ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น |
ต่อจากนั้นก็ตรวจดูประเทศว่า ธรรมดาชมพูทวีปกว้างใหญ่มาก มีปริมาณถึงหมื่นโยชน์ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เสด็อุบัติขึ้นในประเทศไหนหนอ. จึงมองเห็นมัชฌิมประเทศ. ชื่อว่ามัชฌิมประเทศ คือประเทศที่ท่านกล่าวไว้ในวินัยอย่างนี้ว่า ในทิศตะวันออกมีนิคมชื่อ กชังคละ ที่อื่นจากนิคมนั้นเป็นที่กว้างขวาง ห่างไกลจากที่นั่นเป็นชนบทตั้งอยู่ในชายแดน ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ ในทิศใต้มีแม่น้ำ ชื่อ สัลลวดี ต่อจากนั้น เป็นชนบทตั้งอยู่ชายแดน ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ ในทิศทักษิณมีนิคมชื่อ เสตกัณณิกะ ต่อจากนั้น เป็นชนบทตั้งอยูในชายแดน ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ ในทิศตะวันตก มีพราหมณคามชื่อ ถูนะ ต่อจากนั้น เป็นชนบทตั้งอยู่ในชายแดน ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ ในทิศเหนือมีภูเขาชื่อ อุสิรธชะ ต่อจากนั้นเป็นชนบทตั้งอยูในชายแดน ร่วมในเป็นมัชฌิมประเทศ. มัชฌิมประเทศนั้นโดยยาววัดได้สามร้อยโยชน์ โดยกว้างได้สองร้อยห้าสิบโยชน์ โดยวงรอบได้เก้าร้อยโยชน์. ในประเทศนั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ และกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีมหาศาล ผู้มีศักดาใหญ่เหล่าอื่นย่อมเกิดขึ้น และนครชื่อว่า กบิลพัสดุ์นี้ก็ตั้งอยู่ในมัชฌิมประเทศนี้ พระโพธิสัตว์จึงได้ถึงความตกลงใจว่า เราควรจะไปเกิดในนครนั้น.
ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะเลือกตระกูล จึงเห็นตระกูลว่า มารดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่เสด็จอุบัติในตระกูลแพศย์ หรือในตระกูลศูทร แต่จะเสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์ที่โลกยกย่องแล้ว เราจักเกิดในตระกูลนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช จักเป็นพระราชบิดาของเราดังนี้. ต่อจากนั้น เมื่อจะเลือกมารดาก็เห็นว่า ธรรมดาพระพุทธมารดาย่อมไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักเลงสุรา แต่จะเป็นผู้บำเพ็ยบารมีมาตลอดแสนกัป จำเดิมแต่เกิด จะมีศีล ๕ ไม่ขาดเลย และพระเทวีทรงพระนามว่า มหามายานี้ทรงเป็นเช่นนี้ พระนางจะทรงเป็นพระราชมารดาของเรา ดังนี้ เมื่อตรวจดูว่า พระนางจะทรงมีพระชนมายุเท่าไร ก็เห็นว่ามีอายุเกินกว่า ๑๐ เดือนไป ๗ วัน.
