วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทรงชำนะพญามาร


ขณะนั้น พญาวัสวดีมาราธิราชได้สดับเสียงเทพเจ้า บันลือเสียงสาธุการ  ก็ทราบชัดในพระทัยว่า พระมหาบุรุษจะตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ทำลายบ่วงมารที่เราวางขึงรึงไว้  แล้วหลุดพ้นไปได้  ก็น้อยใจ คิดริษยา เคียดแค้น จึงป่าวประกาศเรียกพลเสนามารจำนวนมาก  พร้อมด้วยสรรพาวุธและสรรพวาหนะที่ร้ายแรงเหลือที่จะประมาณ เต็มไปในท้องฟ้า พญาวัสวดีขึ้นช้างพระที่นั่งคีรีเมขล์ นิรมิตรมือพันมือถืออาวุธพร้อมสรรพ นำกองทัพอันร้ายเหาะมาทางนภาลัยประเทศ  เข้าล้อมเขตบัลลังก์ของพระมหาบุรุษเจ้าไว้อย่างแน่นหนา

ทันใดนั้นเอง บรรดาเทพเจ้าที่พากันมาห้อมล้อมถวายสักการบูชาสาธุการพระมหาบุรุษอยู่  เมื่อได้เห็นพญามารยกพหลพลมารมาเป็นอันมาก ต่างก็มีความตกใจกลัว อกสั่นขวัญหาย พากันหนึไปยังขอบจักรวาล ทิ้งพระมหาบุรุษเจ้า ให้ต่อสู้พญามารแต่พระองค์เดียว


ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น


เมื่อพระมหาบุรุษไม่ทรงแลเห็นผู้ใดที่ไหนจะช่วยได้ ก็ทรงระลึกถึงบารมีธรรมทั้ง ๓๐ ประการ  ซึ่งเป็นดุจทหารที่แกล้วกล้า มีศัสตราวุธครบครัน สามารถผจญกับหมู่มาร  ขับไล่ให้ปราชัยหนีไปสิ้นเชิงได้ และเหล่าเทวดาได้พร้อมกันมารับอาสาอยู่พร้อมมูลเช่นนั้น  พระมหาบุรุษก็ทรงโสมนัส ทรงประทับนิ่งอยู่โดยมิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด

ฝ่ายพญามารวัสวดีเห็นพระมหาบุรุษประทับนิ่ง มิได้หวั่นไหวแต่ประการใด ก็พิโรธ ร้องประกาศกึกก้องให้เสนามารรุกเข้าทำอันตรายหลายประการ จนหมดฤทธิ์  บรรดาสรรพาวุธศัสตรายาพิษที่พุ่งชัดไป ก็กลับกลายเป็นบุปผามาลัยบูชาพระมหาบุรุษจนสิ้น  ครังนั้นพญามารตรัสแก่พระมหาบุรุษด้วยสันดานพาลว่า  "ดูกร สิทธัตถะ บัลลังก์แก้วนี้เกิดเพื่อบุญเรา เป็นของสำหรับเรา ท่านเป็นคนไม่มีบุญ ไม่สมควรจะนั่ง จงลุกไปเสียโดยเร็ว"

พระมหาบุรุษหน่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าก็ตรัสตอบว่า  "ดูกร พญามารบัลลังก์แก้วนี้ เกิดขึ้นด้วยบุญของอาตมาที่ได้บำเพ็ญมาแต่อสังเขยยกัปป์ จะนับจะประมาณมิได้ ดังนั้น อาตมาผู้เดียวเท่านั้นสมควรที่จะนั่ง ผู้อื่นไม่สมควรเลย"

พญามารก็ค้านว่า  ที่พระมหาบุรุษรับสั่งมานั้น  ไม่เป็นความจริง ให้หาพยานมายืนยันว่า พระองค์ได้บำเพ็ญกุศลมาจริง ให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานในที่นี้

เมื่อพระมหาบุรุษไม่เห็นผู้อื่นใด ใครจะกล้ามาเป็นพยานยืนยันในที่นี้ได้  จึงตรัสเรียกนางวสุนธราเจ้าแห่งธรณีว่า "ดูกร  วสุนธรา นางจงมาเป็นพยานในการบำเพ็ญกุศลของอาตมา ในกาลบัดนี้ด้วยเถิด"

