วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นิยายโกลิยวงศ์


มีเรื่องเล่าว่า  พระเชฏฐภคินีพระองค์นี้  ประชวรเป็นโรคเรื้อน  มีความอาย  ไม่ประสงค์จะอยู่ในพระนคร  จึงได้ทูลขอโอกาสพระราชอนุชาไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำในป่าโดยให้เป็นภาระช่วยเพียงให้ราชบุรุษนำเสบียงอาหารไปส่งนาน ๆ  ครั้ง  พระนางจัดทำอาหารเสวยเอง  ที่ถ้ำนั้นมีประตูเปิดปิดได้เรียบร้อย

แม้พระเจ้ากรุงเทวทหะ  ก็ทรงพระประชวรเป็นโรคเรื้อนเช่นกัน  ทรงละอายประชาราษฏร์  ทั้งเกรงจะเป็นที่รังเกียจของพระประยูรญาติและอำมาตย์ราชบริภารใกล้ชิด  จึงมอบราชสมบัติให้ราชโอรส  แล้วพระองค์ทรงศรขรรค์หลีกไประทับอยู่ในป่ากระเบา  (โละ)  แต่พระองค์เดียว  บังเอิญต้นกระเบาต้นหนึ่งต้นใหญ่มาก  มีโพรงใหญ่พอเป็นที่อาศัยได้  จึงทรงจัดแจงตกแต่งโพรงไม้กระเบาให้เป็นที่อาศัยสืบมา
ทรงเบื่อหน่ายในพระชนม์ชีพที่โรคเบียดเบียน  ทั้งว้าเหว่เปลี่ยวเปล่าพระหฤทัย  จึงทรงเสวยผลโกละ (กระเบา)  อันมีรสเมา  ซึ่งมีชุมในป่านั้น  ปรารถนาจะปลิดพระชนม์ชีพเสีย  หากแต่คุณภาพของผลโกละกลับเป็นยารักษาโรคเรื้อนได้อย่างดีจนทรงรู้สึกสบายพระกาย  โรคทุเลาลงเป็นลำดับ  เลยทรงยึดเอาเป็นพระโอสถบำบัดโรคเรื้อนประจำทีเดียว  ครั้นทรงกำลังดีแล้ว  เสด็จเที่ยวไปในป่า  เพลินในการชมนกชมไม้และสัตว์  รวมทั้งทิวเขาถ้ำเหวเป็นลำดับ จนใกล้ถึงถ้ำอันเป็นที่อยู่ประทับของพระเชฎฐภคินี  พระพี่นางกษัตริย์ศากยวงศ์  ในราตรี  บังเอิญเสือโคร่งมฤคราชเดินแสวงหาอาหาร  ไปถึงถ้ำนั้น  ได้กลิ่นมนุษย์อยู่ในถ้ำนั้น  จึงใช้เท้าตะกุยประตู้ำเพื่อจะเข้าไป  พระนางเจ้าตกพระทัย  กล้วภัยแต่มฤคราชนั้น  ทรงร้องกรีดด้วยเสียงอันดัง  เสือโคร่งตกใจเสียงนี้  จึงหนีไป

เสียงของพระนางที่ร้องในป่ากลางดึกสงัด  ก้องไปไกล  กระทบโสตพระเจ้ากรุงเทวทหะ  ทำให้สนพระทัยในเสียงนั้น  ทรงหมายพระทัยว่า  "เสียงที่ร้องนั้น  เป็นเสียงมนุษย์หญิง  อยู่ในที่ไม่ไกลนัก"  ครั้นเพลงรุ่งเช้าก็เสด็จดำเนินไปตามทางเสียงนั้น  ไม่ช้าก็ถึงทางเข้าถ้ำพระเชฏฐภคินีทรงกำหนดเห็นรอยเท้ามนุษย์เดินเข้าออก  กับมีรอยเท้าเสือ  ก็เสด็จตามเข้าไป  ครั้นถึงประตูถ้ำก็ทรงทราบว่า  ในถ้ำมีมนุษย์อาศัยด้วย  มีประตูปิดอยู่จึงเคาะประตูถ้ำและตรัสสเรียก  เมื่อได้ยินเสียงคนถามว่า  "ใคร ? "  จึงทรงตรัสบอกว่า  "พระองค์เป็นคนเดินป่า  ไม่ใช่สัตว์ร้ายขอให้เปิดรับ"  พระนางเจ้าตรัสว่า  "พระนางเป็นโรคเรื้อน  เป็นที่น่ารังเกียจ  ไม่ควรจะพบกัน"  พระเจ้ากรุงเทวทหะก็ทรงรับสั่งว่า  "แม้พระองค์ก็ทรงเป็นดรคเรื้อนเช่นกัน  มีความละอายญาติมิตร  ต้องหลีกมาอยู่ป่า  พระนางไม่น่าจะรังเกียจ"  แม่เช่นั้นแล้วพระนางยังอิดเอื้อน  ว่า  "พระนางเป็นกษัตริย์  ซึ่งจำต้องสงวยเกียรติของสกุลไว้  เมื่อไม่จำเป็นแล้วไม่ควรจะพบชายต่างชั้นตามลำพังในไพรชัฏเช่นนี้"

