแต่ท่าน  บุรุษคนอื่นในที่นี้เช่นกับท่านไม่มี  คนที่ยิ่งกว่าท่านจักมีแต่ที่ไหน

พระโพธิสัตว์มองตรวจดูตลอดทิศใหญ่ทิศเล็ก แม้ทั้ง ๑๐ ทิศ คือ ทิศใหญ่ ๔   ทิศเล็ก ๔ เบื้องล่าง  เบื้องบน  ก็มิได้ทรงมองเห็นใครที่เช่นเดียวกับตน  ทรงดำริว่า  นี้เป็นทิศเหนือ  แล้วเสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว  มีท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตร  ท้าวสุยามเทวบุตรถือพัดวาลวิชนี  และเทวดาเหล่าอื่นมีมือถือเครื่องราชกุธภัณฑ์ที่เหลือเดินตามเสด็จ  ต่อจากนั้นประทับยืนที่พระบาทที่ ๗ ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาแสดงความยิ่งใหญ่) เป็นต้นว่า  เราเป็นผู้เลิศของโลก  ทรงบรรลือสีหนาทแล้ว.

จริงอยู่พระโพธิสัตว์  เพียงตลอดออกมาจากครรภ์มารดาเท่านั้น  ก็เปล่งวาจาได้ในสามอัตภาพเท่านั้นคือ  ในอัตภาพเป็นมโหสถ  ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร  ในอัตภาพนี้.  นัยว่าในอัตภาพเป็นมโหสถ  เมื่อพระโพธิสัตว์ตลอดออกมาจาากครรภ์มารดาเท่านั้น  ท้าวสักกเทวราชเสด็จมา  ทรงวางแก่นจันทร์ที่มือแล้วเสด็จไป  พระโพธิสัตว์กำแก่นจันทร์นั้นไว้ในกำมือคลอดออกมา.  ทีนั้นมารดาจึงถามเขาว่า  แน่ะพ่อ  ลูกถืออะไรมา.  ข้าแต่แม่  ยาครับ  พระโพธิสัตว์ตอบ.  เพราะเหตุที่ถือเอายามา  คนทั้งหลายจึงตั้งชื่อให้แก่เขาว่า  โอสถทารก (เด็กถือยา)  ชนทั้งหลายจึงถือเอายานั้นใส่่ไว้ในตุ่ม  โอสถนั้นนั่นแหละ  ได้เป็นยารักษาโรคสารพัดให้หายได้  แก่คนตาบอดและหูหนวกเป็นต้น  ที่พากันมา ๆ  ต่อมาเพราะถือเอาคำที่พูดกันว่าโอสถนี้มีคุณมาก  โอสถนี้มีคุณมาก  เขาจึงได้เกิดมีชื่อขึ้นอีกว่า มโหสถ.  ส่วนในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร  พระโพธิสัตว์เพียงตลอดออกจากครรภ์มารดา  ก็เหยียดแขนออก  พลางกล่าวว่า  ข้าแต่แม่  ในเรือนมีทรัพย์บ้างไหม  ลูกจะให้ทาน  แล้วตลอดออกมาทีนั้น  พระมารดาของพระโพธิสัตว์นั้นกล่าวว่า  แน่ะพ่อ  ลูกเกิดในตระกูลที่มีทรัพย์  ว่าแล้วให้วางถุงเงินพันหนึ่งไว้  แล้วจึงวางมือของลูกไว้บนฝ่ามือของพระองค์  ในอัตภาพเป็นพระโพธิสัตว์บรรลือสีหนาทแม้นี้  ด้วยประการฉะนี้.


                                                    .................................................

ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิ


 ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

เมื่อพระเทวีทรงตื่นบรรทมแล้ว  กราบทูลถึงพระสุบินนั้นแด่พระราชา  พระราชารับสั่งให้เชิญพราหมณ์ชั้นหัวหน้า ๖๔ คนเข้าเฝ้า ให้จัดปูลาดอาสนะมีค่ามากบนพื้นที่ฉาบด้วยโคมัยสด  มีเครื่องสักการะอันเป็นมงคลกระทำด้วยข้าวตอกเป็นต้น  ให้ใส่ข้าวปายาสอย่างเลิศ  ซึ่งบำรุงด้วยเนยใส  น้ำผึ้ง  และน้ำตาลกรวดลงจนเต็มถาดทองและเงิน  เอาถาดทองและเงินครอบแล้ว  ถวายให้พวกเขารับประทานจนอิ่มหนำ
พร้อมกับถวายผ้าห่มและแม่โคแดงเป็นต้น ที่นั้น เมื่อพราหมณ์เหล่านั้น อิ่มหนำด้วยของที่ต้องการทุกอย่างแล้ว  จึงตรัสบอกพระสุบิน  แล้วตรัสถามว่า  จักมีอะไรเกิด.  พวกพราหมณ์กราบทูลว่า  ข้าแต่มหาราช  พระองค์อย่าทรงวิตกอะไรเลย  พระเทวีทรงตั้งพระครรภ์แล้ว  และพระครรภ์ที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นครรภ์บุรุษ มิใช่ครรภ์สตรี  พระองค์จักมีพระราชบุตร   ถ้าพระราชบุตรนั้นทรงอยู่ครองเรือน  จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  ถ้าเสด็จออกจากเรือนบวช จักได้เป็นพระพุทธเจ้า  ผู้ทรงมีกิเลสประดุจหลังคาอันเปิดแล้วในโลก.

ก็ในขณะที่พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระคัพโภทรของพระมารดานั่นแหละ  ตลอดหมื่นโลกธาตุก็ไหวหวั่นสะเทือนเลื่อนสั่นขึ้นพร้อมกันทันที.  บุพนิมิต ๓๒ ประการปรากฏขึ้นแล้ว.  ในหมื่นจักรวาลได้มีแสงสว่างสุดจะประมาณแผ่ซ่านไป.  พวกคนตาบอดต่างก็ได้ตาดีขึ้น  ดูประการหนึ่งว่ามีประสงค์จะดูพระสิริของพระโพธิสัตว์นั้น.  พวกคนหูหนวกก็ฟังเสียงได้  พวกคนใบ้ก็พูดจาได้  พวกคนค่อมก็มีตัวตรงขึ้น  คนง่อยเปลี้ยเสียขาก็เดินด้วยเท้าได้.  สัตว์ทั้งปวงที่ถูกจองจำ ก็พ้นจากเครื่องจองจำมีขื่อคาเป็นต้น.  ในนรกทุกแห่งไฟก็ดับ.  ในเปรตวิสัยความหิวกระหายก็สงบระงับ.  เหล่าสัตว์ดิรัจฉานก็ไม่มีความกลัวภัย.  โรคและไฟกิเลสมีราคะเป็นต้น  ของสัตว์ทั้งปวงก็สงบระงับ

สัตว์ทั้งปวงต่างก็มีวาจาน่ารัก  ม้าทั้งหลายต่างก็ร้อง  ช้างทั้งหลายต่างก็ร้อง ด้วยอาการอันอ่อนหวาน.  บรรดาดนตรีทุกชนิด ต่างก็เปล่งเสียงกึกก้องของตนได้เอง  ไม่ต้องมีใครตีเลย  เครื่องอาภรณ์ที่สวมอยู่ที่มือของมนุษย์ทั้งหลายร้องขึ้นเองได้  ทิศทุกทิศต่างก็แจ่มใสไปทั่ว  สายลมอ่อนเย็นที่จะให้เกิดสุขแก่สัตว์ทั้งหลาย ก็พัดโชยมา.  เมฆที่มิใช่กาลก็ให้ฝนตก.  แม้จากแผ่นดิน  น้ำก็ชำแรกไหลออกมา  เหล่านกก็ไม่บินไปในอากาศ  แม่น้ำก็นิ่งไม่ไหล  น้ำในมหาสมุทรก็มีรสอร่อย  พื้นทั่วไปทุกแห่งก็ดาลดาษด้วยดอกบัวหลวงมี ๕ สี.  ดอกไม้ทุกชนิดที่เกิดบนพื้นดินและเกิดในน้ำ ต่างก็บานไปทั่ว.  ที่ลำต้นของต้นไม้ก็มีดอกปทุมลำต้นบาน  ที่กิ่งก็มีดอกปทุมกิ่งบาน  ที่เถาวัลย์ก็มีดอกปทุมเถาวัลย์บาน.  ที่พื้นดินก็มีดอกปทุมมีก้านชำแรกพื้นหินโผล่ขึ้นเบื้องบน ๆ  แห่งละ ๗ ดอก  ในอากาศก็มีดอกปทุมห้อยย้อยเกิดขึ้น ฝนดอกไม้โปรยปรายไปโดยรอบ ๆ  ทิพยดนตรีต่างก็บรรเลงขึ้นในอากาศ.  ทั้งหมื่นโลกธาตุเป็นประดุจพวงมาลัยที่เขาจับเหวี่ยงให้หมุนแล้วปล่อยไป  ดูราวกะว่ากำดอกไม้ที่เขาจับบีบเข้าแล้วมัดให้รวมกัน  และเป็นเสมือนที่นอนดอกไม้ที่ประดับประดาและตกแต่งแล้ว  มีดอกไม้เป็นพวงเดียวกัน  เหมือนพัดวาสวีชนีที่กำลังโบกสะบัดอยู่  อบอวลไปด้วยกลิ่นของดอกไม้และธูป  ได้เป็นโลกธาตุที่ถึงความงามสุดยอดแล้ว.