ลำดับนั้น นางวสุนทราเจ้าแม่ธรณี ก็ชำแรกแทรกแผ่นปฐพีขึ้นมาปรากฏกาย ทำอัญชลีถวายอภิวาทพระมหาบุรุษเจ้าแล้ว ก็ประกาศให้พญามารทราบว่า  พระมหาบุรุษเมื่อทรงเป็นพระบรมโพธิสัตว์เจ้า  ได้ทรงบำเพ็ญกุศลมามากมาย เหลือที่จะนับประมาณได้  แต่น้ำกรวดที่ข้าพเจ้าเอามวยมารับไว้บนเศียรเกล้า ก็มีมากพอที่จะถือเป็นหลักฐานวินิจฉัยได้  นางวสุนธรากล่าวแล้ว ก็ประจงหัตถ์อันงามปล่อยมวยผม บีบน้ำกรวดที่สะสะไว้ในเอนกชาติให้ไหลหลั่งออกมาเป็นทะเลหลวง  กระแสน้ำไหลบ่าออกมาท่วมทับเสนามารทั้งปวงให้จมลงวอดวาย  กำลังน้ำได้ทุ่มซัดพัดช้างขีรีเมขล์ ให้ถอยร่นลงไปติดขอบจักรวาล

ครั้นนั้น  พญามารตกตะลึงเห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยมิได้เคยเห็นมาแต่กาลก่อน  รับประนมหัตถ์ถวายนมัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระมหาบุรุษเจ้า แล้วก็อันตรธานหนีไปจากที่นั้นโดยเร็ว

เมื่อพระมหาบุรุษได้ทรงพิชิตพญามารและเสนนามารด้วยพระบารมี  เวลาตั้งแต่สายัณห์มิทันที่พระอาทิตย์จะอัสดงคต  ก็ทรงเบิกบานพระหฤทัยได้ปีติเป็นกำลังภายในสนับสนุน เพิ่มพูนแรงปฏิบัติสมาธิภาวนาให้ยิ่งขึ้น  ดังนั้น  พระมหาบุรุษจึงมิได้ทรงพักให้เสียเวลา ทรงเจริญสมาธิทำจิตให้แน่วแน่ ปราศจากอุปกิเลส จนจิตสุขุมเข้าโดยลำดับ  ไม่ช้าก็ได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน  ซึ่งเป็นส่วนรูปสมาบัติเป็นลำดับ  จนถึงอรูปสมาบัติ ๔ บริบูรณ์

                                                          .................................................









วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส



             ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น



นางสุชาดามีความปลาบปลื้ม กล่าวว่า  ขอให้เจ้าเป็นลูกคนโตของแม่เถิด แล้วจึงมอบเครื่องประดับแก่นางปุณณทาสี และให้หยิบถาดทองมา ๒ ถาด ถาดหนึ่งใส่ข้าวปายาสจนหมด มิได้เหลือเศษไว้เลย ข้าวปายาสเต็มถาดพอดี  แล้วให้ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง แล้วห่อหุ้มด้วยผ้าทองอันบริสุทธิ์  ครั้นนางสุชาดาแต่งกายงามด้วยอาภรณ์เสร็จแล้ว จึงยกถาดข้าวปายาสขึ้นทูนเหนือเศียรเกล้าของนาง ลงจากเรือนพร้อมด้วยหญิงคนใช้เป็นบริวารติดตามมาเป็นอันมาก  ครั้นถึงต้นไทร เห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมีดังนั้น  ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง  สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดาโดยแท้  เดินยอบกายเข้าไปเฝ้าแต่ไกลด้วยคารวะ  ครั้นเข้าไปใกล้จึงน้อมถาดข้าวปายาสถวายด้วยความเคารพยิ่ง

ขณะนั้น บาตรดินอันเป็นทิพย์ ซึ่งฆฏิการพรหมถวายแต่วันแรกทรงบรรพชา  เกิดอันตรธานหายไปจากที่นั้น  พระมหาบุรุษก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ  แล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา แสดงให้นางรู้ชัดว่า พระองค์ไม่มีบาตรจะถ่ายข้าวปายาสไว้  นางสุชาดาทราบชัดโดยพระอาการ ก็กราบทูลว่า หม่อมฉันขอถวายทั้งหมด  พระองค์มีพระประสงค์ประการใดโปรดนำไปตามพระหฤทัยเถิด  แล้วถวายอภิวาททูลอีกว่า ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด  ขอสิ่งซึ่งพระหฤทัยของพระองค์ประสงค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด  แล้วนางก็ก้มลงกราบถวายบังคมลากลับเรือนด้วยความสุขใจเป็นล้นพ้น