พระเจ้ากรุงเทวทหะทรงรับสั่งว่า  "ช่างเป็นโชคดีของพระองค์อีก  เพราะพระองค์ก็เป็นกษัตริย์สละราชสมบัติออกมาอยู่ไพรเช่นเดียวกัน  ซึ่งโดยมารยาทแล้ว   พระนางจะต้องต้อนรับด้วยดี"  พระนางไม่เชื่อ  รับสั่งว่า  "เพียงถ้อยคำที่กล่าวมาไม่น่าจะเชื่อ  ขอให้พระองค์แสดงจารีตและมารยาทของกษัตริย์ให้ฟังก่อน  ซึ่งถ้าเป็นกษัตริย์แท้แล้ว  จะต้องทราบ  เพราะมีการศึกษามาด้วยดีแล้ว"  ครั้นพระเจ้ากรุงเทวทหะแสดงจารีตและมารยาทอันกษัตริย์ทั้งหลายจะต้องศึกษา  และปฏิบัติมาดีแล้วเสมอกันหมด  จบลงพระนางก็วางพระหฤทัยเปิดประตูถ้ำออกมาทูลเชิญเข้าไป  ต่างก็ได้สนทนาถามถึงความเดือดร้อน  เพราะโรคเรื้อนอันเป็นเหตุร้าย  จำต้องละบ้านเมืองมา  พระเจ้ากรุงเทวทหะก็ทรงแนะนำให้รักษาด้วยให้เสวยผลโกละ  ยิ่งกว่านั้น  ยังทรงรับอาสาไปจัดทำมาถวายการรักษาแก่พระนาง  ตลอดเวลาที่พระเจ้าเทวทหะทรงอุปการะช่วยรักษาแก่พระนาง  ในไม่ช้าโรคเรื้อนก็สงบ  เมื่อพระนางหายจากโรคผิวพรรณผ่องใสมีความสุข  ภายหลังมีความปฏิพัทธ์ในพระเจ้ากรุงเทวทหะ  ได้สมสู่อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก

ต่อมา  พรานป่าชาวเมืองเทวทหะมาพบเข้า  จึงนำเอาข่าวนี้เข้าไปในเมือง  พระโอรสของพระเจ้ากรุงเทวทหะและอำมาตย์ราชบริพารล้วนแต่มีความจงรักภักดีในพระเจ้ากรุงเทวทหะ  จึงปรึกษาและตกลงพร้อมใจกันไปทูลอัญเชิญให้กลับมาครองราชสมบัติอีก   แต่พระเจ้ากรุงเทวทหะไม่สมัครใจในอันไปอยู่ครองราชสมบัติ  ซึ่งประทานให้พระโอรสแล้ว  ทั้งเกรงว่าพระราชโอรสกับพระมเหสีใหม่จะไม่สามัคคีกัน  ก็จะเป็นความเดือดร้อน  จึงเป็นแต่เพียงขอกำลังโยธาทหาร  จึงจัดสร้างพระนครขึ้นใหม่อีกนครหนึ่งตรงที่ต้นกระเบาใหญ่  ซึ่งพระองค์ได้เคยอาศัยรักษาพระองค์มาด้วยความสวัสดี  ถือเป็นนิมิตมงคลอันดีด้วย  ต่อมาทรงได้พระโอรส  อันประสูติแต่พระนางเจ้าเชฏฐภคินี  แห่งกษัตริย์ศากยวงศ์ผู้มีเชื้อสายสูงเช่นกัน  จึงได้ทรงจัดตั้งวงศ์กษัตริย์นี้ขึ้น  เรียกว่า  โกลิยวงศ์  สืบมา



..................................