จำเดิมแต่ปฏิสนธิของพระโพธิสัตว์  ผู้ถือปฏิสนธิแล้วอย่างนี้  เพื่อที่จะป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่พระโพธิสัตว์  และราชมารดาของพระโพธิสัตว์  เทวบุตร ๔ องค์  มีมือถือพระขรรค์คอยให้การอารักขา  ความคิดเกี่ยวกับราคะในบุรุษทั้งหลาย  มิได้เกิดแต่พระราชมารดาของพระโพธิสัตว์.  พระนางมีแต่ถึงความเลิศลอยด้วยลาภและความเลิศด้วยยศ  มีความสุข  มีพระวรกายไม่ลำบาก  และทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์  ซึ่งอยูในพระคัพโภทร ประดุจด้ายสีขาวที่ร้อยไว้ในแก้วมณีที่ใสแจ๋ว  ธรรมดาคัพโภทรที่พระโพธิสัตว์อาศัยอยู่  เป็นเช่นกับห้องของเจดีย์  สัตว์อื่นไม่สามารถจะอาศัยอยู่หรือบริโภคได้  เพราะฉะนั้น  พระราชมารดาของพระโพธิสัตว์จึงสวรรคต  แล้วไปอุบัติในดุสิตบุรี  ในเมื่อพระโพธิสัตว์ประสูตูิได้  ๗  วัน  หญิงอื่นไม่ถึง ๑๐ เดือนบ้าง เลยไปบ้าง นั่งคลอดบ้าง  นอนคลอดบ้าง ฉันใด  พระราชมารดาของพระโพธิสัตว์เป็นฉันนั้นไม่.  แต่พระนางจะบริบาลพระโพธิสัตว์ไว้ในพระคัพโภทรสิ้น ๑๐  เดือน  แล้วประทับยืนคลอด  แล้วก็ข้อนี้เองเป็นธรรมดาของพระราชมารดาของพระโพธิสัตว์  แม้พระนางมหามายาเทวีทรงบริบาลพระโพธิสัตว์ในพระคัพโภทรสิ้น ๑๐ เดือน  ประดุจบริบาลน้ำมันไว้ด้วยบาตรฉะนั้น


                                         ........................................................

ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บนสวรรค์ชั้นดุสิต (ต่อ)


 ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น

ต่อจากนั้นก็ตรวจดูประเทศว่า  ธรรมดาชมพูทวีปกว้างใหญ่มาก  มีปริมาณถึงหมื่นโยชน์  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  เสด็อุบัติขึ้นในประเทศไหนหนอ.  จึงมองเห็นมัชฌิมประเทศ.  ชื่อว่ามัชฌิมประเทศ  คือประเทศที่ท่านกล่าวไว้ในวินัยอย่างนี้ว่า  ในทิศตะวันออกมีนิคมชื่อ กชังคละ  ที่อื่นจากนิคมนั้นเป็นที่กว้างขวาง  ห่างไกลจากที่นั่นเป็นชนบทตั้งอยู่ในชายแดน  ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ  ในทิศใต้มีแม่น้ำ ชื่อ สัลลวดี  ต่อจากนั้น  เป็นชนบทตั้งอยู่ชายแดน  ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ  ในทิศทักษิณมีนิคมชื่อ  เสตกัณณิกะ  ต่อจากนั้น เป็นชนบทตั้งอยูในชายแดน  ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ  ในทิศตะวันตก มีพราหมณคามชื่อ  ถูนะ  ต่อจากนั้น เป็นชนบทตั้งอยู่ในชายแดน  ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ  ในทิศเหนือมีภูเขาชื่อ  อุสิรธชะ  ต่อจากนั้นเป็นชนบทตั้งอยูในชายแดน  ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ.  มัชฌิมประเทศนั้นโดยยาววัดได้สามร้อยโยชน์  โดยกว้างได้สองร้อยห้าสิบโยชน์  โดยวงรอบได้เก้าร้อยโยชน์.  ในประเทศนั้น  พระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  พระอัครสาวก  พระเจ้าจักรพรรดิ  และกษัตริย์ พราหมณ์  คฤหบดีมหาศาล  ผู้มีศักดาใหญ่เหล่าอื่นย่อมเกิดขึ้น  และนครชื่อว่า กบิลพัสดุ์นี้ก็ตั้งอยู่ในมัชฌิมประเทศนี้  พระโพธิสัตว์จึงได้ถึงความตกลงใจว่า  เราควรจะไปเกิดในนครนั้น.

ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะเลือกตระกูล  จึงเห็นตระกูลว่า  มารดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ย่อมไม่เสด็จอุบัติในตระกูลแพศย์  หรือในตระกูลศูทร  แต่จะเสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์ที่โลกยกย่องแล้ว  เราจักเกิดในตระกูลนั้น  พระเจ้าสุทโธทนมหาราช  จักเป็นพระราชบิดาของเราดังนี้.  ต่อจากนั้น เมื่อจะเลือกมารดาก็เห็นว่า  ธรรมดาพระพุทธมารดาย่อมไม่โลเลในบุรุษ  ไม่เป็นนักเลงสุรา  แต่จะเป็นผู้บำเพ็ยบารมีมาตลอดแสนกัป  จำเดิมแต่เกิด จะมีศีล ๕  ไม่ขาดเลย  และพระเทวีทรงพระนามว่า  มหามายานี้ทรงเป็นเช่นนี้  พระนางจะทรงเป็นพระราชมารดาของเรา  ดังนี้  เมื่อตรวจดูว่า  พระนางจะทรงมีพระชนมายุเท่าไร ก็เห็นว่ามีอายุเกินกว่า ๑๐ เดือนไป ๗ วัน.

พระโพธิสัตว์ตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการ นี้  ด้วยประการฉะนี้แล้ว  คิดว่า  ดูก่อน ท่านผู้นิรทุกข์  ถึงกาลอันควรของเราแล้ว ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า  เมื่อจะกระทำการสงเคราะห์เทวดาทั้งหลาย จึงให้ปฏิญญาแล้วกล่าวว่า  ขอพวกท่านไปได้  ส่งเทวดาเหล่านั้นกลับไป  มีเทวดาชั้นดุสิตห้อมล้อมแล้ว  ไปสู่นันทวันในดุสิตบุรี.  จริงอยู่ นันทวันมีอยู่ในทุกเทวโลกทีเดียว.  เทวดาในนันทวันในเทวโลกนั้น  กล่าวว่า  ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์  ขอท่านจงจุติจากนันทวันนี้ ไปสู่สุขติเถิด  เที่ยวคอยเตือนให้พระมหาสัตว์รำลึกถึงโอกาสแห่งกุศลกรรมที่เคยกระทำไว้ครั้งก่อน.  พระโพธิสัตว์อันพวกเทวดาผู้คอยเตือนให้รำลึกถึงกุศลกรรมที่เคยกระทำไว้ครั้งก่อน.  พระโพธิสัตว์อันพวกเทวดาผู้คอยเตือน ให้รำลึกถึงกุศลกรรมห้อมล้อมอย่างนี้  เที่ยวไปอยู่ในเทวโลกนั้น  จุตุิแล้วถือเอาปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมหามายาเทวี  ก็เพื่อที่จะให้ชัดแจ้งถึงวิธีที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ  มีถ้อยคำที่จะอธิบายตามลำดับดังนี้