 ส่วนพระมหาบุรุษเสด็จลุกจากที่ประทับ  ทรงถือถาดข้าวปายาสเสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับบ่ายพระพักตร์สู่บูรพทิศ แล้วทรงปั้นข้าวปายาสเป็นปั้น ๆ ได้ ๔๙ ปั้น เสวยจนหมด แล้วทรงถือถาดลงไปสู่แม่น้ำ ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป  แล้วทรงลอยถาดทองนั้นลงในแม่น้ำเนรัญชรา  ขณะนั้นอานุภาพพระบารมีของพระองค์ ซึ่งทรงบำเพ็ญมาบริบูรณ์ดีแล้ว ได้แสดงให้เห็นความอัศจรรย์ ถาดทองนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำในแม่น้ำเนรัญชราขึ้นไปประมาณ ๑ เส้น  แล้วถาดทองนั้นก็จมลงตรงนาคภพพิมานแห่งพญากาฬนาคราช

ครั้นพระมหาบุรุษได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นนิมิตอันดีเช่นนั้น  ก็เพิ่มความแน่พระทัยว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า  โดยหาความสงสัยมิได้ ก็ทรงโสมนัส แล้วเสด็จมายังสาลวันริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับพักที่ภายใต้ร่มไม้สาลพฤกษ์  พอเวลาสายัณห์ตะวันบ่าย ก็เสด็จออกจากหมู่ไม้สาละที่พักกลางวัน  เสด็จดำเนินไปสู่ควงไม้อสัตถะโพธิพฤกษ์มณฑล  พบโสตถิยะพราหมณ์ในระหว่างทาง  โสตถิยะพราหมณ์เลื่อมใส  ได้น้อมถวายหญ้าคาจำนวน ๘ กำ





พระมหาบุรุษรับหญ้าคาแล้ว  เสด็จไปร่มไม้อสัตถะนั้น ณ ด้านปราจีนทิศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอจงเกิดเป็นรัตนบัลลังก์แก้วขึ้นรองรับพระสัพพัญญุตญาณในที่นี้  ทันใดนั้น บัลลังก์แก้วอันวิจิตรงานตระการ  ก็บันดาลผุดขึ้นสมดังพระทัยประสงค์ ควรจะอัศจรรย์ยิ่งนัก

พระมหาบุรุษเสด็จขึ้นประทับรัตนบัลลังก์แก้ว ขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ตรงไปยังปราจีนทิศ หันพระปฤษฏางค์ (หลัง)  ไปทางลำต้นโพธิ์พฤกษ์ก่อนที่จะเริ่มทำความเพียรโดยสมาธิจิต  ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในพระทัยว่า  ถ้าอาตมายังมิได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด  แม้โลหิตและมังสะจะเหือดแห้งไป จงเหลือแต่ตจะ (หนัง)  นหารุ (เอ็น)  และอัฐิ (กระดูก) ก็ตามที จะไม่เลิกละความเพียร โดยลุกไปจากที่นี้

ครั้งนั้น เทพยดาทั้งหลายพากันชื่นชมโสมนัส มีหัตถ์ทรงซึ่่งเครื่องสักการบูชา บุปผามาลัยมีประการต่าง ๆ  พากันมาสโมสรสันนิบาตห้อมล้อม โห่ร้องซ้องสาธุการบูชาพระมหาบุรุษ สุดที่จะประมาณ เต็มตลอดมงคลจักรวาลนี้.

                                                   .....................................................



วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

ทรงพระสุบิน



เมื่อพระมหาบุรุษทรงเลิกลละทุกรกิริยาแล้ว  ก็ทรงเสวยพระอาหารแข้น บำรุงพระกายยให้กลับมีกำลังแข็งแรงเป็นปรกติอย่างเดิม แล้วจึงเริ่มทำความเพียรทางจิตต่อไป จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ขณะบรรทมทรงพระสุบิน ๕ ประการ คือ

๑. ทรงพระสุบินว่า  พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์เป็นพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทิศตะวันออก  พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่่หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้




๒. ทรงพระสุบินว่า  หญ้าแพรกเส้นหนึ่ง งอกจากพระนาภี (สะดือ)สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า




๓. ทรงพระสุบินว่า  หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้าง ดำบ้างเป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่ ปกปิดลำพระชงฆ์ (แข้ง) หมด และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุ (เข่า) มณฑล




๔. ทรงพระสุบินว่า  ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาแต่ทิศทั้ง ๔ ลงมาจับแท่นพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น



๕. ทรงพระสุบินว่า  เสด็จขึ้นไปเดินจงกรมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้เปื้อนพระยุคลบาท




