ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น
พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
ลำดับนั้น พระมหาบุรุษทรงดำริที่จะเริ่มทำทุกรกิริยา ซึ่งถือว่าเป็นปฏิปทาที่นิยมกัน ว่าเป็นหนทางที่จะตรัสรู้ในสมัยนั้น โดยการทรมานพระกายให้ลำบาก อันกระทำได้ยาก ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ ดังนี้
วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ (ฟัน) ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดาน) ด้วยพระชิวหา (ลิ้น) ไว้ให้แน่น จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลจากพระกัจฉะ (รักแร้) ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า เปรียบเสมือนบุรุษมีกำลังมาก จับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าไว้ที่ศีรษะ หรือที่คอ บีบให้แน่น ฉะนั้น แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบระงับอย่างนี้ แต่ทุกขเวทนานั้นก้ไม่อาจที่จะครอบงำพระหฤทัยของพระองค์ให้กระสับกระส่ายได้ พระองค์มีพระสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ทรงปรารภความเพียรไม่ท้อถอย ครั้นทรงเห็นว่าการกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่หนทางที่จะตรัสรู้ได้ จึงทรงปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจเข้าออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวกโดยช่องพระนาสิก (จมูก) และช่องพระโอษฐ์ (ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ์ (หู) ทั้งสองข้างทำให้ปวดพระเศียร (หัว) เสียดพระอุทร (ท้อง) ร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้จะได้เสวยทุกขเวทนาแรงกล้าถึงเพียงนี้ ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย มีพระสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำเช่นนี้ ไม่ใช่หนทางที่จะตรัสรู้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ ๓ ทรงอดพระอาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง เสวยอาหารละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี (ผิว) เศร้าหมอง พระอัฐิ (กระดูก) ปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมา (ขน) มีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยถอยลง จะเสด็จไปข้างไหนก็ชวนล้ม วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลังอิดโรยหิวโหยที่สุด จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพ (สลบ) ล้มลงในที่นั้น
ขณะนั้น เทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่า พระมหาบุรุษดับขันธ์ทิวงคตแล้ว จึงรีบไปยังพระปราสาทของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ทูลว่า บัดนี้พระสิทธัตถะกุมาร พระราชโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งถาม พระโอรสของเราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือยัง เป็นประการใด เทพยดาก็ตอบว่า ยังมิทันได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อ จึงได้รับสั่งว่า จักเป็นเช่นนั้นไม่ได้ หากพระโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะด่วนทำลายพระชนม์ชีพหามิได้เลย แล้วเทพยดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ไป
ส่วนพระมหาบุรุษเมื่อได้ซึ่งสัญญา ฟื้นพระกายกุมพระสติให้ตั้งมั่น พิจารณาดูปฏิปทาในทุกรกิริยาที่กระทำอยู่ ทรงดำริว่า ถึงบุคคลทั้งหลายใด ๆ ในโลกนี้ จะทำทุกรกิริยาอย่างอุกฤษฎ์นี้ บุคคลนั้น ๆ ก็ทำทุกรกิริยาเสมออาตมาเท่านั้น จะทำให้ยิ่งกว่าอาตมาหามิได้ แม้อาตมาปฏิบัติอย่างอุกฤษฎ์อย่างนี้แล้ว ไหนหนอจึงยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ ชะรอยทางตรัสรู้จะมีเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างนี้เป็นแน่ เกิดพระสติหวนระลึกถึงความเพียรทางใจว่า จะเป็นหนทางตรัสรู้ได้บ้าง
ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณพาทย์สามสาย มาดีตถวายพระมหาบุรุษ สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อยก็ขาด สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดเข้าไปก็ไม่บันลือเสียง อีกสายหนึ่งไม่ตึงไม่หย่อนนัก พอปานกลาง ดีดเข้าไปก็บันลือเสียงไพเราะเจริญใจ พระมหาบุรุษได้สดับเสียงพิณแล้ว ทรงหวนระลึกถึงพิณที่เคยทรงมาแต่ก่อน ก็ทรงตระหนักแน่ ถือเอาพิณเป็นนิมิต ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกรกิริยามิใช่หนทางตรัสรู้แน่ ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิต ทรงเห็นว่าความเพียรทางจิตเช่นนั้น คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมานี้ ย่อมไม่สามารถที่จะกระทำได้ ฉะนั้น จำจะต้องหยุดพักแข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระอาหารตามเดิม
การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิตนั้น พระองค์มั่นพระทัยว่า จะเป็นหนทางให้ได้ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณโดยแท้
ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ ผู้มีความนิยมในทุกรกิริยา พากันเฝ้าบำรุงพระมหาบุรุษ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทำความเพียรในทุกรกิริยาอย่างตึงเครียดเกินกว่าสามัญชนจะกระทำได้เช่นนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสมั่นใจว่า พระมหาบุรุษจะต้องได้ตรัสรู้โดยฉัยพลัน และพระองค์จะได้ทรงเมตตาประทานธรรมเทศนาโปรดพวกตนให้ตรัสรู้บ้าง แต่ครั้งนั้นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกรกิริยาประพฤติแล้ว และเห็นพร้อมกันว่า บัดนี้พระมหาบุรุษทรงคลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว จึงเบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติบำรุงพระองค์ต่อไป ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่อาจบรรลุธรรมอันวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพากันหลีกไปเสียจากที่นั้น ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
........................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น