พระโพธิสัตว์ตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการ นี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว คิดว่า ดูก่อน ท่านผู้นิรทุกข์ ถึงกาลอันควรของเราแล้ว ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อจะกระทำการสงเคราะห์เทวดาทั้งหลาย จึงให้ปฏิญญาแล้วกล่าวว่า ขอพวกท่านไปได้ ส่งเทวดาเหล่านั้นกลับไป มีเทวดาชั้นดุสิตห้อมล้อมแล้ว ไปสู่นันทวันในดุสิตบุรี. จริงอยู่ นันทวันมีอยู่ในทุกเทวโลกทีเดียว. เทวดาในนันทวันในเทวโลกนั้น กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านจงจุติจากนันทวันนี้ ไปสู่สุขติเถิด เที่ยวคอยเตือนให้พระมหาสัตว์รำลึกถึงโอกาสแห่งกุศลกรรมที่เคยกระทำไว้ครั้งก่อน. พระโพธิสัตว์อันพวกเทวดาผู้คอยเตือนให้รำลึกถึงกุศลกรรมที่เคยกระทำไว้ครั้งก่อน. พระโพธิสัตว์อันพวกเทวดาผู้คอยเตือน ให้รำลึกถึงกุศลกรรมห้อมล้อมอย่างนี้ เที่ยวไปอยู่ในเทวโลกนั้น จุตุิแล้วถือเอาปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระมหามายาเทวี ก็เพื่อที่จะให้ชัดแจ้งถึงวิธีที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ มีถ้อยคำที่จะอธิบายตามลำดับดังนี้
ได้ยินว่า ในกาลนั้นในนครกบิลพัสดุ์ ได้มีงานนักขัตฤกษ์ เดือน ๘ กันอย่างเอิกเกริก มหาชนเล่นงานนักขัตฤกษ์กัน ฝ่ายพระนางมหามายาเทวีอีก ๗ วัน จะถึงวันบุรณมี ทรงร่วมเล่นงานนักขัตฤกษ์ แต่ไม่มีการดื่มสุรากัน มีแต่จัดดอกไม้ของหอมและเครื่องประดับ ในวันที่ ๗ ทรงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทรงแต่งพระองค์ด้วยเครื่องประดับครบทุกอย่าง เสวยพระกระยาหารอย่างดี ทรงอธิษฐานองค์อุโบสถ เสด็จเข้าห้องอันมีสิริ บรรทมบนพระสิริไสยาสน์ ก้าวลงสู่นิทรารมณ์ ได้ทรงพระสุบิน นัยว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ ยกพระนางขึ้นพร้อมกับพระแท่นที่บรรทมทีเดียว ไปยังป่าหิมพานต์ แล้ววางบนพื้นแผ่นศิลามีประมาณ ๖๐ โยชน์ ภายใต้ต้นสาละใหญ่มีประมาณ ๗ โยชน์ ไว้ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง. ที่นั้นเหล่านางเทวีของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น ต่างพากันมานำพระเทวีไปยังสระอโนดาด ให้สรงสนานเพื่อที่จะชำระมลทินของมนุษย์ออก ให้ทรงนุ่งห่มผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยของหอมทิพย์ ประดับประดาด้วยดอกไม้ทิพย์ ในที่ไม่ไกลจากที่นั้น มีภูเขาเงินอยู่ลูกหนึ่ง ภายในภูเขานั้นมีวิมานทอง พวกเขาก็ตั้งพระแท่นที่บรรทมอันเป็นทิพย์ บ่ายพระเศียรสูงขึ้นทางปราจีนทิศ (ตะวันออก) ทูลให้บรรทมในวิมานทองนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพญาช้างตัวประเสริฐสีขาวผ่อง เดินเที่ยวไปที่ภูเขาทองลูกหนึ่ง ในที่ไม่ไกลแต่ที่นั้น เดินลงจากภูเขาทองนั้น ขึ้นไปยังภูเขาเงิน มาทางด้านอุตตรทิศ (ทิศเหนือ) เอางวงอันมีสีราวกะว่าพวงเงินจับดอกปทุมชาติสีขาว เปล่งโกญจนาท เข้าไปยังวิมานทอง กระทำประทักษิณแทบบรรทมของพระราชมารดา ๓ รอบแล้ว ปรากฏเหมือนกับว่าทะลุทางด้านเบื้องขวาเข้าไปในพระอุทรของพระนาง. พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ
ในวันนักขัตฤกษ์เดือน ๘ หลัง ด้วยประการฉะนี้.
.................................................
ขอขอบพระคุณเจ้าของรูปภาพพุทธประวัติด้วยค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น