ในพระสุบินทั้ง  ๕ ข้อนั้น มีอธิบายคำทำนายว่า

ข้อ ๑  พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู่้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้งสาม

ข้อ ๒  พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรค ผล นิพพาน แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล

ข้อ ๓  คฤหัสถ์ พราหมณ์ ทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก

ข้อ ๔  ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศ์ ศูทร์ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสไปสิ้น

ข้อ ๕  ถึงแม้พระองค์จะพร้อมมูล ด้วยสักการะวรามิศที่ชาวโลกอุทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย

ครั้นพระมหาบุรุษตื่นผทมแล้ว ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง ๕ แล้วทรงทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เองว่า  จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้  ครั้นได้ทรงทำสรีรกิจสระสรงพระกายหมดจดแล้ว ก็เสด็จมาประทับนั่ง ณ ที่ควงไม้นิโครธพฤกษ์ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขปุรณมีดิถี กลางเดือน ๖ ปีระกา

ประจวบด้วยวันวานเป็นวันที่นางสุชาดา ธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น  นางได้ตั้งปณิธานบูชาเทพารักษ์ไว้ว่า ขอให้นางได้สามีที่มีตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้บุตรคนแรกเเป็นชาย ครั้นนางได้สามีและบุตรสมใจนึก นางจึงคิดจะหุงข้าวมธุปายาสอันประณีตด้วยเครื่องปรุงทุกประการ ไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่ได้ไปบนบานไว้  ดังนั้น ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖  จึงสั่งให้บ่าวไพร่ตระเตรียมทำข้าวปายาสเป็นการใหญ่ และกว่าจะสำเร็จเป็นข้าวปายาสได้ ก็ตกถึงเพลงเที่ยงคืน แล้วนางสุชาดาจึงสั่งนางปุณณทาสีหญิงคนใช้ที่สนิทกัน ให้ออกไปทำความสะอาด แล้วกวาดที่โคนต้นไม้นิโครธพฤกษ์นั้น เพื่อจะได้จัดเป็นที่ตั้งเครื่องสังเวยเทพารักษ์

ดังนั้น นางปุณณทาสีจึงได้ตื่นแต่เช้า เดินทางไปยังต้นไม้นิโครธพฤกษ์นั้น เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้นั้น ผันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางปราจีนทิศ (ตะวันออก) มีรัศมีพระกายแผ่ซ่านออกไปเป็สนปริมณฆลงามยิ่งนัก  นางก็นึกทึกทักตระหนักแน่ในจิตทันทีว่า วันนี้เทพยดาเจ้าลงจากต้นไทรงาม นั่งคอยรับข้าวปายาสของสังเวยของเจ้าแม่ด้วยมือทีเดียว  นางดีใจรีบกลับมายังเรือน บอกนางสุชาดาละล่ำละลักว่า เทพารักษ์ที่เจ้าแม่มุ่งทำพลีกรรมสังเวยนั้น บัดนี้ได้มานั่งรอเจ้าแม่อยู่ที่ควงไม้ไทรแล้ว ขอให้เจ้าแม่รีบไปเถอะ

                                                              ............................................



วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระมหาบุรุษ (ตอนที่๓)

     

       ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น


                                    พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

ลำดับนั้น พระมหาบุรุษทรงดำริที่จะเริ่มทำทุกรกิริยา ซึ่งถือว่าเป็นปฏิปทาที่นิยมกัน ว่าเป็นหนทางที่จะตรัสรู้ในสมัยนั้น  โดยการทรมานพระกายให้ลำบาก อันกระทำได้ยาก ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ ดังนี้

         วาระที่ ๑  ทรงกดพระทนต์ (ฟัน) ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดาน) ด้วยพระชิวหา (ลิ้น) ไว้ให้แน่น จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลจากพระกัจฉะ (รักแร้) ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า เปรียบเสมือนบุรุษมีกำลังมาก จับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าไว้ที่ศีรษะ หรือที่คอ บีบให้แน่น  ฉะนั้น แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบระงับอย่างนี้  แต่ทุกขเวทนานั้นก้ไม่อาจที่จะครอบงำพระหฤทัยของพระองค์ให้กระสับกระส่ายได้  พระองค์มีพระสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน  ทรงปรารภความเพียรไม่ท้อถอย  ครั้นทรงเห็นว่าการกระทำอย่างนั้น  ไม่ใช่หนทางที่จะตรัสรู้ได้ จึงทรงปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

