วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นิยายโกลิยวงศ์


มีเรื่องเล่าว่า  พระเชฏฐภคินีพระองค์นี้  ประชวรเป็นโรคเรื้อน  มีความอาย  ไม่ประสงค์จะอยู่ในพระนคร  จึงได้ทูลขอโอกาสพระราชอนุชาไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำในป่าโดยให้เป็นภาระช่วยเพียงให้ราชบุรุษนำเสบียงอาหารไปส่งนาน ๆ  ครั้ง  พระนางจัดทำอาหารเสวยเอง  ที่ถ้ำนั้นมีประตูเปิดปิดได้เรียบร้อย

แม้พระเจ้ากรุงเทวทหะ  ก็ทรงพระประชวรเป็นโรคเรื้อนเช่นกัน  ทรงละอายประชาราษฏร์  ทั้งเกรงจะเป็นที่รังเกียจของพระประยูรญาติและอำมาตย์ราชบริภารใกล้ชิด  จึงมอบราชสมบัติให้ราชโอรส  แล้วพระองค์ทรงศรขรรค์หลีกไประทับอยู่ในป่ากระเบา  (โละ)  แต่พระองค์เดียว  บังเอิญต้นกระเบาต้นหนึ่งต้นใหญ่มาก  มีโพรงใหญ่พอเป็นที่อาศัยได้  จึงทรงจัดแจงตกแต่งโพรงไม้กระเบาให้เป็นที่อาศัยสืบมา
ทรงเบื่อหน่ายในพระชนม์ชีพที่โรคเบียดเบียน  ทั้งว้าเหว่เปลี่ยวเปล่าพระหฤทัย  จึงทรงเสวยผลโกละ (กระเบา)  อันมีรสเมา  ซึ่งมีชุมในป่านั้น  ปรารถนาจะปลิดพระชนม์ชีพเสีย  หากแต่คุณภาพของผลโกละกลับเป็นยารักษาโรคเรื้อนได้อย่างดีจนทรงรู้สึกสบายพระกาย  โรคทุเลาลงเป็นลำดับ  เลยทรงยึดเอาเป็นพระโอสถบำบัดโรคเรื้อนประจำทีเดียว  ครั้นทรงกำลังดีแล้ว  เสด็จเที่ยวไปในป่า  เพลินในการชมนกชมไม้และสัตว์  รวมทั้งทิวเขาถ้ำเหวเป็นลำดับ จนใกล้ถึงถ้ำอันเป็นที่อยู่ประทับของพระเชฎฐภคินี  พระพี่นางกษัตริย์ศากยวงศ์  ในราตรี  บังเอิญเสือโคร่งมฤคราชเดินแสวงหาอาหาร  ไปถึงถ้ำนั้น  ได้กลิ่นมนุษย์อยู่ในถ้ำนั้น  จึงใช้เท้าตะกุยประตู้ำเพื่อจะเข้าไป  พระนางเจ้าตกพระทัย  กล้วภัยแต่มฤคราชนั้น  ทรงร้องกรีดด้วยเสียงอันดัง  เสือโคร่งตกใจเสียงนี้  จึงหนีไป

เสียงของพระนางที่ร้องในป่ากลางดึกสงัด  ก้องไปไกล  กระทบโสตพระเจ้ากรุงเทวทหะ  ทำให้สนพระทัยในเสียงนั้น  ทรงหมายพระทัยว่า  "เสียงที่ร้องนั้น  เป็นเสียงมนุษย์หญิง  อยู่ในที่ไม่ไกลนัก"  ครั้นเพลงรุ่งเช้าก็เสด็จดำเนินไปตามทางเสียงนั้น  ไม่ช้าก็ถึงทางเข้าถ้ำพระเชฏฐภคินีทรงกำหนดเห็นรอยเท้ามนุษย์เดินเข้าออก  กับมีรอยเท้าเสือ  ก็เสด็จตามเข้าไป  ครั้นถึงประตูถ้ำก็ทรงทราบว่า  ในถ้ำมีมนุษย์อาศัยด้วย  มีประตูปิดอยู่จึงเคาะประตูถ้ำและตรัสสเรียก  เมื่อได้ยินเสียงคนถามว่า  "ใคร ? "  จึงทรงตรัสบอกว่า  "พระองค์เป็นคนเดินป่า  ไม่ใช่สัตว์ร้ายขอให้เปิดรับ"  พระนางเจ้าตรัสว่า  "พระนางเป็นโรคเรื้อน  เป็นที่น่ารังเกียจ  ไม่ควรจะพบกัน"  พระเจ้ากรุงเทวทหะก็ทรงรับสั่งว่า  "แม้พระองค์ก็ทรงเป็นดรคเรื้อนเช่นกัน  มีความละอายญาติมิตร  ต้องหลีกมาอยู่ป่า  พระนางไม่น่าจะรังเกียจ"  แม่เช่นั้นแล้วพระนางยังอิดเอื้อน  ว่า  "พระนางเป็นกษัตริย์  ซึ่งจำต้องสงวยเกียรติของสกุลไว้  เมื่อไม่จำเป็นแล้วไม่ควรจะพบชายต่างชั้นตามลำพังในไพรชัฏเช่นนี้"

