วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปฐมเทศนา (ตอนที่ ๓)


ในสมัยนั้น  มีมาณพผู้หนึ่ง  ชื่อว่า  ยสะ  เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี  บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร มีเรือน ๓ หลัง เป็นที่อยู่ประจำใน ๓ ฤดู  อย่างผาสุก อิ่มอยู่ในกามสุขตามฆราวาสวิสัย  ครั้งนั้น ในฤดูฝน พรรษากาลที่พระสัมพุทธเจ้า ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน  ซึ่งอยู่ไม่ไกลแต่บ้านยสมณพ  ราตรีหนึ่ง  ยสมาณพนอนหลับก่อน  เหล่านางบำเรอและบริวารนอนหลับภายหลัง  แสงชวาลาที่ตามไว้ยังสว่างอยู่  ยสมาณพตื่นขึ้นเห็นบริวารเหล่านั้นนอนหลับอยู่  ปราศจากสติสัมปชัญญะ  แสดงอาการวิกลวิการไปต่าง ๆ  บ้างกรน คราง ละเมอ เพ้อพึมพำ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่กอน  ปรากฏแก่ยสมาณพเหมือนซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า  ยสมาณพเห็นแล้วเกิดความสลดใจ  เบื่อหน่าย รำคาญ อยู่ในห้องไม่ติด  ออกอุทานด้วยความสังเวชใจว่า  "ที่นี่วุ่นวาย ไม่เป็นสุข"  แล้วออกจากห้องสวมรองเท้าเดินออกจากประตูเรือน  ตรงไปทางที่จะไปป่าอิสิปตนมิคทายวัน

ในเวลานั้น จวนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง  ทรงได้ยินเสียงยสมาณพ เดินบ่นมาด้วยความสลดใจ  ใกล้ที่จงกรมเช่นนั้น  จึงรับสั่งเรียกด้วยพระมหากรุณาว่า  "ยสะ ! ที่นี่ไม่วุ่นวาย  ยสะ ! ที่นี่สงบ เป็นสุข  ยสะ !  ท่านมาที่นี่เถิด"  ผ่ายยสมาณพได้ยินเสียงพระศาสดารับสั่งว่า  "ที่นี่ไม่วุ่นวาย  สงบ เป็นสุข"  ก็ดีใจ  ถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ  ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่  ด้วยความสบายใจ ปราศจากความวุ่นวาย เป็นทางให้ได้ความสงบสุข

พระศาสดาตรัสเทศนาโปรดยสมาณพด้วย  อนุปุพพิกถา แสดงถึงปฏิปทาเบื้องต้น ที่คฤหัสถชนจะพึงสดับ  และปฏิบัติตามได้โดยลำดับ  คือ


๑.  ทาน  พรรณาความเสียสละ  ให้ด้วยความยินดี เพื่อบูชาคุณของท่านผู้มีคุณ  ด้วยความกตัญญู ด้วยความเคารพนับถือ  เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลญาติมิตรด้วยความไมตรี  ด้วยน้ำใจอันงาม  เพื่ออนุเคราะห์ผู้น้อย  ผู้ตกทุกข์ได้ยาก  ด้วยความกรุณาสงสาร

๒.  ศีล  พรรณาความรักษากาย  วาจาเป็นสุภาพ  เรียบร้อย เว้นจากการเบียดเบียนกัน  เพื่อความสงบสุข  ตามหลักแห่งมนุษยธรรม

๓.  สวรรค์  พรรณาถึงอานิสงส์ของผู้บำเพ็ญทาน  รักษาศีล  จะพึงได้พึงถึงความสุข  อย่างเทพเจ้าในสรวงสวรรค์  ยิ่งกว่าความสุขของมนุษย์

๔.  กามาทีนพ  พรรณาถึงโทษของกาม ของผู้บริโภคกามทั้งในมนุษย์ ทั้งในสวรรค์ เป็นช่องทางแห่งทุกข์โทษ  เพราะวุ่นวาย ไม่สงบ เดือดร้อนไม่รู้จักสิ้นสุด  น่าระอา น่าเบื่อหน่าย

๕.  เนกขัมมานิสงส์  พรรณาถึงอานิสงส์ของการหลีกออกจากกาม  เหมือนคนออกจากเรือนไฟที่กำลังติดอยู่  ไม่เร่าร้อน  สงบเย็นใจ  เป็นสุข  ไม่มีภัยไม่มีเวรทุกประการ

ฟอกจิตของยสมาณพ ให้ห่างไกลจากความยินดีในกาม  ได้ธรรมจักษุเหมือนผ้าที่ซักฟอกให้หมดมลทิน  ควรรจะรับน้ำย้อมได้แล้ว  พระศาสดาจึงแสดง ทุกขนิโรธ อริยสัจ ๔  คือ  ทุกข์  ทุกขสมุทัย  เหตุให้ทุกข์เกิด,  ความดับทุกข์,  และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  ได้แก่ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์  โปรดยสมาณพให้ได้เห็นธรรมพิเศษ  ณ  ที่นั่งนั้น

ฝ่ายมารดาของยสมาณพ  ทราบว่าลูกชายหาย  มีความเศร้าโศก บอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามี  ท่านเศรษฐีตกใจ  ให้คนออกติดตามตลอดทางทุกสาย  แม้ตนเองก็ร้อนใจ อยู่ไม่ติด  ออกติดตามด้วย  เผอิญเดินทางผ่านมาใกล้ที่ป่าอิสิปตนมิคทายวัน  เห็นรองเท้าของลูก จำได้ ตามเข้าไปหาจนถึงที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่

พระบรมศาสดาทรงตรัสเทศนา  อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔  โปรดท่านเศรษฐีให้ได้ดวงตาเห็นธรรม  ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา  แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต  ท่านเศรษฐีได้เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยคนแรก  ก่อนกว่าชนทั้งปวงในพระศาสนานี้

                                                 ...............................................










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น