          วาระที่ ๒  ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจเข้าออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวกโดยช่องพระนาสิก (จมูก) และช่องพระโอษฐ์ (ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ์ (หู) ทั้งสองข้างทำให้ปวดพระเศียร (หัว) เสียดพระอุทร (ท้อง)  ร้อนในพระกายเป็นกำลัง  แม้จะได้เสวยทุกขเวทนาแรงกล้าถึงเพียงนี้  ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย มีพระสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน  ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน  ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำเช่นนี้ ไม่ใช่หนทางที่จะตรัสรู้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป

          วาระที่ ๓  ทรงอดพระอาหาร  ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ  บ้าง เสวยอาหารละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง  พระฉวี (ผิว) เศร้าหมอง  พระอัฐิ (กระดูก) ปรากฏทั่วพระวรกาย  เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมา (ขน) มีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา  พระกำลังน้อยถอยลง  จะเสด็จไปข้างไหนก็ชวนล้ม  วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลังอิดโรยหิวโหยที่สุด  จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้  ก็ทรงวิสัญญีภาพ (สลบ) ล้มลงในที่นั้น

ขณะนั้น เทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่า  พระมหาบุรุษดับขันธ์ทิวงคตแล้ว  จึงรีบไปยังพระปราสาทของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ทูลว่า  บัดนี้พระสิทธัตถะกุมาร  พระราชโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว  พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งถาม  พระโอรสของเราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือยัง เป็นประการใด  เทพยดาก็ตอบว่า ยังมิทันได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อ  จึงได้รับสั่งว่า  จักเป็นเช่นนั้นไม่ได้  หากพระโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว  จะด่วนทำลายพระชนม์ชีพหามิได้เลย  แล้วเทพยดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ไป
  
ส่วนพระมหาบุรุษเมื่อได้ซึ่งสัญญา ฟื้นพระกายกุมพระสติให้ตั้งมั่น พิจารณาดูปฏิปทาในทุกรกิริยาที่กระทำอยู่  ทรงดำริว่า ถึงบุคคลทั้งหลายใด ๆ ในโลกนี้ จะทำทุกรกิริยาอย่างอุกฤษฎ์นี้ บุคคลนั้น ๆ ก็ทำทุกรกิริยาเสมออาตมาเท่านั้น  จะทำให้ยิ่งกว่าอาตมาหามิได้  แม้อาตมาปฏิบัติอย่างอุกฤษฎ์อย่างนี้แล้ว  ไหนหนอจึงยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ ชะรอยทางตรัสรู้จะมีเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างนี้เป็นแน่  เกิดพระสติหวนระลึกถึงความเพียรทางใจว่า จะเป็นหนทางตรัสรู้ได้บ้าง

ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษดังนั้น  จึงทรงซึ่งพิณพาทย์สามสาย  มาดีตถวายพระมหาบุรุษ  สายหนึ่งตึงนัก  พอดีดไปหน่อยก็ขาด  สายหนึ่งหย่อนนัก  ดีดเข้าไปก็ไม่บันลือเสียง  อีกสายหนึ่งไม่ตึงไม่หย่อนนัก  พอปานกลาง ดีดเข้าไปก็บันลือเสียงไพเราะเจริญใจ  พระมหาบุรุษได้สดับเสียงพิณแล้ว ทรงหวนระลึกถึงพิณที่เคยทรงมาแต่ก่อน  ก็ทรงตระหนักแน่  ถือเอาพิณเป็นนิมิต ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า  ทุกรกิริยามิใช่หนทางตรัสรู้แน่  ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิต ทรงเห็นว่าความเพียรทางจิตเช่นนั้น  คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมานี้  ย่อมไม่สามารถที่จะกระทำได้  ฉะนั้น จำจะต้องหยุดพักแข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน  ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระอาหารตามเดิม

การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิตนั้น  พระองค์มั่นพระทัยว่า จะเป็นหนทางให้ได้ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณโดยแท้

ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ ผู้มีความนิยมในทุกรกิริยา พากันเฝ้าบำรุงพระมหาบุรุษ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทำความเพียรในทุกรกิริยาอย่างตึงเครียดเกินกว่าสามัญชนจะกระทำได้เช่นนั้น  ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสมั่นใจว่า พระมหาบุรุษจะต้องได้ตรัสรู้โดยฉัยพลัน  และพระองค์จะได้ทรงเมตตาประทานธรรมเทศนาโปรดพวกตนให้ตรัสรู้บ้าง  แต่ครั้งนั้นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกรกิริยาประพฤติแล้ว  และเห็นพร้อมกันว่า  บัดนี้พระมหาบุรุษทรงคลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว  จึงเบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติบำรุงพระองค์ต่อไป  ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่อาจบรรลุธรรมอันวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพากันหลีกไปเสียจากที่นั้น  ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

                                                             ........................................

