วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พระสถูปเจดีย์สถาน


ในสมัยนั้น  บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย  เมื่อได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแล้ว  ต่างองค์ต่างก็จัดขบวนอันมโหฬาร  อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังพระนครของตนด้วยเกียรติยศอันสูง  แล้วให้ก่อพระสถูปเจดีย์ขึ้นบรรจุพะบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่สักการบูชาของมหาชน  จึงปรากฏว่ามีพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระสารีริกธาตุ  ดังนี้.

๑.   พระธาตุเจดีย์            ที่เมืองราชคฤห์

๒.          "                        ที่เมืองไพศาลี

๓.          "                        ที่เมืองกบิลพัสดุ์

๔.          "                        ที่เมืองอัลลกัปปนคร

๕.          "                        ที่เมืองรามนคร

๖.          "                        ที่เมืองเวฏฐทีปกนคร

๗.          "                        ที่เมืองปาวานคร

๘.          "                        ที่เมืองกุสินารานคร

๙.   พระอังคารเจดีย์       ที่เมืองโมรีนคร

๑๐. พระตุมพเจดีย์          ที่เมืองกุสินารานคร

รวมเป็น  ๑๐  เจดีย์ด้วยกัน  ยังส่วนต่าง ๆ  ที่เป็นส่วนพระบรมธาตุบ้าง  ที่เป็นส่วนบริขารพุทธบริโภคบ้าง ก็ปรากฏว่าได้รับอัญเชิญไปสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้ในเมืองต่าง ๆ  ดังนี้.

๑.  พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา  กับพระรากขวัญเบื้องขวาบนขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์สถาน  ณ  ดาวดึงส์เทวโลก

๒.  พระเขี้ยวแก้เบื้องต่ำขวา  เดิมไปประดิษฐาน  ณ  เมืองกาลิงคราฐ  แต่บัดนี้ไปสถิตอยู่ในลังกาทวีป

๓.  พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย  ไปประดิษฐานอยู่  ณ  เมืองคันธารราฐ

๔.  พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย  ไปประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ

๕.  พระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิส  ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์  ณ  พรหมโลก

ส่วนพระทนต์ทั้ง ๓๖  และพระเกศา  พระโลมา  กับทั้งพระนขาทั้ง ๒๐  นั้น  เทพยดาอัญเชิญไปองค์ละองค์  สู่จักรวาฬต่าง ๆ

อนึ่ง  พระบริขารพุทธบริโภคทั้งหลายนั้น  ก็ได้รับอัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูปตามนครต่าง ๆ  ดังนี้.

๑.  พระกายพันธ์                          สถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร

๒.  พระอุทกสาฏก                       สถิตอยู่ที่เมืองปัญจาลราฐ

๓.  พระจัมมขันธ์                         สถิตอยู่ที่เมืองโกสลราฐ

๔.  ไม้สีฟัน                                 สถิตอยู่ที่เมืองมิถิลา

๕.  พระธมกรก                            สถิตอยู่ที่เมืองวิเทหราฐ

๖.  มีดกับกล่องเข็ม                    สถิตอยู่ที่เมืองอินทปัตถ์

๗.  ฉลองพระบาท
      และถลกบาตร                       สถิตอยู่ที่เมืองอุสิรพราหมณคาม

๘.  เครื่องลาด                            สถิตอยู่ที่เมืองมกุกนคร

๙.  ไตรจีวร                                 สถิตอยู่ที่เมืองภัททราฐ

๑๐. บาตร                                   เดิมสถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร
                                                   ภายหลังไปอยู่เมืองลังกาทวีป

๑๑. นิสีทนะสันทัด                     สถิตอยู่ที่เมืองกุรุราฐ

พระสังคีติกาจารย์ได้พรรณาประมวลพระสถูปเจดีย์  ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  และพระบริขารพุทธบริโภคไว้ด้วยประการฉะนี้.


.............................

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น