คัดลอกจากหนังสือ  พุทธประวัติทัศนศึกษา
นิพนธ์ของ  พระพิมลธรรม (ชอบ  อนุจาริมหาเถระ ร.บ.)



วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พระสถูปเจดีย์สถาน


ในสมัยนั้น  บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย  เมื่อได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแล้ว  ต่างองค์ต่างก็จัดขบวนอันมโหฬาร  อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังพระนครของตนด้วยเกียรติยศอันสูง  แล้วให้ก่อพระสถูปเจดีย์ขึ้นบรรจุพะบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่สักการบูชาของมหาชน  จึงปรากฏว่ามีพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระสารีริกธาตุ  ดังนี้.

๑.   พระธาตุเจดีย์            ที่เมืองราชคฤห์

๒.          "                        ที่เมืองไพศาลี

๓.          "                        ที่เมืองกบิลพัสดุ์

๔.          "                        ที่เมืองอัลลกัปปนคร

๕.          "                        ที่เมืองรามนคร

๖.          "                        ที่เมืองเวฏฐทีปกนคร

๗.          "                        ที่เมืองปาวานคร

๘.          "                        ที่เมืองกุสินารานคร

๙.   พระอังคารเจดีย์       ที่เมืองโมรีนคร

๑๐. พระตุมพเจดีย์          ที่เมืองกุสินารานคร

รวมเป็น  ๑๐  เจดีย์ด้วยกัน  ยังส่วนต่าง ๆ  ที่เป็นส่วนพระบรมธาตุบ้าง  ที่เป็นส่วนบริขารพุทธบริโภคบ้าง ก็ปรากฏว่าได้รับอัญเชิญไปสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้ในเมืองต่าง ๆ  ดังนี้.

๑.  พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา  กับพระรากขวัญเบื้องขวาบนขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์สถาน  ณ  ดาวดึงส์เทวโลก

๒.  พระเขี้ยวแก้เบื้องต่ำขวา  เดิมไปประดิษฐาน  ณ  เมืองกาลิงคราฐ  แต่บัดนี้ไปสถิตอยู่ในลังกาทวีป

๓.  พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย  ไปประดิษฐานอยู่  ณ  เมืองคันธารราฐ

๔.  พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย  ไปประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ

๕.  พระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิส  ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์  ณ  พรหมโลก

ส่วนพระทนต์ทั้ง ๓๖  และพระเกศา  พระโลมา  กับทั้งพระนขาทั้ง ๒๐  นั้น  เทพยดาอัญเชิญไปองค์ละองค์  สู่จักรวาฬต่าง ๆ

อนึ่ง  พระบริขารพุทธบริโภคทั้งหลายนั้น  ก็ได้รับอัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูปตามนครต่าง ๆ  ดังนี้.

๑.  พระกายพันธ์                          สถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร

๒.  พระอุทกสาฏก                       สถิตอยู่ที่เมืองปัญจาลราฐ

๓.  พระจัมมขันธ์                         สถิตอยู่ที่เมืองโกสลราฐ

๔.  ไม้สีฟัน                                 สถิตอยู่ที่เมืองมิถิลา

๕.  พระธมกรก                            สถิตอยู่ที่เมืองวิเทหราฐ

๖.  มีดกับกล่องเข็ม                    สถิตอยู่ที่เมืองอินทปัตถ์

๗.  ฉลองพระบาท
      และถลกบาตร                       สถิตอยู่ที่เมืองอุสิรพราหมณคาม

๘.  เครื่องลาด                            สถิตอยู่ที่เมืองมกุกนคร

๙.  ไตรจีวร                                 สถิตอยู่ที่เมืองภัททราฐ

๑๐. บาตร                                   เดิมสถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร
                                                   ภายหลังไปอยู่เมืองลังกาทวีป

๑๑. นิสีทนะสันทัด                     สถิตอยู่ที่เมืองกุรุราฐ

พระสังคีติกาจารย์ได้พรรณาประมวลพระสถูปเจดีย์  ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  และพระบริขารพุทธบริโภคไว้ด้วยประการฉะนี้.