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระมหาบุรุษ (ตอนที่ ๒)

            ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น


                  ปัญจวัคคีย์เข้าเฝ้าพระมหาบุรุษเจ้า ณ  ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม

ครั้นเมื่อบรรดาราชบุรุษได้เห็นพระมหาบุรุษในขณะเสด็จบิณฑบาต  จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารพระราชาแห่งแคว้นมคธให้ทราบ  พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้ไปสะกดรอยติดตาม  เพื่อทราบความเท็จจริงของบรรพชิตรูปนี้  เมื่อบรรดาราชบุรุษได้สืบจนทราบความจริงแล้ว  จึงนำความเข้าทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงทราบ

เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงสดับแล้ว ก็ทรงมีพระทัยโสมนัสในคุณสมบัติของบรรพชิตรูปนี้   มีพระประสงค์จะได้พบ  จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครโดยด่วน  ครั้นถึงบัณฑวบรรพต ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเฝ้าพระมหาบุรุษเจ้า เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระอิริยาบถสำรวมอยู่ในสมณสังวร ก็ยิ่งทรงเลื่อมใสในปฏิปทาของพระมหาบุรุษเจ้ายิ่งนัก  ครั้นได้ทูลถามถึงตระกูล ประเทศและพระชาติ  เมื่อได้ทรงทราบว่า เป็นขัตติยศากยราชเสด็จออกบรรพชา ก็ทรงดำรัสว่า ชะรอยพระมหาบุรุษจะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติด้วยเรื่องพระราชสมบัติเป็นแน่แท้  จึงได้เสด็จออกบรรพชา  ซึ่งเป็นธรรมดาของนักพรตที่ออกจากราชตระกูล แล้วบรรพชาแต่กาลก่อน  จึงได้ทรงเชิ้อเชิญพระมหาบุรุษด้วยราชสมบัติ ซึ่งพระองค์ยินดีจะแบ่งถวาย ให้เสวยสมพระเกียรติทุกประการ

พระมหาบุรุษตรัสตอบ  ขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งมีพระทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตา แบ่งสิริราชสมบัติ  พระราชทานให้ครอบครอง  แต่พระองค์มิได้มีความประสงค์เช่นนั้นเลย  ทรงสละราชสมบัติออกบรรพชาเพื่อมุ่งพระสัพพัญญุตญาณโดยแท้  พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับ  ก็ตรัสอนุโมทนาและทูลขอปฏิญญากับพระมหาบุรุษว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขอได้ทรงพระกรุณาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์ แสดงธรรมโปรด  ครั้นพระหาบุรุษทรงรับปฏิญญาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ถวายบังคมลากลับสู่พระนคร

ลำดับนั้น  พระมหาบุรุษก็เสด็จจาริกจากที่นั้น ไปสู่สำนักของอาฬารดาบสกาลามโคตร ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง  ขอพำนักศึกษาวิชาและข้อปฏิบัติ ทรงศึกษาอยู่ไม่นานนัก  ก็สำเร็จสมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓  หมดสิ้นความรู้ของอาฬารดาบส  จึงไปสู่สำนักของอุททกดาบสรามบุตร ขอพำนักศึกษาอยู่ด้วย  ทรงศึกษาได้อรูปฌาน ๔  ครบสมาบัติ ๘   หมดสิ้นความรู้ของอุททกดาบส  ครั้นทรงไต่ถามถึงธรรมวิเศษขึ้นไป อุททกดาบสก็ไม่สามารถจะบอกได้  และได้ยกย่องตั้งพระมหาบุรุษไว้ในฐานะเป็นอาจารย์เสมอด้วยตน  แต่พระมหาบุรุษทรงเห็นว่า  ธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาจารย์  ออกแสวงหาธรรมวิเศษสืบไป ทั้งมุ่งพระทัยจะทำความเพียรโดยลำพังพระองค์ด้วย  จึงได้เสด็จจาริกไปยังมคธชนบท  บรรลุถึงตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ราบรื่น แนวป่าเขียวสดเป็นที่เบิกบานใจ  แม่น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน้ำรื่นรมย์ โคจรคาม คือหมู่บ้านที่อาศัยของกุลบุตรผู้มีความต้องการด้วยความเพียร จึงได้เสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น

