วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง (ตอนที่ ๑)


ครั้นพระบรมศาสดาได้ทรงส่งพระสาวกเหล่าภัททวัคคีย์ไปแล้ว  ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาประเทศ  อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร  ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวลกัสสปอาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐

ราชคฤห์นครนั้น เป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ  มีพระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิ์ขาด  เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน มีความเจริญด้านวิทยาความรู้และด้านการค้าขาย  เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์เจ้าลัทธิมากมายในสมัยนั้น

ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ ๆ นั้น  ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก  ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นนักบวชจำพวกชฎิล  ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน  ออกบวชจากตระกูลกัสสปโคตร  ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐  เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ อยู่ที่ตำบลอุรุเวลา  ต้นแม่น้ำเนรัญชรานที ตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า  อุรุเวลกัสสป  น้องคนกลางมีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง  จึงได้นามว่า  นทีกัสสป  ส่วนน้องคนเล็ก มีชฎิลบริวาร ๒๐๐  ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น  ต่อไปอีกตำบลหนึ่ง  ซึ่งมีนามว่า  ตำบลคยาสีสะประเทศ  จึงได้นามว่า คยากัสสป  ชฎิลคณะนี้ทั้งหมด มีลัทธิหนักในการบูชาเพลิง

พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานที่ของท่านอุรุเวลกัสสปในเวลาเย็น  จึงเสด็จตรงไปพบอุรุเวลกัสสปทันที  ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี  อุรุเวลกัสสปรังเกียจ ทำอิดเอื้อน ไม่พอใจให้พัก เพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างลัทธิของตน  พูดบ่ายเบี่ยงว่า  ไม่มีที่ให้พัก  ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ  ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่าง ไม่มีชฎิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย  อุรุเวลกัสสปได้ทูลว่า  พระองค์อย่าพอใจพักที่โรงไฟเลย  ด้วยเป็นที่อยู่ของพญานาคมีพิษร้ายแรง  ทั้งดุร้ายที่สุดอาศัยอยู่  จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้น ให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต  เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย  ถ้าท่านอุรุเวลกัสสปอนุญาตให้เข้าอยู่  ท่านอุรุเวลกัสสปจึงได้อนุญาตให้ไปพักแรม

ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาค ก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น  ประทับนั่งดำรงพระสติต่อพระกัมมัฎฐานภาวนา  ฝ่ายพญานาคเห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาประทับในที่นั้น  ก็มีจิตคิดขึ้งเคียด  จึงพ่นพิษตลบไป  ในลำดับนั้น พระบรมศาสดาก็ทรงดพระดำรัสว่า  ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสฉวีและเอ็นอัฐิแห่งพญานาคนี้  ระงับเดชพญานาคให้เหือดหาย  แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น  พญานาคมิอาจจะอดกลั้นซึ่งความพิโรธได้  ก็บังหวนควันพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น  พระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรนจ์โชตนาการ และเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดขึ้นแสงแดงสว่าง  ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟนั้นให้เป็นเถ้าธุลี  ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า พระสมณะนี้มีสิริรูปงามยิ่งนัก  เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพญานาคในที่นี้

ครั้นส่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า  พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิเดชพญานาคให้อันตรธานหาย  บันดาลให้นาคนั้นขดกายลงในบาตร  แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป  ตรัสบอกว่า  พญานาคนี้สิ้นฤทธิเดชแล้ว  อุรุเวลกัสสปเห็นดังนั้น  ก็ดำริว่า  พระสมณะนี้มีอานุภาพมาก  ระงับเสียซึ่งฤทธิพญานาคให้อันตรธานพ่ายแพ้ไปได้  ถึงดังนั้นไซ้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา  มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏหาริย์   จึงกล่าวว่า  ข้าแต่สมณะ  นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด  ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิตย์

พระบรมศาสดาก็เสด็จประทับยังพนาสณฑ์ตำบทหนึ่ง  ใกล้อาศรมแห่งอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้น  ครั้นสมัยราตรีเป็นลำดับ  ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔  ก็ลงมาสู่สำนักพระบรมโลกนาถ  ถวายอภิวาทและประดิษฐานอยู่ใน ๔ ทิศ  มีทิพยรังสีสว่างดุจกองเพลิงก่อไว้ทั้ง ๔ ทิศ   ครั้นเวลาเช้า  อุรุเวลกัสสปจึงเข้าไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลว่า  นิมนต์พระสมณะไปฉันภัตตาหารเถิด  ข้าพเจ้าตกแต่งไว้ถวายแล้ว  แต่เมื่อคืนนี้เห็นรัศมีสว่างไปทั่วพนัสณฑ์สถาน  บุคคลผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงปรากฎรุ่งเรืองในทิศทั้ง ๔  พระบรมศาสดาจึงตรัสบอกว่า  "ดูกรกัสสป  นั้นคือท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔  ลงมาสู่สำนักตถาคตเพื่อฟังธรรม"  อุรุเวลกัสสปได้สดับดังนั้น  ก็ดำริว่า  พระมหาสมณะองค์นี้มีอานุภาพมาก  ท้าวจาตุมหาราชยังลงมาสู่สำนัก  ถึงกระนั้นก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา.

                                          .........................................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น