พระเจ้ากรุงเทวทหะทรงรับสั่งว่า  "ช่างเป็นโชคดีของพระองค์อีก  เพราะพระองค์ก็เป็นกษัตริย์สละราชสมบัติออกมาอยู่ไพรเช่นเดียวกัน  ซึ่งโดยมารยาทแล้ว   พระนางจะต้องต้อนรับด้วยดี"  พระนางไม่เชื่อ  รับสั่งว่า  "เพียงถ้อยคำที่กล่าวมาไม่น่าจะเชื่อ  ขอให้พระองค์แสดงจารีตและมารยาทของกษัตริย์ให้ฟังก่อน  ซึ่งถ้าเป็นกษัตริย์แท้แล้ว  จะต้องทราบ  เพราะมีการศึกษามาด้วยดีแล้ว"  ครั้นพระเจ้ากรุงเทวทหะแสดงจารีตและมารยาทอันกษัตริย์ทั้งหลายจะต้องศึกษา  และปฏิบัติมาดีแล้วเสมอกันหมด  จบลงพระนางก็วางพระหฤทัยเปิดประตูถ้ำออกมาทูลเชิญเข้าไป  ต่างก็ได้สนทนาถามถึงความเดือดร้อน  เพราะโรคเรื้อนอันเป็นเหตุร้าย  จำต้องละบ้านเมืองมา  พระเจ้ากรุงเทวทหะก็ทรงแนะนำให้รักษาด้วยให้เสวยผลโกละ  ยิ่งกว่านั้น  ยังทรงรับอาสาไปจัดทำมาถวายการรักษาแก่พระนาง  ตลอดเวลาที่พระเจ้าเทวทหะทรงอุปการะช่วยรักษาแก่พระนาง  ในไม่ช้าโรคเรื้อนก็สงบ  เมื่อพระนางหายจากโรคผิวพรรณผ่องใสมีความสุข  ภายหลังมีความปฏิพัทธ์ในพระเจ้ากรุงเทวทหะ  ได้สมสู่อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก

ต่อมา  พรานป่าชาวเมืองเทวทหะมาพบเข้า  จึงนำเอาข่าวนี้เข้าไปในเมือง  พระโอรสของพระเจ้ากรุงเทวทหะและอำมาตย์ราชบริพารล้วนแต่มีความจงรักภักดีในพระเจ้ากรุงเทวทหะ  จึงปรึกษาและตกลงพร้อมใจกันไปทูลอัญเชิญให้กลับมาครองราชสมบัติอีก   แต่พระเจ้ากรุงเทวทหะไม่สมัครใจในอันไปอยู่ครองราชสมบัติ  ซึ่งประทานให้พระโอรสแล้ว  ทั้งเกรงว่าพระราชโอรสกับพระมเหสีใหม่จะไม่สามัคคีกัน  ก็จะเป็นความเดือดร้อน  จึงเป็นแต่เพียงขอกำลังโยธาทหาร  จึงจัดสร้างพระนครขึ้นใหม่อีกนครหนึ่งตรงที่ต้นกระเบาใหญ่  ซึ่งพระองค์ได้เคยอาศัยรักษาพระองค์มาด้วยความสวัสดี  ถือเป็นนิมิตมงคลอันดีด้วย  ต่อมาทรงได้พระโอรส  อันประสูติแต่พระนางเจ้าเชฏฐภคินี  แห่งกษัตริย์ศากยวงศ์ผู้มีเชื้อสายสูงเช่นกัน  จึงได้ทรงจัดตั้งวงศ์กษัตริย์นี้ขึ้น  เรียกว่า  โกลิยวงศ์  สืบมา



..................................


คัดลอกจากหนังสือ  พุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ  พระพิมลธรรม (ชอบ  อนุจาริมหาเถระ ร.บ.)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น