ส่วนบรรพชิตทั้ง ๕ ซึ่งมีนามว่า ปัญจวัคคีย์  ได้แก่ พระโกณฑัญญะ  พระวัปปะ  พระภัททิยะ  พระมหานามะ  พระอัสสชิ  พากันเที่ยวติดตามพระมหาบุรุษในที่ต่าง ๆ  จนได้พบพระมหาบุรุษ ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม จึงพากันเข้าไปถวายอภิวาท  แล้วอยู่ปฏิบัติบำรุง  จัดทำธุรกิจถวายทุกประการ โดยหวังว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง

ครั้งน้ัน อุปมา ๓ ข้อ อันไม่น่าอัศจรรย์ พระองค์ไม่เคยได้ยินมาในกาลก่อน  มาปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระองค์ว่า  สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายไม่ได้หลีกออกจากกาม และมีความพอใจรักใคร่ในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี  ไม่ได้เสวยก็ดี  ก็ไม่ควรจะตรัสรู้  เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง  บุคคลแช่ไว้ในน้ำ บุรุษมีความต้องการด้วยไฟ  ถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้า ด้วยหวังจะให้เกิดไฟ  บุรุษนั้นก็ไม่อาจทำให้ไฟเกิดขึ้นได้  ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า  เพราะไม้นั้นยังสดอยู่และมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ

อีกข้อหนึ่ง  สมณพรามหณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว  แต่ยังมีความรักใคร่พอใจในกาม ยังละให้สงบไม่ได้ดี  สมณพรามหณ์เหล่านั้น  แม้ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้น  อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี  ไม่ได้เสวยก็ดี  ไม่ควรตรัสรู้  เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้ห่างไกลจากน้ำ บุคคลตั้งไว้บนบก บุรุษก็ไม่อาจสีให้เกิดไฟได้  ถ้าสีเข้าต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นแม้ตั้งอยู่บนบกแล้ว  แต่ยังเป็นของสดชุ่มด้วยยาง

อีกข้อหนึ่ง  สมณพรามหณ์เหล่าหนึ่งเหล่าใด มีกายหลีกออกจากกามแล้ว และละความใคร่ในกาม ให้สงบระงับดีแล้ว สมณพรามหณ์เหล่านั้น ได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี แม้ไม่ได้เสวยเลยก็ดี  ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งที่ไกลจากน้ำ บุคคลวางไว้บนบก บุรุษอาจสีให้เกิดไฟขึ้นได้ เพราะเป็นของแห้งทั้งตั้งอยู่บนบก

                                                   ..............................................


วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระมหาบุรุษ


หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงบรรพชาแล้ว  ได้ดำรัสสั่งนายฉันนะอำมาตย์ว่า  ท่านจงนำอาภรณ์ของอาตมากลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์  แจ้งข่าวแก่ขัตติสกุลทั้งมวลให้ทราบ  แล้วกราบทูลพระปิตุเรศและราชมาตุจฉาว่า  พระโอรสของพระองค์หามีอันตรายด้วยโรคาพยาธิมิได้  บัดนี้ได้บรรพชาแล้ว  อย่าให้พระองค์ทรงทุกขโทมนัสถึงพระราชโอรสเลย  จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด  เมื่ออาตมะบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว  จะได้ไปเฝ้าพระราชบิดา พระราชมาดาและพระประยูรญาติขัตติยวงศ์ทั้งหลาย  ท่านจงกลับไปกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้เถิด

เมื่อนายฉันนะอำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว  ได้ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาท มิอาจที่จะกลั้นความโศกเศร้าได้ มิอยากจะจากพระองค์ไปด้วยความอาลัยเสน่หาอาวรณ์ยิ่งนัก  รู้สึกว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง ที่ตนทอดทิ้งพระมหาบุรุษให้อยู่แต่ผู้เดียว  แต่ก็ไม่อาจที่จะขัดพระกระแสดำรัสได้  จึงจำใจต้องจากพระองค์ไปด้วยความอาลัยยิ่ง  นำเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้าทั้งหมด แล้วเดินทางพร้อมกับม้ากัณฐกะสินธวชาติ กลับพระนครกบิลพัสดุ์  พอเดินทางไปเพียงแค่ชั่วสุดสายเท่านั้น  ม้ากัณฐกะก็ขาดใจตายด้วยความความอาลัยในพระมหาบุรุษสุดกำลัง

