วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังมหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน ใกล้บ้านอนุปิยมัลลนิคม แขวงเมืองพาราณาสี ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาว์ของพระบรมศาสดา เข้าไปหาพระอนุรุทธะ ผู้เป็นอนุชา ทรงปรารภว่า "ในตระกูลเรา ยังไม่มีใครออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย ฉะนั้น ในเราสองคน คือ อนุรุทธ์กับพี่ จะต้องออกบวชคนหนึ่ง พี่จะให้อนุรุทธ์เลือกเอา อนุรุทธ์จะบวชหรือจะให้พี่บวช
เนื่องจากพระอนุรุทธะ เป็นพระโอรสพระองค์เล็ก ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระมหามารดารักมาก ทั้งเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีบุญมากได้รับความรักใคร่เมตตาปรานีจากพระญาติทั้งหลายเป็นอันมาก ดังนั้นอนุรุทธกุมารจึงทูลว่า "หม่อมฉันบวชไม่ได้ดอก ขอให้เจ้าพี่บวชเถอะ"
พระมหานามะจึงรับสั่งว่า "ถ้าอนุรุทธะจะอยู่ ก็ต้องศึกษาเรื่องการครองเรือน เรื่องบำรุงวงศ์ตระกูลให้จงดี" และพระมหานามะ ก็ถวายคำแนะนำการครองชีด้วยกสิกรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อนุรุทธกุมารฟังแล้วระอาในการงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น จึงรับสั่งว่า "ถ้าเช่นนั้นให้เจ้าพี่อยู่เถอะ หม่อมฉันจะบวชเอง รำคาญที่ต้องไปวุ่นอยู่กับงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น" รับสั่งแล้วก็ลาพระมารดา ขออนุญาตบรรพชาตามพระบรมศาสดา พระมารดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง ภายหลังทรงอนุญาตเป็นนัยว่า "ถ้าภัททิยราชกุุมารผู้เป็นโอรสของพระนางกาฬีโคธาศากยวงศ์ผู้เป็นเพื่อนเล่นที่สนิทสนมของพ่อจะออกบวช พ่อจะบรรพชาด้วยก็ตามเถิด พระอนุรุทธะก็ไปชวนพระภัททิยะ ให้ออกบวชด้วยกัน แต่วิงวอนชวนอยู่ถึง ๗ วัน พระภัททิยะจึงบอกปฏิญญาว่าจะบวชด้วย อานนทฺ์ ๑ พระภัคคุ ๑ พระกิมพิละ ๑ พระเทวทัต ๑ ได้พร้อมใจกันจะออกบวชบรรพชา ชวนอุบาลี อำมาตย์ ช่างกัลบก รวมเป็น ๗ ด้วยกัน เดินทางไปสู่มัลลรัฐชนบท เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยะอัมพวัน ถวายอภิวาทแล้ว ขอประทานบรรพชาอุปสมบท
อนึ่ง ก่อนแต่พระบรมศาสดาจะทรงประทานบรรพชา พระอนุรุทธะได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ สูงด้วยขัตติยมานะอันกล้า ขอให้พระองค์ประทานบรรพชาแก่อุบาลี อำนาตย์ผู้รับใช้ส้อยติดตามของมวลข้าพระองค์ก่อน ให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรพชาต่อภายหลังจะได้คารวะไหว้นบ เคารพนับถืออุบาลี ผู้บวชแล้วก่อน บรรเทาขัตติยมานะให้บางเบาจากสันดาน
พระบรมศาสดาจึงได้ประทานอุปสมบทแก่อุบาลี กัลบกก่อน แล้วจึงประทานอุปสมบทแก่ ๖ กษัตริย์ในภายหลัง พระภัททิยะ นั้นได้สำเร็จไตรวิชาพระอรหัตผล ในพรรษานั้น พระอนุรุทธะ ได้บรรลุทิพยจักขุญาณ ก่อนภายหลังได้ฟังพระธรรมเทสนา มหาปุริสวิตักกสูตร จึงสำเร็จและพระกิมพิละเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนพระเทวทัตนั้น ได้บรรลุปุถุชนฤทธิ์ อันเป็นของโลกิยบุคคล
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจารึกไปประทับ ณ เมืองโกสัมพี ครั้งนั้นลาภสักการะ มี จีวร บิณฑบาต เภสัช อัฏฐบาน เป็นต้น เข้ามาสู่วิหาร ถวายแก่พระสงฆ์สาวกเป็นเนืองนิตย์ ส่วนมากทุก ๆ คนที่มา ย่อมถามถึงแต่พระอัครสาวกทั้งสองและพระสาวกองค์อื่น ๆ ว่าท่านอยู่ ณ ที่ใด แล้วก็พากันไปเคารพนบไหวสักการบูชา ไม่มีใครถามถึงพระเทวทัตแม้แต่ผู้เดียว
พระเทวทัตเกิดความโทมนัสน้อยใจ ตามวิสัยของปุถุชนจำพวกที่มากด้วยความอิจฉา ริษยา คิดว่า เราก็เป็นกษัตริย์ศากยราชสกุลเหมือนกัน อกบรรพชาด้วยกันกับกษัตริย์ขัตติยวงศ์นั้น ๆ แต่ไม่มีใครนับถือถามหา น่าน้อยใจ
(ยังมีต่อ...)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น