หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงบรรพชาแล้ว ได้ดำรัสสั่งนายฉันนะอำมาตย์ว่า ท่านจงนำอาภรณ์ของอาตมากลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ แจ้งข่าวแก่ขัตติสกุลทั้งมวลให้ทราบ แล้วกราบทูลพระปิตุเรศและราชมาตุจฉาว่า พระโอรสของพระองค์หามีอันตรายด้วยโรคาพยาธิมิได้ บัดนี้ได้บรรพชาแล้ว อย่าให้พระองค์ทรงทุกขโทมนัสถึงพระราชโอรสเลย จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด เมื่ออาตมะบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว จะได้ไปเฝ้าพระราชบิดา พระราชมาดาและพระประยูรญาติขัตติยวงศ์ทั้งหลาย ท่านจงกลับไปกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้เถิด
เมื่อนายฉันนะอำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว ได้ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาท มิอาจที่จะกลั้นความโศกเศร้าได้ มิอยากจะจากพระองค์ไปด้วยความอาลัยเสน่หาอาวรณ์ยิ่งนัก รู้สึกว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง ที่ตนทอดทิ้งพระมหาบุรุษให้อยู่แต่ผู้เดียว แต่ก็ไม่อาจที่จะขัดพระกระแสดำรัสได้ จึงจำใจต้องจากพระองค์ไปด้วยความอาลัยยิ่ง นำเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้าทั้งหมด แล้วเดินทางพร้อมกับม้ากัณฐกะสินธวชาติ กลับพระนครกบิลพัสดุ์ พอเดินทางไปเพียงแค่ชั่วสุดสายเท่านั้น ม้ากัณฐกะก็ขาดใจตายด้วยความความอาลัยในพระมหาบุรุษสุดกำลัง
ครั้งถึงพระนคร ชาวกรุงกบิลพัสดุ์ต่างพากันโจษจันกันอย่างหนักว่า นายฉันนะอำมาตย์กลับแล้ว ต่างพากันรีบไปถาม เหล่าอำมาตย์ทราบความ ก็บอกเล่ากันต่อ ๆ ไป จนกระทั่งนายฉันนะอำมาตย์เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะราชบิดา ถวายเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้า แล้วกราบทูลตามความที่พระมหาบุรุษเจ้าสั่งมาทุกประการ ครั้นพระราชบิดา พระมาตุลาและพระนางพิมพา ตลอดจนขัตติยราชทั้งมวล ได้สดับข่าวแล้ว ก็ค่อยคลายความโศกเศร้า และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณของพระมหาบุรุษเจ้าสืบไป ตามคำพยากรณ์ของอสิตดาบสและพราหมณ์ทั้งหลายได้ทูลถวายไว้แต่ตันนั้น
ฝ่ายโกณฑัญญพราหมณ์ทราบข่าวว่า พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาแล้ว ก็ดีใจรีบไปหาบุตรของเพื่อนทั้ง ๗ คน ที่ร่วมคณะถวายคำทำนายพระลักษณะด้วยกัน กล่าวว่า บัดนี้ เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ โดยไม่มีข้อสงสัย ถ้าบิดาของท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ ก็จะออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้ หากว่าท่านทั้งหลายมมีความปรารถนาจะบวช ก็จงมาบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด
แต่บุตรพรหมณ์ทั้ง ๗ หาได้พร้อมใจกันทั้งหมดไม่ ยินดีที่จะบวชด้วยเพียง ๔ คน โกณฑัญญพรหมณ์ได้พาหราหมณ์ทั้ง ๔ ออกบรรพชา รวมเป็น ๕ ท่านด้วยกัน จึงได้นามว่า พระปัญจวัคคี เพราะมีพวกด้วยกัน ๕ คน ชวนกันออกสืบหาติดตามพระมหาบุรุษเจ้า
ส่วนพระมหาบุรุษเจ้านั้น หลังจากทรงบรรพชาแล้ว เสวยบรรพชาสุขอยู่ ณ ที่ป่าไม้ามะม่วงในตำบลหนึ่ง มีนามว่า อนุปิยอัมพวัน ไม่เสวยพระกระยาหารอยู่ ๗ วัน ครั้นวันที่ ๘ จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวัน เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวรสมควรแก่ภาวะของสมณะ เป็นที่เลื่อมใสของบรรดาผู้คนที่ได้พบเห็น เมื่อได้บิณฑบาตพอแก่อาปนมัตแล้ว จึงเสด็จกลับจากพระนคร โดยเสด็จออกจากพระนครทางประตูเดิมที่เสด็จเข้าไป แล้วตรงไปยังบัณฑวบรรพต ซึ่งมีหน้าผาเป็นที่ร่มเย็นตามควรแก่สมณะวิสัย ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาต ทอดพระเนตรเห็นบิณฑบาต ในบาตไม่สะอาดไม่ปราณีต หารสกลิ่นอันควรแก่การเสวยมิได้ เป็นอาหารที่เลว ซึ่งพระองค์ไม่เคยเสวยมาก่อน ก็บังเกิดปฏิกูลน่ารังเกียจยิ่ง
ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า "สิทธัตถะ ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ เคยบริโภคแต่อาหารปรุงแต่งด้วยสุคันธชาติโภชนสาลีอันประกอบด้วยสูปพยัญชนะ มีรสอันเลิศต่าง ๆ ไฉนทานจึงไม่รู้สึกตนว่า เป็นบรรพชิตเห็นปานฉะนี้ และเที่ยวบิณฑบาตร อย่างงไรจะได้โภชนาหารอันสะอาดประณีตมาแต่ที่ไหนเล่า และบัดนี้ ท่านสมควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้" เมื่อได้ให้โอวาทแก่พระองค์เองฉะนี้แล้ว ก็มนสิการในปฏิกูลสัญญาพิจารณาอาหารบิณฑบาตด้วยธาตุปัจจเวกขณ์ ด้วยพระปรีชาสมบูรณ์ ด้วยพระสติดำรงมั่น ทรงเสวยมิสกวรหารบิณฑบาตอันนั้น ปราศจากความรังเกียจ ดุจอมฤตรส และทรงกำหนดในพระทัยว่า ตั้งแต่บรรพชามาได้ ๘ วัน เพิ่งได้เสวยภัตตาหารในวันนี้
........................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น