วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

เทฺววาจิกอุบาสก

                     ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

         
    ท้าวสหัมบดีพรหมเข้าเฝ้าอาราธนาพระผู้มีพระภาคให้แสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์

ในกาลนั้น  มีพาณิชสองพี่น้อง    ชื่อ ตปุสสะ๑  ภัลลิกะ๑ เป็นนายกองเกวียน นำกองเกวียนบรรทุกสินค้า โดยมรรคาอันไกลปรารถนาจะไปค้าขายยังอุกกลชนบท ในมัชฌิมประเทส  เดินทางมาใกล้พนาสณฑ์นั้น  เทพยดาได้แนะนำให้ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  สองพาณิชก็ดีใจพักกองเกวียนไว้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใสได้น้อมข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง เข้าทูลถวายด้วย

ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า  บาตรของตถาคตได้หายไปแต่เช้าแห่งวันตรัสรู้  ต้องทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาด้วยพระหัตถ์  และครั้นเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว  ก็มิได้เสวยพระกระยาหารเลย ตลอดเวลา ๔๙ วัน  บัดนี้ควรจะรับอาหารของสองพาณิช  ที่น้อมเข้ามาถวายด้วยบาตร  บัดนั้น ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔  พระองค์ ได้นำบาตรเสลมัย เป็นศิลาล้วน มีสีเขียวดังเมล็ดถั่วเขียวทั้ง ๔ ลูก มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า

ครั้นพระองค์ทรงรับบาตรทั้ง ๔ ลูก และในทันใดนั้น ก็ทรงอธิษฐานประสานบาตรทั้ง ๔ ลูกนั้น เข้าเป็นบาตรลูกเดียว แล้วทรงเอาบาตรนั้นรับข้าวสัตตุก้อน สัตตุผงของพาณิชทั้งสอง ทรงทำภัตตกิจ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสร็จการเสวยแล้ว ตปุสสะ ภัลลิกะพาณิชทั้งสอง ได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสก ด้วยความเลื่อมใสของถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรม ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต  ด้วยครั้งนั่นยังไม่มีพระสงฆ์  ปฐมอุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท "เทฺววาจิก"  คือ คือเปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมทั้งสองเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ครั้นแล้วพาณิชทั้งสองได้กราบทูลขอประทานปูชณียวัตถุ  คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับเป็นที่ระลึก อภิวาทบูชาในกาลต่อไป  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขึ้นปรามาสพระเศียร  ในขณะนั้น  พระเกศธาตุ ๘ เส้น ได้ติดนิ้วพระหัตถ์ลงมา  พระบรมศาสดาจึงทรงประทานพระเกศธาตุทั้ง ๘ เส้นนั้น แก่ตปุสสะ ภัลลิกะ ปฐมอุบาสก เพื่อเป็นที่ระลึกตามประสงค์  พาณิชทั้งสองน้อมรับพระเกศาธาตุด้วยความเบิกบานใจยิ่งนัก  ได้นำบรรจุลงในผอบทองคำ แล้ววางลงบนสุวรรณภาชนะอันวิจิตร  ถวายบังคมอัญเชิญผอบพระเกศาธาตุไปด้วยเศียรเกล้าของตน  นำขึ้นประดิษฐานบนเกวียน แล้วหลีกไปจากที่นั้น

ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จจากร่มไม้ราชายตนะประทับยังต้นไม้อชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง  ทรงพระดำริถึงพระองค์ว่า  การที่พระองค์อยู่โดยความเป็นผู้ไม่มีที่เคารพ กราบไหว้ เป็นความลำบากก็แล พระองค์ควรจะเคารพกราบไหว้ผู้ใดดี  เมื่อได้ทรงพิจารณาเลือกหาผู้ที่ทรงคุณสมบัติยิ่งกว่า  ควรที่พระองค์จะทรงเคารพ ก็มิได้ทรงมองเห็นผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม ควรแก่การคารวะ

ทรงพระดำริว่า พระโลกุตตรธรรม ที่ตถาคตได้ตรัสรู้นี้แล เป็นปูชนยวัตถุอันประเสริฐสุด ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง  แม้พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วทุก ๆ พระองค์  ก็ทรงเคารพพระสัทธรรม  ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเคารพพระธรรม ทรงเทิดทูนพระธรรมขึ้นเป็นที่เคารพบูชา

ต่อนั้นมาก็ทรงพิจารณาถึงพระธรรม  ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ทั้งหมดนั้น เป็นคุณชาติละเอียดสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง ยากที่มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาน้อย มีความเพียรน้อย แม้จะได้สดับแล้ว จะตรัสรู้ตามได้  ทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัยในอันจะแสดงธรรมโปรดประชากร

ขณะนั้น  ท้าวสหัมบดีพรหม  ทราบในพระพุทธปริวิตกเช่นนั้น  จึงชวนเทพยดาเป็นอันมาก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ  แล้วกราบทูลอาราธนาว่า...
 "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดังทะเลหลวง  ประชากรทั้งปวงที่มีสาวกบารมีได้สั่งสมไว้ มีอยู่  สัตว์ผู้มีธุลีนัยน์ตาน้อย ยังมีอยู่  ถ้าพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดประทานพระธรรมเทศนา  ประชาสัตว์ก็จะได้ดวงปัญญาหยั่งรู้ตาม จะได้ข้ามสังสารวัฏ สมดัง
มโนรถของพระองค์ที่ทรงมุ่งจะรื้อขนสัตว์ให้เข้าสู่พระนิพพาน"

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำอารธนาของท้าวสหัมบดีก็ทรงพระจินตนาการว่า  เป็นธรรมดาของพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่สืบ ๆ กันมา  ในอันที่จะประกาศธรรมโปรดประชากร  แท้จริงในราตรีแห่งวันที่จะได้ตรัสรู้ในมัชฌิมยาม  ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ก็ทรงหยั่งเห็นสันดานของประชาสัตว์สิ้นแล้ว  ว่ามีอุปนิสัยต่าง ๆ  กัน เป็น ๔ จำพวก  คือ

           ๑. อุคฆฏิตัญญู  ผู้สามารถจะตรัสรู้ตามพระธรรมเทศนาได้ฉับพลัน
           ๒. วิปจิตัญญู  ผู้จะตรัสรู้ตามในกาลภาคหลังที่สดับรับพระโอวาทแนะนำในกาลต่อไป
           ๓. เนยยะ  ผู้มีสันดานเพียงเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติตามโอวาท ซึ่งสามารถจะรู้ได้ในกาลภายหลั
           ๔.ปทปรมะผู้ยากที่จะสั่งสสอน แม้จะได้สดับธรรม ก็จะได้ผลเพียงเป็นอุปนิสัยปัจจัยในภพต่อไป  ดังดอกบัว ๔ เหล่านั้น  จึงได้ทรงน้อมพระทัยไปในอันที่จะแสดงธรรมโปรดประชาสัตว์  ทรงรับอารธนาของท้าวสหัมบดีพรหม  ตั้งพระทัยจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วยดี  ให้เกิดแก่พุทธบริษัททั้ง ๔  คือ ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  แผ่ใพศาลก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานสืบไป.

จากหนังสือ...พุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ...พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ ร.บ.)

                                 ..............................................





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น