ได้ยินว่า  ในกาลนั้นในนครกบิลพัสดุ์ ได้มีงานนักขัตฤกษ์  เดือน ๘ กันอย่างเอิกเกริก  มหาชนเล่นงานนักขัตฤกษ์กัน  ฝ่ายพระนางมหามายาเทวีอีก  ๗  วัน จะถึงวันบุรณมี  ทรงร่วมเล่นงานนักขัตฤกษ์ แต่ไม่มีการดื่มสุรากัน มีแต่จัดดอกไม้ของหอมและเครื่องประดับ  ในวันที่ ๗ ทรงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทรงแต่งพระองค์ด้วยเครื่องประดับครบทุกอย่าง  เสวยพระกระยาหารอย่างดี  ทรงอธิษฐานองค์อุโบสถ เสด็จเข้าห้องอันมีสิริ  บรรทมบนพระสิริไสยาสน์ ก้าวลงสู่นิทรารมณ์  ได้ทรงพระสุบิน  นัยว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ ยกพระนางขึ้นพร้อมกับพระแท่นที่บรรทมทีเดียว  ไปยังป่าหิมพานต์  แล้ววางบนพื้นแผ่นศิลามีประมาณ ๖๐ โยชน์  ภายใต้ต้นสาละใหญ่มีประมาณ ๗ โยชน์ ไว้ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.  ที่นั้นเหล่านางเทวีของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น  ต่างพากันมานำพระเทวีไปยังสระอโนดาด  ให้สรงสนานเพื่อที่จะชำระมลทินของมนุษย์ออก ให้ทรงนุ่งห่มผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยของหอมทิพย์ ประดับประดาด้วยดอกไม้ทิพย์  ในที่ไม่ไกลจากที่นั้น มีภูเขาเงินอยู่ลูกหนึ่ง  ภายในภูเขานั้นมีวิมานทอง  พวกเขาก็ตั้งพระแท่นที่บรรทมอันเป็นทิพย์ บ่ายพระเศียรสูงขึ้นทางปราจีนทิศ (ตะวันออก)  ทูลให้บรรทมในวิมานทองนั้น  พระโพธิสัตว์เป็นพญาช้างตัวประเสริฐสีขาวผ่อง  เดินเที่ยวไปที่ภูเขาทองลูกหนึ่ง ในที่ไม่ไกลแต่ที่นั้น  เดินลงจากภูเขาทองนั้น  ขึ้นไปยังภูเขาเงิน  มาทางด้านอุตตรทิศ (ทิศเหนือ)  เอางวงอันมีสีราวกะว่าพวงเงินจับดอกปทุมชาติสีขาว  เปล่งโกญจนาท  เข้าไปยังวิมานทอง  กระทำประทักษิณแทบบรรทมของพระราชมารดา ๓ รอบแล้ว  ปรากฏเหมือนกับว่าทะลุทางด้านเบื้องขวาเข้าไปในพระอุทรของพระนาง.  พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ
ในวันนักขัตฤกษ์เดือน ๘ หลัง  ด้วยประการฉะนี้.

                                           .................................................


ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ






วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บนสวรรค์ชั้นดุสิต



                       นโม ตัสสะ ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสส
           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น


                     พระสุตตันตปิฏก  ขุททกนิกาย  ชาดก  เล่ม ๓ ภาค ๑  หน้า ๘๑



เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์อยู่ในดุสิตบุรี  ได้มีความแตกตื่นเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น  ดังนั้น จึงเกิดมีโกลาหลขึ้นในโลก ๓  อย่าง  คือ   โกลาหลเรื่องกัป ๑  โกลาหลเรื่องพระพุทธเจ้า ๑  โกลาหลเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิ ๑

เหล่าเทวดาในชั้นกามาวจรที่ชื่อว่า โลกพยุหะ ทราบว่า  เหตุที่จะเกิดเมื่อสิ้นกัปจักมี เมื่อล่วงไปได้แสนปีนั้น   ดังนี้  ต่างมีศีรษะเปียก  สยายผมมีหน้าร้องได้  เอามือทั้งสองเช็ดน้ำตา  นุ่งผ้าแดง  มีรูปร่างแปลก  เที่ยวเดินบอกกล่าวไปในเมืองมนุษย์ว่า  ดูก่อน ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย  โดยกาลล่วงไปแห่งแสนปีแต่นี้  เหตุที่จะเกิดเมื่อสิ้นกัปจักมีขึ้น  แม้โลกนี้ก็จักพินาศไป  แม้มหาสมุทรก็จักพินาศ  แผ่นดินใหญ่นี้และพญาแห่งภูเขาสิเนรุ  จักถูกไฟไหม้ จักพินาศไป  ความพินาศจักมีจนถึงพรหมโลก  ดูก่อน ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย  ขอพวกท่านจงเจริญเมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา จงบำรุงมารดาบิดา  จงเป็นผู้นอบน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลดังนี้  นี้ชื่อว่า โกลาหลเรื่องกัป

เหล่าเทวดาชื่อว่า โลกบาล ทราบว่า  เมื่อล่วงไปพันปี  พระสัพพัญญูพุทธเจ้าจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก  ดังนี้  แล้วพากันเที่ยวป่าวร้อง  นี้ชื่อว่า  โกลาหลเรื่องพระพุทธเจ้า