.............................

















วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ท้าวสักกะอัญเชิญพระทักษิณทาฐธาตุไปเทวโลก


ขณะที่โทณพราหมณ์กำลังตักตวงพระบรมธาตุ  ถวายกษัตริย์ทั้งหลายอยู่นั้น  ท้าวสักกอมรินทราธิราช  ทราบด้วยทิพยจักษุว่าโทณพราหมณ์ลอบหยิบเอาพระทักษิณทาฐธาตุซ่อนไว้ในมวยผม  จึงทรงดำริว่า  "กำลังโทณพราหมณ์  ไม่สามารถจะทำที่สักกรบูชาเชิดชูพระบรมธาตุนั้นให้สมแก่พระเกียรติอันสูงได้  สมควรจะเอาไปประดิษฐานไว้ยังเทวโลก  ให้เทวดาและหรหมทั้งหลายสักกาบูชาเถิด"  ครั้นดำริแล้วก็แฝงพระกายลงมาหยิบเอาพระทักษิณทาฐธาตุเชิญลงสู่พระโกษทองน้อย  ยกขึ้นทูลพระเศียรเกล้าอัญเชิญไปบรรจุไว้ที่พระจุฬามณีเจดีย์  ณ  สุราลัยเทวสถาน

ฝ่ายโทณพราหมณ์  ครั้นแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุ  ถวายกษัตริย์ทั้งปวงเสร็จแล้ว  ก็ยกมือขึ้นค้นหาพระทักษิณทาฐธาตุบนมวยผมไม่พบก็เสียใจเป็นอันมาก  ครั้นจะไต่ถามหาตัวคนเอาไป  ว่าผู้ใดมาลอบเอาพระทักษิณทาฐธาตุบนมวยผมไป  ก็ไม่กล้าออกปาก  ด้วยความละอายแก่ใจ  เกรงว่ากษัตริย์ทั้งหลายจะยกโทษ  ทำให้เสื่อมเสียเกียรติของตน จึงสงบใจไว้  ไม่แสดงอาการอันใดออกมา  แต่แล้วก็ดำริสืบต่อไปว่าทะนานทองใบนี้  ก็มีส่วนนับเนื่องในพระบรมสารีริกธาตุ  เป็นของวิเศษควรแก่การสักการบูชาอยู่ ควรที่อาตมาจะนำไปสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้เป็นที่สักการบูชาเถิด

ครั้นตกลงใจเช่นนั้นแล้ว  จึงกล่าวแก่กษัตริย์ทั้งปวงว่า  "ข้าแต่บพิตรทั้งหลาย  ข้าพเจ้าขอประทานทะนานทองตวงพระบรมธาตุใบนี้เพื่อจะอัญเชิญไปสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้เป็นที่สักการบูชา  กษัตริย์ทั้งหลายก็พร้อมใจกันยินยอมพระราชทานแก่โทณพราหมณ์  เพื่อไปสร้างพระตุมพเจดีย์บรรจุตามปรารถนา

ภายหลังกษัตริย์ในเมืองโมรีนคร  ได้ทราบข่าวพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน  จึงส่งราชทูตให้มาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุ  ณ  เมืองกุสินารานคร  ทั้งยกพลพยุหเสนาตามมาภายหลัง  กษัตริย์กุสินาราจึงแจ้งว่า  พระบรมสารีริกธาตุนั้น  กษัตริย์ทั้งแปดพระนครได้ไปประชุมแบ่งปันกันหมดสิ้นแล้ว  ยังอยู่แต่พระอังคาร  ขอให้อัญเชิญพระอังคารไปทำการสักการบูชาเถิด  กษัตริย์โมรีนครก็อัญเชิญพระอังคารไปทำสักการบูชายังพระนครของตน


................................