ครั้งถึงพระนคร  ชาวกรุงกบิลพัสดุ์ต่างพากันโจษจันกันอย่างหนักว่า  นายฉันนะอำมาตย์กลับแล้ว ต่างพากันรีบไปถาม  เหล่าอำมาตย์ทราบความ  ก็บอกเล่ากันต่อ ๆ ไป จนกระทั่งนายฉันนะอำมาตย์เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะราชบิดา ถวายเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้า แล้วกราบทูลตามความที่พระมหาบุรุษเจ้าสั่งมาทุกประการ  ครั้นพระราชบิดา  พระมาตุลาและพระนางพิมพา  ตลอดจนขัตติยราชทั้งมวล  ได้สดับข่าวแล้ว ก็ค่อยคลายความโศกเศร้า และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของพระมหาบุรุษเจ้าสืบไป  ตามคำพยากรณ์ของอสิตดาบสและพราหมณ์ทั้งหลายได้ทูลถวายไว้แต่ตันนั้น

ฝ่ายโกณฑัญญพราหมณ์ทราบข่าวว่า พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาแล้ว  ก็ดีใจรีบไปหาบุตรของเพื่อนทั้ง ๗ คน ที่ร่วมคณะถวายคำทำนายพระลักษณะด้วยกัน  กล่าวว่า บัดนี้ เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้  โดยไม่มีข้อสงสัย  ถ้าบิดาของท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่  ก็จะออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้  หากว่าท่านทั้งหลายมมีความปรารถนาจะบวช  ก็จงมาบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด

แต่บุตรพรหมณ์ทั้ง ๗ หาได้พร้อมใจกันทั้งหมดไม่ ยินดีที่จะบวชด้วยเพียง ๔ คน  โกณฑัญญพรหมณ์ได้พาหราหมณ์ทั้ง ๔ ออกบรรพชา  รวมเป็น ๕  ท่านด้วยกัน  จึงได้นามว่า  พระปัญจวัคคี  เพราะมีพวกด้วยกัน ๕ คน ชวนกันออกสืบหาติดตามพระมหาบุรุษเจ้า

ส่วนพระมหาบุรุษเจ้านั้น  หลังจากทรงบรรพชาแล้ว เสวยบรรพชาสุขอยู่ ณ ที่ป่าไม้ามะม่วงในตำบลหนึ่ง มีนามว่า  อนุปิยอัมพวัน  ไม่เสวยพระกระยาหารอยู่ ๗ วัน  ครั้นวันที่ ๘ จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวัน  เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์  โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวรสมควรแก่ภาวะของสมณะ เป็นที่เลื่อมใสของบรรดาผู้คนที่ได้พบเห็น  เมื่อได้บิณฑบาตพอแก่อาปนมัตแล้ว  จึงเสด็จกลับจากพระนคร  โดยเสด็จออกจากพระนครทางประตูเดิมที่เสด็จเข้าไป  แล้วตรงไปยังบัณฑวบรรพต ซึ่งมีหน้าผาเป็นที่ร่มเย็นตามควรแก่สมณะวิสัย  ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาต  ทอดพระเนตรเห็นบิณฑบาต ในบาตไม่สะอาดไม่ปราณีต หารสกลิ่นอันควรแก่การเสวยมิได้  เป็นอาหารที่เลว ซึ่งพระองค์ไม่เคยเสวยมาก่อน  ก็บังเกิดปฏิกูลน่ารังเกียจยิ่ง

ลำดับนั้น  พระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า "สิทธัตถะ ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ เคยบริโภคแต่อาหารปรุงแต่งด้วยสุคันธชาติโภชนสาลีอันประกอบด้วยสูปพยัญชนะ มีรสอันเลิศต่าง ๆ  ไฉนทานจึงไม่รู้สึกตนว่า เป็นบรรพชิตเห็นปานฉะนี้  และเที่ยวบิณฑบาตร อย่างงไรจะได้โภชนาหารอันสะอาดประณีตมาแต่ที่ไหนเล่า และบัดนี้ ท่านสมควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้"  เมื่อได้ให้โอวาทแก่พระองค์เองฉะนี้แล้ว  ก็มนสิการในปฏิกูลสัญญาพิจารณาอาหารบิณฑบาตด้วยธาตุปัจจเวกขณ์  ด้วยพระปรีชาสมบูรณ์  ด้วยพระสติดำรงมั่น ทรงเสวยมิสกวรหารบิณฑบาตอันนั้น  ปราศจากความรังเกียจ ดุจอมฤตรส และทรงกำหนดในพระทัยว่า  ตั้งแต่บรรพชามาได้ ๘ วัน  เพิ่งได้เสวยภัตตาหารในวันนี้

                                                        ........................................