เทวดาเหล่านั้นแหละทราบว่า  โดยล่วงไปแห่งร้อยปีพระเจ้าจักรพรรดิจักเสด็จอุบัติขึ้น  จึงพากันเที่ยวป่าวประกาศว่า  ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย  โดยล่วงไปร้อยปีตั้งแต่นี้  พระเจ้าจักรพรรดิจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก  ดังนี้ชื่อว่า  โกลาหลเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิ

โกลาหลทั้งสามประการนี้ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่  บรรดาโกลาหลทั้งสามนี้  เทวดาในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้น  ได้ฟังเสียงโกลาหลเรื่องพระพุทธเจ้าแล้ว  จึงร่วมประชุมพร้อมกัน  ทราบว่า  สัตว์ชื่อโน้นจักเป็นพระพุทธเจ้า  จึงเข้าไปหาเขาและอ้อนวอนอยู่  ก็จะอ้อนวอนในเมื่อบุพพนิมิตเกิดขึ้นแล้ว.  ก็ในกาลนี้น เทวดาแม้ทั้งปวง  พร้อมกับท้าวจาตุมมหาราช  ท้าวสักกะ  ท้าวสยาม  ท้าวสันตุสิต  ท้าวนิมมานรตี  และท้าวมหาพรหม  ในแต่ละจักรวาลมาประชุมพร้อมกันในจักรวาลหนึ่ง  แล้วพากันไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ในภพดุสิต  ต่างอ้อนวอนว่า  "ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์  ท่านเมื่อบำเพ็ญบารมีสิบ  สมบัติของพรหมบำเพ็ญ  แต่ท่านปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณบำเพ็ญแล้ว  เพื่อต้องการจะขนสัตว์ออกจากโลก  ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์  บัดนี้ถึงเวลาที่ท่านจะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว"

ลำดับนั้น  พระมหาสัตว์ยังไม่ให้ปฏิญาณแก่เทวดาทั้งหลาย  จะตรวจดูมหาวิโลกนะ  คือที่จะต้องเลือกใหญ่  ๕  ประการ คือ  กาล ๑  ทวีป ๑  ประเทศ ๑  ตระกูล ๑  และการกำหนดอายุของมารดา ๑.  ใน ๕ ประการนั้น  พระโพธิสัตว์จะตรวจดูกาลก่อนว่า  เป็นกาลสมควรหรือไม่สมควร.  ในข้อนั้น กาลแห่งอายุที่เจริญขึ้นถึงแสนปี จัดว่าเป็นกาลไม่สมควร.  เพราะเหตุไร.  เพราะในกาลนั้น  ชาติชราและมรณะไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย  และพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่จะพ้นจากไตรลักษณ์ไม่มี  เมื่อพระองค์ตรัสว่า  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  พวกเขาก็จะคิดว่า  พระองค์ตรัสข้อนั้นทำไม  แล้วไม่เห็นความสำคัญ ว่าควรที่จะฟัง ควรที่จะเชื่อ ต่อนั้นก็จะไม่มีการตรัสรู้  เมื่อไม่มีการตรัสรู้  ศาสนาก็จะไม่เป็นสิ่งนำออกจากทุกข์

เพราะฉะนั้น จึงเป็นกาลที่ยังไม่ควร.  แม้กาลแห่งอายุหย่อนกว่าร้อยปี  ก็จัดเป็นกาลที่ยังไม่ควร.  เพราะเหตุไร.  เพราะในกาลนั้น  สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนา  และโอวาทที่ให้แก่ผู้มีกิเลสหนา จะไม่ตั้งอยู่ในที่เป็นโอวาท  โอวาทนั้นก็จะพลันปราศไปเร็วพลัน เหมือนรอยไม้เท้าในน้ำฉะนั้น  เพราะฉะนั้น แม้กาลนั้น  ก็จัดได้ว่าเป็นกาลไม่ควร.  กาลแห่งอายุต่ำลงมาตั้งแต่แสนปี  สูงขึ้นไปตั้งแต่ร้อยปี  จัดเป็นกาลอันควร.  และในกาลนั้นก็เป็นกาลแห่งอายุร้อยปี.  ที่นั้นพระมหาสัตว์ก็มองเห็นว่า เป็นกาลที่ควรจะเกิดได้แล้ว.  ต่อจากนั้น เมื่อจะตรวจดูทวีปก็ตรวจดูทวีปใหญ่ ๔ ทวีป  เห็นทวีปหนึ่งว่า  ในทวีปทั้งสามพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่เสด็จอุบัติขึ้น  เสด็จอุบัติขึ้นในชมพูทวีปเท่านั้น.


                                   ......................................................

ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